13 ก.พ. 57
Summary of the week!
สรุปงานสัปดาห์ที่ผ่านมา ไฮไลท์สำคัญดังนี้
1.
เรื่องประกาศเรียงช่องฟรีทีวี 1-36 เหมือนกันทุกกล่องยังไม่จบ มีเงื่อนไขใหม่เข้ามาให้ถกต่อ อาทิ การมีบทเฉพาะกาลยกเว้นในรายที่อยู่ในระบบสัมปทาน (ทรูวิชั่นส์) ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะมี 2 มาตรฐาน
หรืออีกเรื่องที่จะมีการแลกให้โครงข่ายดาวเทียม-เคเบิล สามารถจัดเรียงช่องแบบฟรีสไตล์ได้เองตั้งแต่ช่อง 37 เป็นต้นไป(ตอนนี้ต้องเรียงแบบจัดหมวดหมู่) ซึ่งอาจเกิดกรณีช่องฟรีทีวี SD อัพเกรดมาเป็นช่อง HD แล้วไปอยู่ที่ช่อง 37 (ต่อช่อง36) แทนก็เป็นได้ ซึ่งจะกระทบ 7 ช่อง HD ที่ประมูลมาสูง (แต่คนดูได้ประโยชน์)
อีกทั้งมีประเด็นข้อกฎหมายว่าถ้าจะปรับจุดนี้ก็ต้องแก้ไขประกาศการจัดหมวดหมู่ช่องใหม่ ซึ่งเป็นคนละฉบับอีก สรุป รอถกต่อกันอีกรอบ
2.
กสท. มีมติให้จากนี้ทุกสถานีวิทยุกลุ่มทดลองกิจการต้องแจ้งประกาศชื่อสถานีต้นชั่วโมงว่าเป็นบริการสาธารณะ บริการธุรกิจ หรือ บริการชุมชน เพื่อให้ผู้บริโภคร่วมตรวจสอบได้ชัดเจนขึ้น เพราะประเภทบริการสาธารณะ และ ชุมชนห้ามมีโฆษณา ขณะนี้ สนง. กำลังเสนอเคสให้ กสท. มีมติลงโทษสถานีบริการสาธารณะ และ ชุมชนที่ถูกร้องเรียนว่ามีโฆษณา
3.
เพื่อการตรวจสอบผังรายการ และ คุณภาพของทีวีดิจิตอล วันจันทร์ที่ผ่านมา กสท. มีมติให้ สนง. กสทช. ทำ MoU กับโครงการ Media Monitor ของมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา เพื่อช่วย กสทช.มอนิเตอร์ในการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เช่นวันนี้ที่มีการนำเสนอผลการมอนิเตอร์ 7 ข่องข่าวฟรีทีวีกับมาตรฐานในการเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ต่อไปจะให้ทาง Media Monitor มอนิเตอร์ ช่องเด็ก เยาวชน และ ครอบครัว ทั้ง 3 ช่องด้วย
4.
สัปดาห์ที่ผ่านมาทางสำนักงานได้เชิญตัวแทนของทีวีเครือเนชั่น+NMG และ สปริงนิวส์+SLC มาชี้แจงข้อเท็จจริงตามมติบอร์ด กสท. แล้ว
จากนี้สำนักงานจะให้คณะผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบหุ้นและการ ‘มีผลประโยชน์’ ร่วมกัน แล้ววิเคราะห์ข้อมูล ก่อนนำเสนอผลพร้อมแนวทางให้ กสท.ลงมติต่อไป กรรมการไม่ได้เข้าร่วมในขั้นตอนของสำนักงานในการเชิญผู้รับใบอนุญาตมาชี้แจงดังกล่าว รอสำนักงานสรุปผลแล้วถกบทสรุปกันใน กสท. คงราวปลายเดือนนี้
กรณีการถือครองหุ้นร่วมกันในช่องประเภทข่าวระหว่าง SLC & NMG ครั้งนี้ จะเป็นบททดสอบ กสท. ในการกำกับดูแลกติกาเพื่อรักษาสัดส่วนการถือครองทีวีดิจิตอล เราอยากเห็นช่องข่าวทั้ง 7 เป็นทางเลือกของคนดู จึงสร้างเงื่อนไข และ การแข่งขัน ให้อยู่บนกติกาเดียวกัน จึงกำหนดให้1รายต่อ1ใบอนุญาต
คนถือช่อง HD ห้ามถือ SD ช่องข่าว และช่องข่าวด้วยกันห้ามถือใบอนุญาตซ้ำกันเอง
เวลาผ่านมาเกือบ 1 ปีแล้ว ที่ฟรีทีวีดิจิตอลเริ่มออนแอร์ในระบบใบอนุญาต หลายสถานีมาได้ไกลมาก แต่อีกหลายสถานียังคงค้นหาแนวทางของตนเองอยู่
ท่ามกลางอุปสรรคหลายประการ แต่ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นกับระบบและวงการโทรทัศน์มากพอควร หวังว่าผลบวกจะตกกับผู้บริโภคที่มีทางเลือกมากขึ้น
