เปิดความเห็น : การกำกับเนื้อหาสถานีวิทยุทดลองที่ทำผิดเงื่อนไข MOU

เปิดความเห็นสุภิญญา ต่อการกำกับเนื้อหาสถานีวิทุยทดลองที่ทำผิด MOU

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 13/58 วันจันทร์ที่ 20 เม.ย. 58  ได้มีการพิจารณาวาระ 5.1 เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กรณีที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการออกอากาศ (MOU) นั้น

กสท.ได้มีมติเห็นสมควรกำหนดมาตรการในการกำกับการทดลองประกอบกิจการวิทยุและกระจายเสียง ดังนี้

  1. แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และมอบหมายให้ปฏิบัติการแทน กสทช. โดยมีกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ กสทช. มีมติ ดังนี้

1.1  แต่งตั้งพนักงานของสำนักงาน กสทช. ดังต่อไปนี้ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่

1.1.1        เลขาธิการ กสทช.

1.1.2        รสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และสายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค

1.1.3        ผู้อำนวยการสำนักงาน กสทช. ภาค 1 ถึง 4

1.2  ให้พนักงานตามข้อ 1.1 มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้.

1.2.1        ติดตามตรวจสอบการออกอากาศรายการสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พร้อมรายงานผลการตรวจสอบต่อ กสท. หรือ กรรมการ กสท. ที่ได้รับมอบหมายทุกวัน

1.2.2        กรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาเป็นการให้ข้อมูลที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักรให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจออกคำสั่งทางปกครองให้สถานีวิทยุกระจายเสียงพักใช้ใบอนุญาตฯคราวละไม่เกิน 7 วัน หรือเพิกถอนใบอนุญาตทันที และเมื่อมีคำสั่งแล้วให้รายงานผลการมีคำสั่งต่อ กสท. หรือ กรรมการ กสท. ที่ได้รับมอบหมายโดยทันที

1.2.3        การแต่งตั้งและมอบกมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติแทน กสทช. ตามที่ได้รับมอบหมายนี้ มีกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ กสทช. มีมติ โดย กสทช. อาจขยายระยะเวลาได้ตามความเหมาะสม

1.3  การปฏิบัติตามข้อ 1.2 ของพนักงาน ตามข้อ 1.1.2 และข้อ 1.1.3 ต้องได้รับมอบหมายจากพนักงานตาม   ข้อ 1.1.1

 

  1. กำหนดเงื่อนไขการอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงตาม MOU เพิ่มเติม โดยกำหนดให้ “การฝ่าฝืนข้อกำหนดใน MOU โดยการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาเป็นการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างความแตกแยกในราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งทางปกครองให้พักใช้ใบอนุญาต คราวละไม่เกิน 7 วัน หรือเพิกถอนใบอนุญาต โดยผู้รับใบอนุญาตฯไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆที่เกิดจากการฝ่าฝืนเงื่อนไข MOU อันเป็นเหตุให้ถูกพักใช้หรือ เพิกถอนใบอนุญาตได้”
  2. การดำเนินการตามข้อ 2 ให้สำนักงาน กสทช. รายงานผลการดำเนินการต่อ กสท. เพื่อทราบ
  3. ให้สำนักงาน กสทช. นำเสนอต่อ กสทช. เพื่อแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ 1

 

ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสท. ได้แจ้งต่อที่ประชุม กสท. ว่าจะจัดส่งข้อเสนอแนะต่อมาตรการกำกับดูแล เพื่อให้สำนักงาน กสทช. นำไปพิจารณาประกอบการดำเนินการ ดังนี้

เนื่องจากการพิจารณาการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งหรือสร้างความแตกแยกในราชอาณาจักร อันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะนั้น เป็นเรื่องยากและมีมุมมองที่หลากหลายในการตีความว่าเนื้อหาใดที่เข้าข่ายในลักษณะดังกล่าว สำนักงานจึงควรมีแนวปฏิบัติหรือขอบเขตที่ชัดเจนในเรื่องรูปแบบ หรือลักษณะการนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง หรือยั่วยุปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการใช้อำนาจและไม่เลือกปฏิบัติตามอำเภอใจ ทั้งนี้ดิฉันเห็นว่า การวิจารณ์การทำงานของคณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ  ไม่ควรนับรวมว่าเป็นเนื้อหารายการที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงบรรยากาศทางการเมืองที่อยู่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสื่อมวลชนและพลเมือง มีบทบาทอย่างสำคัญในการปฏิรูปการเมืองไทย

ในส่วนการพิจารณาการออกอากาศรายการเนื้อหาสาระโดยการกล่าวหาบุคคลอื่นว่าหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา ๑๑๒  แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือ ที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ล้มเจ้า” นั้น ดิฉันเห็นว่า กรณีนี้สำนักงานควรมีบรรทัดฐานในการพิจารณาการออกอากาศรายการเนื้อหาสาระของทุกฝ่ายทางการเมืองด้วยการกล่าวหาในลักษณะที่พิพากษาหรือตัดสินบุคคลอื่นทั้งที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายหรือกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยในข้อหา “ล้มเจ้า” ว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนอย่างร้ายแรง เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไป และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกกล่าวหา ในด้านหนึ่งจึงเป็นเรื่องจรรยาบรรณของผู้ดำเนินรายการหรือผู้สื่อข่าวที่จำเป็นต้องรักษาสิทธิของผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายตามหลักที่ว่า “ให้สันนิษฐานว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่ามีความผิด”

นอกจากนี้ ดิฉันยังเห็นว่า มาตรการกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุฯ ควรให้ความสำคัญกับการนำเสนอเนื้อหารายการ หรือ โฆษณา ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายทุกชนิดอันส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง แทนการมุ่งกำหนดมาตรการออกอากาศเนื้อหารายการที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแต่เพียงประเด็นเดียว

สำหรับการพิจารณาโทษทางปกครอง ดิฉันเห็นว่า การเสนอให้กำหนดโทษทางปกครองด้วยการพักใช้ใบอนุญาตนั้น อาจเข้าข่ายเป็นการลงโทษเกินกว่าเหตุได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้รับใบอนุญาต หากเห็นว่าเนื้อหาที่ออกอากาศขัดต่อกฎหมาย ควรพิจารณาระงับการออกอากาศเฉพาะรายการแทนการพักใช้ใบอนุญาตทั้งสถานีเป็นเบื้องต้นจากนั้นในการดำเนินการควรคำนึงถึงขั้นตอนตามลำดับของการพิจารณาโทษทางปกครอง แทนการเลือกใช้อำนาจให้พักใช้ใบอนุญาตคราวละ ไม่เกิน ๓ วัน หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามที่สำนักงานฯ นำเสนอ …

Download (Comment-NBC-13-58.pdf,PDF, Unknown)