กติกาของ กสทช.เขียนไว้ชัดเจนว่า บ.ของผู้เข้ามาประมูลหรือได้รับอนุญาตนั้น จะต้องถือหุ้นไขว้ไม่เกิน 10% เพราะฉะนั้นกรณีนี้มันกระทบกับ 5 ช่องทีวีดิจิทัล

ตอบโจทย์‘ทุนรุก วาระร้อน ปฏิรูปสื่อ’

เป็นประเด็นใหญ่ที่สะเทือนวงการสื่อสารมวลชน หลังการเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทเครือเนชั่นจำนวน 12.27% ของกลุ่มทุนบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือเอสแอลซี เนื่องจากการเข้ามาดังกล่าวหลายฝ่ายมีความกังวลว่า อาจมีเงื่อนงำ ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มกราคม รายการ “ตอบโจทย์” สถานีไทยพีบีเอส ร่วมพูดคุยในประเด็นปมร้อนของการเข้ามาซื้อหุ้นเครือเนชั่นของเอสแอลซี พร้อมซักถามถึงบทบาทของกฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน และแนวทางการปฏิรูปวงการสื่อเพื่อความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ในหัวข้อ “ทุนรุก วาระร้อน ปฏิรูปสื่อ”

ทั้งนี้ แขกรับเชิญร่วมรายการ ได้แก่ นายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น, นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ดำเนินรายการโดย น.ส.ณัฏฐา โกมลวาทิน ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ผู้ดำเนินรายการนำเทปบันทึกการสัมภาษณ์ของนายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) เพื่อประกอบเป็นประเด็นซักถามด้วย

-ทำไมดูเนชั่นเดือดร้อนมากกับการที่เอสแอลซีเข้ามาถือหุ้น 12.27%

เทพชัย – ก่อนอื่นคงต้องชี้แจงว่า ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของเนชั่นในปัจจุบันไม่ได้ปฏิเสธการเข้ามาถือหุ้น เพราะว่าปกติการซื้อหุ้นขายหุ้นในอดีตมันมีเรื่องอย่างนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง มีทั้งผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทย ต่างประเทศก็เข้ามาซื้อหุ้น บางครั้งมีตัวแทนเข้ามาเป็นบอร์ดบริหารในบริษัทนั้นๆ ที่ผ่านมาไม่เคยเป็นเรื่องราวขึ้นมา เพราะว่าคนที่เข้ามามีเจตนาที่ชัดเจนในการซื้อหุ้นคือการลงทุนจริงๆ ถึงแม้จะมีบทบาทเข้ามาก็ไม่เคยเข้ามาแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายข่าย แต่ว่าเวลาเราดูคนที่เข้ามาถือหุ้น ผมว่ามันสำคัญมาก ที่เราต้องเข้าใจก่อนว่า สื่อไม่ใช่ธุรกิจที่ธรรมดาทั่วไป เพราะถ้าเป็นธุรกิจธรรมดาก็คือเข้ามาทำกำไร แต่ว่าสื่อมีเรื่องของปรัชญา มีเรื่องหลักการการทำงาน