หน้าที่ของ กสทช.คือเปิดสนามให้เกิดการแข่งขันเสรี เป็นธรรม ส่วนฝีมือเป็นเรื่องของภาคเอกชน ทางด้านคนดูก็ต้องเลือกตามรสนิยมอย่างฉลาดเท่าทัน
ปีนี้ช่องเด็ก เยาวชนและครอบครัว 3 ช่อง ยังอยู่ในข่ายเฝ้าระวัง ตามที่บอร์ด กสท. เพิ่งมีมติให้ทำ MOU กับทางมีเดียมอนิเตอร์เพื่อติดตามดูใกล้ชิด
ผังรายการของทั้ง 3 ช่องเด็ก เยาวชน ครอบครัว ยังไม่ผ่าน มติบอร์ดให้ สนง.จัด workshopใหญ่ เพื่อติวเข้มให้ทั้ง3ช่อง ปรับตัวให้ถูกทางในเดือนหน้า ต้องขับเคี่ยวกันต่อไป
ถ้าคิดจะทำช่องเด็ก เยาวชนให้เป็นช่องวาไรตี้ นอกจากอาจขัดเงื่อนไขแล้ว ยังยากที่จะประสบความสำเร็จ ทางออกคือต้องทำให้เป็นช่องเด็กเยาวชนจริงๆ
000
การแข่งขันทำให้ทุกฝ่ายต้องเหนื่อย ตื่นตัว ปรับตัวกันมากขึ้น แต่เราเชื่อว่าจะดีกว่าระบบแบบเดิม การมีทางเลือกย่อมดีกว่าการผูกขาดในเกือบทุกกรณี เพราะต้องการสร้างหลักประกันของทางเลือก กสท. จึงกำหนดกติกาสัดส่วนการถือครองใบอนุญาตมาตั้งแต่ต้น ให้มีเจ้าของมากรายตาม demand/supply อุตสาหกรรม
*กติกาสัดส่วนการถือครองจึงต้องคงอยู่ตลอดอายุใบอนุญาต*
แน่นอนระหว่างการแข่งขัน อาจมีบางรายไปไม่ไหวต้องปรับตัว ทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กติกามาตรา 31กล่าวคือ ในกรณี จะปรับมาถือหุ้นกันเองใน 24 ช่อง 17 ราย ทำได้ แต่ต้องไม่เกินสัดส่วนที่กติกาวางไว้ตั้งแต่ขอรับใบอนุญาต (ถือหุ้นร่วมกันไม่เกิน 10%)
ส่วนกรณีจะให้ทุนใหม่อื่นๆนอกจาก 17 ราย มาร่วมทุนใหม่ใน 24 ช่อง ก็ทำได้เช่นกัน แต่ต้องทำตามเงื่อนไขที่ประกาศ กสทช. ล่าสุดกำหนดตามมาตรา 32 (ร้อยละ 25)
สรุปให้ง่ายคือ ถ้าบางช่องไปไม่ไหวจะระดมทุนเพิ่ม ให้คนนอกหรือรายใหม่มาร่วมทุนนั้น ทำได้ยืดหยุ่นกว่าที่ 17 ราย 24ช่องจะมา take กันเอง เพราะกฎเข้ม
เราเปิดตลาดให้มี 24 แผง เจ้าของ 17 ราย ถ้าใน 17 รายนี้จะควบรวมกันเอง ทำได้ยากกว่าไปชวนคนนอกมาร่วมลงทุน เพราะกฎสัดส่วน 7-7-7-3 และ ถือหุ้นร่วมกันไม่เกิน 10 % ค้ำอยู่
5.
ปลายสัปดาห์ไปร่วมงานรณรงค์เยาวชนรู้เท่าทันสื่อของสำนักคุ้มครองผู้บริโภคฯ (บส.) และไปกล่าวปิดงานโครงการส่งเสริมจรรยาบรรณสื่อรุ่นใหม่ที่ สำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง (สส.) สนง. กสทช. ทำงานวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัย 9 แห่งทั่วประเทศ ปิดโครงการวันนี้จัดที่ มศว.ประสานมิตร
ขอบคุณ 9 สถาบันการศึกษา คณาจารย์ และนิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทุกท่านค่ะ
อีกงานของ กสทช. วันนี้ไม่ได้ไป แต่ส่งตัวแทนไปคือเวทีสรุปผลศึกษา โดยมีเดียมอนิเตอร์ เรื่องการตรวจสอบ 7 ช่องข่าวใน ประเด็นการนำเสนอข่าวเจาะลึกเชิง investigative journalism ว่าทำได้แค่ไหน อย่างไร ทำไม ได้ข้อมูลน่าสนใจมาใช้ทำงานต่อ
นอกจากเปิดสนามส่งเสริมการแข่งขันเสรีเป็นธรรมแล้ว งานอีกด้านคือการส่งเสริมคุณภาพ และ จรรยาบรรณของบุคลากรในวงการโดยเฉพาะนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ก็สำคัญ
ก็ต้องทำงานร้อน+งานเย็นไปคู่กัน
6.
บ่ายวันนี้เครือข่ายผู้บริโภคที่ทำงานร่วมกับ กสทช. ได้แถลงผลการมอนิเตอร์โฆษณาอาหารเสริม ในทีวี จากนี้จะส่งเรื่องให้อย. และ กสทช. สั่งระงับต่อไป รายละเอียดอ่านใน comment และ blog เพิ่มเติมค่ะ