‘เก๋’ชน‘บิ๊กตู่’ลั่นกสทช.ต้องอิสระ : ไทยโพสต์

‘เก๋’ชน‘บิ๊กตู่’ลั่นกสทช.ต้องอิสระ

“สุภิญญา” ชนรัฐนาวาตู่ ออกกฎหมาย  กสทช.เหมือนล้อหลังแซงล้อหน้า ทั้งที่ควรรอรัฐธรรมนูญใหม่ก่อน ยอมรับหลายฝ่ายไม่ปลื้ม ตอนนี้เหมือน “ไททานิค” ชนภูเขาน้ำแข็ง แต่ชี้ไม่ควรตัดอิสระรวบอำนาจ “เทียนฉาย-สารี” ลั่นคิดค่าโทร.เป็นวินาทีต้องทำถาวร ไม่ใช่โปรโมชั่น นัดทุกฝ่ายถก 13 ม.ค.ให้สำนึกถึงผู้บริโภค

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทวีตข้อความถึงร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ซึ่งเป็น 1 ในร่างกฎหมาย 8 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ยังต้องไปผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรอร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีก

“การปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.กสทช.ควรต้องรอร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จก่อน จะได้รู้ว่ายังเป็นองค์กรอิสระหรือไม่ การผ่าน พ.ร.บ.ออกมาก่อนการมีรัฐธรรมนูญ เหมือนล้อหลังแซงล้อหน้า เพราะ กสทช.เป็นองค์กรที่มาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้ทราบว่าไอเดียการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.กสทช.มีหลายแนวทางมาก ทั้งของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที), สนช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สุดท้ายยังต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง ระหว่างนี้ยังทำหน้าที่เหมือนเดิมไปก่อน ถ้าพ้นจากตำแหน่งเมื่อไหร่ค่อยมาแจ้งเพื่อทราบค่ะ” น.ส.สุภิญญาระบุ

กสทช.รายนี้ทวีตข้อความอีกว่า แม้ภาคสื่อวิทยุ-ทีวีจะไม่ค่อยปลื้ม กสทช.เท่าไหร่ แต่คิดว่าคงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.แก้ไข กสทช.อันใหม่ที่รวบการกำกับดูแลสื่อสารมวลชนด้วย ซึ่งในฐานะอยู่ในองค์กรที่ถูกปฏิรูป จะพูดอะไรก็ยาก คงต้องรอดูแนวคิดของภาคอุตสาหกรรมและวิชาชีพสื่อว่าคิดอย่างไรในขั้น สนช. และ สปช.ต่อไป แต่งานกำกับดูกิจการด้านโทรคมกับวิทยุโทรทัศน์ของไทยในปัจจุบันยังมีรายละเอียดที่ต่างกันมาก การหลอมรวมกันเลยฉับพลันไม่ใช่เรื่องง่าย

น.ส.สุภิญญาให้รายละเอียดว่า กิจการวิทยุเพิ่งเริ่มเข้าสู่กระบวนการรับใบอนุญาตนับพันๆ ราย และทีวีทั้งภาคพื้นเคเบิล ดาวเทียมเพิ่งเข้าระบบ ซักระยะจะลงตัวขึ้น วิทยุ เคเบิล และดาวเทียม เพิ่งปรับเปลี่ยนสถานะจากที่เคยอยู่นอกกฎหมายเข้าสู่ภายใต้การรับใบอนุญาตตามกฎหมายอย่างถูกต้องปีนี้เอง เมื่อจัดระบบให้วิทยุทีวีเข้าสู่การมีใบอนุญาตตามกฎหมายแล้ว จากนี้คือการกำกับดูแลที่สมดุล คือตัดวงจรนอกระบบ มาเฟีย การเก็บค่าคุ้มครอง และค่าต๋งทั้งหลาย สถานีที่ได้รับใบอนุญาตก็ต้องผ่านกระบวนการเดียวกันตามกติกาพื้นฐาน แต่อาจมีบ้างเรื่องที่องค์กรกำกับต้องเข้าไปจัดการแทรกแซง โดยเฉพาะช่วงต้น ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วงานส่วนใหญ่ขององค์กรกำกับจะเป็นงานประจำ เพราะระบบทำงานแล้ว เว้นเรื่องนโยบายใหญ่ๆ ที่ต้องตัดสินใจ แต่ของเรายังต้องจัดระบบทุกเรื่อง

“ตอนนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) วางระบบ ออกประกาศ กติกา ไว้ครอบคลุมแทบทุกเรื่องแล้ว จากนี้คือต้องบังคับใช้กติกานั้นจริงจัง เมื่อบังคับใช้กติกาจริงจังสักระยะจนเป็นผล จะส่งผลให้อุตสาหกรรมต้องปรับตัวในการกำกับตัวเอง และกำกับกันเองมากขึ้นเหมือนในต่างประเทศ รัฐจะลดบทบาทลง ดังนั้นจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรหรือตัวกรรมการคงไม่สำคัญเท่าการต้องไม่ไปทำให้การวางระบบที่กำลังวางรากต้องสะดุดลง แล้วถอยหลังไปเริ่มใหม่ ดังนั้นระบบใบอนุญาตต้องเดินหน้าต่อ บนกติกาเดียวกันมีองค์กรกำกับคอยกำกับดูแลอย่างเป็นธรรมจนระบบของอุตสาหกรรมอยู่ตัว ผู้บริโภคเข้มแข็ง” น.ส.สุภิญญาระบุ

เธอยังยอมรับว่า การลดอำนาจของ กสทช.ให้เป็นเพียงกรรมาธิการหรือกรรมการในบอร์ดทั่วไปไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่สังคมเป็นห่วงคือเรื่องของธรรมาภิบาลและการตัดสินใจที่ดี ซึ่ง กสทช.เวลานี้เปรียบเสมือนเรือชนภูเขาน้ำแข็ง เราก็พยายามช่วยกันอุดรูรั่ว แต่ในความเป็นจริงเรือก็กำลังจมลงๆ จะเรียกให้ใครช่วยก็คงยาก แม้จะยอมรับปัญหาภายใน กสทช. และเห็นด้วยว่าควรถูกปฏิรูปหลายเรื่องโดยเฉพาะธรรมาภิบาล แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดในร่าง พ.ร.บ.แก้ไข กสทช.อันใหม่ แม้ว่าไม่เห็นรายละเอียดร่างทั้งหมด แต่คิดว่ามีหลายประเด็นที่จะเป็นปัญหา ทั้งเรื่องความเป็นอิสระและการจัดสรรคลื่นธุรกิจที่ไม่ต้องประมูล

นายพรชัย รุจิประภา รมว.ไอซีที ยืนยันว่า กระทรวงไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการประมูล 4 จี เพราะอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบยังอยู่ที่ สำนักงาน กสทช. เนื่องจากตอนนี้ พ.ร.บ.ยังอยู่ในขั้นตอนของการแก้ไข ดังนั้น การดำเนินการเรื่องการประมูล 4 จียังคงเป็นตามแผนเดิมที่ กสทช.วางไว้ ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าจะสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราวแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างที่รอ พ.ร.บ.มีความชัดเจน โดยจะมีคณะกรรมการดิจิทัลฯ ทั้งสิ้นจำ 32 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน, รองนายกฯ, รัฐมนตรี และปลัดกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประธาน กสทช. รวมถึงตัวแทนภาคเอกชน

สำหรับข้อเสนอปฏิรูปการคิดค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามจริงเป็นวินาทีนั้น นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. และ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธาน กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายเทียนฉายกล่าวว่า ข้อเสนอปฏิรูปค่าโทรศัพท์คิดเป็นวินาที สปช.ลงมติเห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคว่าควรทำเป็นการถาวรและตลอดไป ไม่ใช่โปรโมชั่นให้เลือก และหวังว่า กสทช.จะทำหน้าที่กำกับดูแลให้มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมจากการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเร็ว

น.ส.สารีกล่าวว่า กสทช.ควรมีมาตรการทางกฎหมายที่จะกำหนดให้ผู้ประกอบการคิดค่าบริการตามที่ผู้บริโภคใช้งานจริงโดยไม่ปัดเศษ เพราะการออกรายการส่งเสริมการขายแม้เป็นทางเลือก แต่ก็เป็นภาระผู้บริโภคที่ต้องเปลี่ยนโปรโมชั่น และผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่ สปช.ต้องการปฏิรูประบบการคิดค่าบริการโทรคมนาคมให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริการ โดยในวันที่ 13 ม.ค. เวลา 13.30 น. กมธ.ปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภคฯ จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ กสทช. บริษัทผู้ให้บริการ และตัวแทนองค์กรผู้บริโภคมาประชุมเพื่อหารือหาแนวทางการเปลี่ยนโครงสร้าง การคิดค่าโทร.เป็นวินาทีให้ครอบคลุมทั้งระบบต่อไป

 “สปช.ไม่อยากให้ผู้ประกอบการทำแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่อยากให้เป็นอย่างถาวร ไม่ใช่แค่โปรโมชั่น เพราะถ้าในระยะเวลาโปรโมชั่นคิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาที หากผู้บริโภคไม่มาใช้ ผู้ประกอบการก็จะอ้างผู้บริโภคอีก ดังนั้นผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วย” น.ส.สารีกล่าว

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2553 ได้กำหนดห้ามผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภคและค้ากำไรเกินควร ซึ่ง กสทช.ก็มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ โครงสร้างค่าบริการให้เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการด้วย

“หาก กสทช.ผลักดันให้ค่ายมือถือคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการแน่นอน” นพ.ประวิทย์กล่าว.