“ฉะนั้น คนที่จะมาถือหุ้นในองค์กรสื่อคงต้องเข้าใจในปรัชญาดังกล่าวด้วย อย่าลืมว่าในตลาดหุ้นของประเทศไทยทุกวันนี้มันมีกลุ่มคนที่เรารู้ว่า บางคนเป็นเครือข่ายที่เป็นนักเกร็งกำไร นักปั่นหุ้นที่มีพฤติกรรมในการซื้อหุ้นของบริษัทที่เป็นเป้าหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยึดอำนาจในการบริหาร เข้าไปปั่นหุ้น เข้าไปสูบเอาทรัพย์สินออกมา เมื่อไม่มีราคาแล้วก็ขายทิ้ง ซึ่งมันมีพฤติกรรมเกิดขึ้นอย่างนี้ต่อเนื่อง และหลายคนที่เข้ามาซื้อหุ้นในเนชั่นก็กำลังอยู่ในข่ายที่ต้องถูกสอบสวนด้วยว่ามีพฤติกรรมแบบไหน เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ตรงนี้ทำให้เรามีความเป็นห่วง เพราะว่า สื่อต้องคงไว้ในความเป็นอิสระ มีหลักการในการทำงาน สื่อต้องมีจริยธรรม ผู้บริหารต้องมีหลักการในการทำงาน ผู้ถือหุ้นต้องเข้าใจด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเห็นภาพตรงนี้ เราจึงไม่ค่อยสบายใจ และเรามีความกลัวจากข้อมูลอยู่บนพื้นฐานที่เรารู้มาคือว่า เนชั่นอาจจะตกเป็นเป้าของนักเล่นหุ้น โดยมองว่าเนชั่นเป็นเพียงธุรกิจหนึ่งที่หวังจะเข้ามาทำกำไร”

ส่วนตัวมีข้อความหนึ่งที่จะอ้างอิงถึง ซึ่งคงจะสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนที่เข้ามาซื้อหุ้นในขณะนี้เขามองสื่ออย่างไร คือคุณอารักษ์ที่คุณณัฐฐาพูดถึงเมื่อสักครู่นี้ โดยคุณอารักษ์พูดกับสื่อในช่วงก่อนในวันปีใหม่ว่า สื่อควรร่วมกันในรูปแบบโรงงานเดียวแล้วผลิตสินค้าหลายอย่างได้ เพื่อประหยัดต้นทุนแล้วแบ่งตลาดกันขายสินค้าของแต่ละกลุ่มของลูกค้าของสื่อนั้นๆ เป็นการกระทำเพื่อเสริมจุดแข็งรองรับตลาดที่แข่งขันกันสูงในอนาคตอันใกล้ ฟังดูแล้วผมคิดว่า กลุ่มที่เข้ามามองสื่อเป็นแค่โรงงาน นี่คือภาษาที่คุณอารักษ์ใช้ เป็นโรงงานที่ผลิตสินค้า และข่าวที่ออกไปเป็นเพียงสินค้าเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นผมคิดว่า มันมีมุมมองที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะสื่อในเครือเนชั่นที่มองอาชีพของสื่อมวลชนกับกลุ่มทุนที่เข้ามา ที่มองว่า สื่อเป็นแค่สินค้า เป็นแค่โรงงานเท่านั้น

ตรงนี้เป็นคำพูดของคุณอารักษ์ที่คุณเทพชัยเตรียมมา คุณอารักษ์ได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส กรณีที่คนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเข้ามา เอสแอลซีจะผูกขาดใช้สื่อต่างๆ หรือจะครอบงำสื่อหรือไม่ โดยเรามีประเด็นนี้ที่คุณอารักษ์พูดถึงไว้จากสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ดังนี้

อารักษ์ – เนชั่นก็เป็นตัวใหญ่ตัวหนึ่งที่เราก็คิดว่า คือ 1.เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2.ทำอย่างครบวงจร และทำได้ดี แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดีก็สามารถรักษา และทำกำไรได้ เราก็เลยมองว่า ในอนาคตสามารถที่จะทำอะไรร่วมกันโดยที่ไม่ผิดจรรยาบรรณของสื่อ คือ จะต้องมีความเป็นอิสระ ไม่มีการแทรกแซง หรืออะไรต่างๆ คือจรรยาบรรณตรงนี้เราต้องยกไว้อยู่แล้วถ้าเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสื่อ เราไม่สามารเข้าไปก้าวล่วงได้ และไม่ควรเข้าไป เพราะคนที่เคยก้าวล่วงผลออกมาอย่างไรก็เป็นที่รู้กันอยู่ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นเรื่องที่เราเข้าใจดี เพราะว่า การที่เราเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในสปิงนิวส์ทีวี บริษัทเอสแอลซีไม่เคยเข้าไปมีอิทธิพลใดๆ หรือครอบงำใดๆ ในสปิงนิวส์ เราไม่เคยใช้สปิงนิวส์ไปชี้แจง แม้กระทั่งทำความเข้าใจ เราก็ไม่ใช้ เพราะมิฉะนั้นจะเป็นการใช้สื่อที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว มันคือ Private interest ไม่ใช่ Public interest ซึ่งสื่อโดยทั่วไปควรเน้นไปที่ Public interest

