Summary of today on digital TV & more of advert on the air.
More regulation to come but hope that self-regulation will work to balance btw market & consumer protection.
คืนนี้นั่งดูละครซีรีย์ ‘ปริศนา’ ตอนแรกทางช่อง 36 PPTV HD ภาพสวยงามโปรดักชั่นดีสมเป็นช่องไฮเดฟ พิถีพิถัน ติดแต่ตรงบทนางเอกคือแคสติ้งคนเป็นปริศนาที่ยังไม่มีเสน่ห์มากพอ ทั้งที่เธอเป็นจุดเด่นของเรื่อง
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือได้นั่งดูโฆษณาระหว่างเบรค นับสปอตได้เบรคหนึ่งเกิน 25 ตัวเลยทีเดียว ถือว่าเยอะมาก แม้ว่าราคาค่าโฆษณาจะน้อยกว่าช่องสาม ช่องเจ็ด แต่ความถี่และความยาวในการโฆษณาไม่แพ้กันเลย สินค้าที่โฆษณาก็เป็นแบรนด์ใหญ่ๆที่ออกทางฟรีทีวีทั่วไป
พักหลังสุ่มดูทีวีดิจิตอลหลายช่อง โดยเฉพาะช่องใหม่ นับสปอตโฆษณาได้เยอะชิ้นมากขึ้น ไม่แพ้ช่องอนาล็อกเดิม (แต่ยังไม่ได้จับเวลาทั้งหมดต่อชั่วโมงว่าเกินไหม) เข้าใจว่าทุกช่องต้องรับโฆษณากันเต็มที่ แต่ขอเพียงไม่เกินเวลาตามกฎหมายกำหนด
เรื่องร้องเรียนปัญหาโฆษณาเกินเวลา ณ จุดนี้ยังไม่มีนัก แต่ก็จะให้ สำนักงานสุ่มตรวจสอบและเชิญผู้รับใบอนุญาตมาทำความเข้าใจเป็นระยะ ถ้ามีเรื่องร้องเรียนเจาะจงช่องใดเข้ามา ทาง สำนักงานจะแจ้งขอเทปบันทึกรายการมาตรวจสอบและให้ช่องมาชี้แจง
ถ้าพบว่าช่องใดขัดเงื่อนไขก็จะแจ้งเตือนไปตามกระบวนการทางปกครองต่อไป
ตามประกาศที่แก้ไขใหม่ ผู้รับใบอนุญาตจะต้องเก็บเทปบันทึกย้อนหลัง สำหรับทีวี 60 วัน ส่วนวิทยุ 45 วัน
ตอนนี้ช่องใหม่ๆยังไม่เห็นเรื่องร้องเรียนเข้ามา ส่วนช่องเดิม เคยมีเรื่องร้องเรียนและมีการเชิญมาชี้แจงไปแล้ว นับเวลาสปอตโฆษณาเกิน แต่ที่เกินช่องชี้แจงว่าเป็นการโฆษณารายการของช่องเอง เช่น รายการในช่วงถัดไป หรือ สัปดาห์หน้าเป็นต้น ซึ่งจะทำให้เวลาโฆษณาระหว่างเบรกนั้นยาวขึ้น คนดูจะรอนาน
เลยนำมาสู่การตีความว่าการโฆษณารายการของช่องตนเองนั้น จะนับเป็นเวลาในการโฆษณาตามที่กฎหมายกำหนดด้วยหรือไม่ สำนักงานกำลังร่างแนวทางเพิ่มเติม
ผู้รับใบอนุญาตทีวีและวิทยุมีหลายพันสถานี ทาง สำนักงาน มี จนท.ไม่พอในการมอนิเตอร์ทั่วประเทศตลอด 24ชั่วโมง (ยกเว้นเรื่องการเมืองที่จะมีฝ่ายความมั่นคงคงตามมอนิเตอร์ตลอดเวลา แล้วแจ้งร้องเรียนเข้ามาที่ กสทช.เป็นระยะ) แต่มีเครือข่ายผู้บริโภคที่ทำงานร่วมกับ กสทช. คอยช่วยสุ่มตรวจและร้องเรียนโฆษณาเข้ามา รวมถึงคนดูทั่วไปถ้าเห็นว่าโฆษณานานเกินทำให้เดือดร้อนรำคาญก็โทรฟรีมาร้องเรียนได้ที่ Call center 1200 ทาง สำนักงานจะดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการและเสนอบอร์ด กสท.พิจารณาต่อไป
เรื่องกำหนดเวลาการโฆษณาอยู่ในกฎหมายระดับ พรบ.ประกอบกิจการฯ ไม่ใช่แค่ประกาศ กสทช. ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้รับใบอนุญาตฟรีทีวีดิจิตอลจะต้องเคร่งครัดตนเองทำตาม กฏ กติกา เชื่อว่าแต่ละช่องคงเข้มงวดเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะในประเด็นผู้บริโภค อาทิการไม่โฆษณาผิดกฎหมาย อย. และ การไม่โฆษณาเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด
ส่วนกรณีแฝง ไทอิน และ ผู้สนับสนุนแทรกในรายการนั้น ใน พรบ.ประกอบกิจการฯ ไม่ได้เขียนระบุไว้ชัดเจน แต่ก็เป็นหน้าที่ กสทช.ต้องออกมาประกาศหรือแนวทางกำกับเพิ่มเติมในการคุ้มครองผู้บริโภคตาม พรบ. กสทช. ซึ่งอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ให้ สำนักงานร่างประกาศเพิ่มเติมอยู่
ได้จัดโฟกัสกรุ๊ปไปบ้างแล้ว แน่นอนกลุ่มผู้ประกอบการก็บ่นอุบ เพราะต่อว่า กสทช. ที่นอกจากไม่ส่งเสริมแล้วยังจะกำกับเข้ม แต่มันก็เป็นหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ไว้ให้ทางดิจิตอลทีวีหายตึงเครียดกันแล้ว ค่อยมาถกหาจุดสมดุลย์เรื่องนี้กันต่อไปค่ะ
ในฐานะผู้กำกับดูแลก็เครียดเช่นกัน รู้ว่าแต่ละช่องก็ภาระเยอะและทุ่มงบประมาณในการพัฒนารายการให้ดีขึ้น ขอเอาใจช่วย และจะเร่งทำงานให้เต็มที่ยิ่งขึ้นเพื่อโปรโมทดิจิตอลทีวี
ในฐานะที่อยู่ตรงกลางระหว่างอุตสาหกรรมดิจิตอลทีวีและผู้บริโภค บอกได้เพียงว่า เมื่อเรา (สื่อ) รัก ใส่ใจ และ เคารพคนดู คนดูก็จะรักและดูแลเราตลอดไป
ส่วนตัวก็จะเร่งทำงานให้มากขึ้นอีก เพื่อทำให้การเข้าถึง รับชมทีวีดิจิตอลเยอะขึ้นกว่านี้ ลดความเสี่ยงในการล้มเลิกกิจการของผู้ประกอบการ จะพยายามทำทุกอย่างที่ทำเองได้ในช่วง 2 – 3 เดือนจากนี้ ขอเพียงให้ทุกช่องช่วยดูแลผู้บริโภคตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น เมื่อปัญหาเรื่องร้องเรียนที่กระทบผู้บริโภคมีน้อยลง ก็จะได้มีเวลามาช่วยส่งเสริมแก้ปัญหาให้ทีวีดิจิตอลได้มากขึ้น…