สุภิญญาชวนจับตาร่าง พรบ.สื่อ ข่าวมูลข่าวสาร และไอซีที หวั่นแก้ปัญหา กสทช. ไม่ตรงจุด
วันนี้(11 ม.ค. 58) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีข้อสังเกตและความเห็นเบื้องต้น กรณีการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีต่อหลักการร่างกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับสื่อ ข้อมูลข่าวสาร และไอซีที ทั้ง 10 ฉบับ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิ้งค์นี้ http://nbtcrights.com/2015/01/1758) ที่คาดว่าจะส่งผลต่อภาพรวมและการทำงานของ กสทช. ในอนาคตนั้น ว่า ควรแก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่ควรไปแก้หลักการเรื่องการเป็นองค์กรที่ควรอิสระจากการเมืองย้อนยุคไประบบเดิม เพราะต่อไปรัฐบาลก็จะต้องเปลี่ยนหน้าไปตลอดเวลา ที่สำคัญควรคำนึงถึงมิติของสื่อสารมวลชนมีความต่างจากโทรคมนาคมอยู่หลายประการ ควรต้องมีการพิจารณาเรื่องนี้ให้ละเอียด ซึ่งหากถ้าจะแก้ พรบ. กสทช. แล้วก็ควรแก้ให้ดีขึ้นไปเลยไม่ควรแก้ให้ถอยหลังกว่าเดิม นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องการกำกับการสื่อสารทางอื่น ทั้งคอมพิวเตอร์ ไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ในยุคดิจิทัลอีโคโนมีทั้งหมดที่เป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย
“ถ้าปัญหา กสทช. อยู่ที่เรื่องธรรมาภิบาลหรือการใช้งบประมาณเกินเลย ก็ควรไปแก้จุดอ่อนตรงนี้ เช่นกำหนดเพดานงบแต่ละปีที่ใช้ได้ ไม่ใช่ให้ กสทช. กำหนดเองตามค่าธรรมเนียมที่เก็บได้มากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการให้บอร์ด และ สำนักงานต้องเปิดเผยรายละเอียดการใช้จ่ายต่างๆทุกเดือน เพื่อให้สังคมร่วมตรวจสอบมากขึ้น เป็นต้น แต่ในร่าง พรบ.ใหม่ไม่เน้นเรื่องนี้เลย ดังนั้นมันจะไม่แก้จุดอ่อนที่เป็นอยู่ สรุปคือแก้ไม่ตรงจุด ที่สำคัญควรถามความเห็นภาคสื่อ ประชาสังคม ผู้บริโภคด้วยว่าคิดเห็นอย่างไรต่อร่างนี้บ้าง เรื่องใหญ่ขนาดนี้ รัฐบาล ไม่ควรจะสรุปเอง” นางสาวสุภิญญา กล่าว
ส่วนในวันจันทร์ที่ 12 ม.ค. นี้ ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 2/2558 มีวาระสำคัญน่าจับตา รายงานผลการดำเนินการพร้อมทั้งขอขยายวาระการดำรงตำแหน่งของคณะทำงานติดตามและกำกับดูแลการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และการรายงานผลการดำเนินการติดตั้งโครงข่ายสัญญาณดิจิตอลทีวี ซึ่งปัจจุบันพบว่า โครงข่ายกองทัพบก และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ( ส.ส.ท.) ได้ดำเนินการวางโครงข่าย 25 สถานีตามเงื่อนไขใบอนุญาต ส่วน บมจ. อสมท.ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีจำนวน 16 สถานี และกรมประชาสัมพันธ์ยังไม่ได้ดำเนินการติดตั้งแต่อย่างใด ซึ่งทั้งสองได้อยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ นอกจากนี้มีวาระการอนุมัติผังรายการหลักประจำปี 2558 ช่อง 3HD ช่อง ONE ช่อง Bright TV รวมทั้งช่อง Nation TV และช่อง New TV ด้วย และเตรียมพิจารณาวาระ การจัดทำสัญญามาตรฐานในการให้ผู้อื่นเข้าร่วมดำเนินรายการ
ส่วนกรณี บ. โซลูชั่น คอนเนอร์ (1988) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC เข้าถือหุ้นของ บ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นั้น ในวันจันทร์ที่ 12 ม.ค. นี้ก่อนการประชุม บอร์ด กสท. ตัวแทนผู้บริหารเครือเนชั่น จะขอยื่นหนังสือกับตน และ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ เพื่อชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว เวลา 9.00 น. ณ ตึกเอ็กซิมแบงค์…