-เมื่อสักครู่เป็นเสียงยืนยันของคุณอารักษ์ว่า เข้าใจการทำงานสื่อ และเข้าใจจรรยาบรรณของสื่อ โดยจะไม่เข้าไปครอบงำการทำงานของเนชั่น

เทพชัย – ก็เป็นคำพูด ผมว่าเราไม่แน่ใจที่จะให้ความสำคัญหรือว่าเชื่อถือได้มากแค่ไหน เพราะบทเรียนในอดีตมันมี หากใครจำได้ในช่วงที่ชินคอร์ปมาซื้อไอทีวีก็บอกว่า ซื้อเพื่อเป็นการลงทุนทางธุรกิจ มาซื้อเพื่อขยายธุรกิจ ไม่มีเจตนาในการเข้าไปแทรกแซงการทำข่าว หรือบทบาทในกองบรรณาธิการ แต่ว่าผลสุดท้ายคงจำกันได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับไอทีวี ดังนั้นผมคิดว่า สิ่งที่อยากจะย้ำก็คือ เวลาที่ใครก็ตามจะพูดถึงคนที่เข้ามามีบทบาทในวงการสื่อต้องมองย้อนไปในภูมิหลังและกลุ่มคนที่พวกเขาเกี่ยวข้องด้วย ผมว่าตรงนี้ต่างหากที่เป็นคำตอบที่ชัดเจน

-อาจจะมีคำถามว่า เนชั่นเข้าตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นเนชั่นต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ที่คนเข้ามาซื้อหุ้น และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

เทพชัย – เห็นด้วยว่า การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มันเป็นเรื่องปกติ และเนชั่นก็เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมีคนเข้ามาซื้อหุ้นของเนชั่น แต่คนที่เราดูแล้วว่า มีพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับกฎกติกาที่ควรจะเป็น ผมคิดว่า สังคมควรรับรู้ ต้องระวัง เพราะว่า มันจะมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อ ของเครือที่เป็นเป้าของการถูกซื้อไป

-คุณสุภิญญาเรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ของ กสทช.ด้วย เพราะว่าเป็นกรณีที่คนอาจจะตั้งคำถามว่า กฎเกณฑ์ก่อนประมูลที่ระบุว่าไม่ควรจะมีผู้ถือหุ้นรายเดียวกันเกิน 10% ถือครองกิจการ และมาประมูล และควรจะนำกฎเกณฑ์นี้มาใช้หลังการประมูลหรือไม่ ซึ่งจุดนี้มีคำถามจากคุณอารักษ์ด้วยดังนี้

อารักษ์ – การลงทุนของเราเป็นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย ทุกอย่างมันเปิด ไม่มีการจำกัดสิทธิของผู้ที่จะเข้ามาถือหุ้น ส่วนถ้าจะบอกว่าตรงนั้นไม่ถูก ตรงนี้ไม่ถูก ต้องมีคนบอก ต้องมีตลาดหลักทรัพย์บอกมา ต้องมี ก.ล.ต.บอกมา ต้องมี กสทช.บอกมาว่า มันไม่ถูก เรายินดีที่จะปฏิบัติตาม แต่ถ้าเป็นอะไรที่ถูกต้องแล้ว และเราต้องไปปฏิบัติตามความต้องการแบบนั้น ผมคิดว่า มันไม่ถูกต้อง เพราะทุกอย่างมันมีกฎเกณฑ์ เพราะถ้าไม่เป็นอย่างนั้นก็ต้องแก้กฎเกณฑ์เสีย เพื่อที่จะได้ถือปฏิบัติโดยชอบทุกคน

เรื่องนี้กสทช.ตั้งข้อสังเกตอย่างไร เหมาะสมหรือไม่

สุภิญญา – เรื่องนี้บอร์ด กสท.ก็พิจารณาไปแล้วเมื่อก่อนปีใหม่ โดยในข้อเท็จจริงถ้าเอาประกาศของเรามาดูจะพบว่า มันขัดแน่นอน แต่ว่าที่ยังไม่ตัดสินเพราะว่า ในกรรมการ 5 คน เสียงยังแตกกันอยู่ มี 2 คนคือดิฉัน และอาจารย์ธวัชชัย ฟันธงว่า เรื่องนี้มันขัดกับประกาศของเรา ซึ่งเป็นประกาศในเรื่องการคัดเลือกผู้ที่ใช้คลื่นความถี่ก่อนการประมูล แต่อีก 2 ท่านเห็นว่า ไม่ควรใช้หลักเกณฑ์ก่อนการประมูลมาใช้หลังการประมูล ทำให้กรรมการอีกท่านบอกว่า ให้ส่งเรื่องนี้ไปที่อนุกรรมการกฎหมายของ กสทช.วินิจฉัยเรื่องนี้ ทำให้ช่วงนี้อยู่ในช่วงของการรอ แต่จะอธิบายว่า มันขัดชัดเจนอย่างไร คือว่า กติกาของ กสทช.เขียนไว้ชัดเจนว่า บริษัทของผู้เข้ามาประมูล หรือได้รับอนุญาตนั้น จะต้องถือหุ้นไขว้ไม่เกิน 10% เพราะฉะนั้นกรณีนี้มันกระทบกับ 5 ช่องทีวีดิจิทัล คือ สปิงนิวส์, จีเอ็มเอ็ม แชนแนล ต้องพูดว่า มันเกี่ยวข้องแต่ไม่ได้กระทบ คือ เขาซื้อในจีเอ็มเอ็ม และในเครือเนชั่นด้วย ในจีเอ็มเอ็มก็มี 2 ช่อง แต่เนื่องจากในการซื้อหุ้นในเครือจีเอ็มเอ็มมันมีแค่ 1.22%

สำนักงานก็วิเคระห์ว่า มันยังไม่ส่งผลอะไรที่เป็นนัยสำคัญ เพราะยังไม่ถือว่ากลายเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ในกรณีของเอ็นเอ็มจี (เนชั่น) เขาถือหุ้นเกินคือ 12.27% คือถือหุ้นเกิน 10% เพราะฉะนั้นมันก็ขัดประกาศของเราที่บอกว่า มันกลายเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเรื่องของเกณฑ์ผลประโยชน์ร่วมกันมันเป็นเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ด้วย และมันก็เป็นเกณฑ์ของประกาศ กสท.ด้วย ซึ่งก่อนการประมูลเราเคยมีประเด็นเรื่องนี้ไปแล้ว คือตอนนั้นในกรณีของช่อง 7 ยื่นประมูลช่องไฮเดฟ และมีอีกบริษัทหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันคือผู้ถือหุ้นเกิน 10% เข้าประมูลเหมือนกัน โดยตอนนั้นถ้าเข้าประมูลทั้งคู่จะถูกตัดสิทธิ์ เพราะถือเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้นจึงไม่มีมีสิทธิ์ขอรับใบอนุญาต

“ฉะนั้นหากใช้เกณฑ์นี้มาใช้กับเรื่องนี้ จริงๆ แทบไม่ต้องสอบสวนลงรายละเอียด เพราะข้อมูลมันชัดเจนว่า 12.27% มันขัด แต่ที่ยังไม่ฟันธงตอนนี้ เพราะกรรมการบอกว่า ไม่ควรเอาเกณฑ์นั้นมาใช้ แต่หากไม่เอาเกณฑ์นี้มาใช้มันจะกระทบต่อภาพรวมการปฏิรูปสื่อ หรือว่าการประมูลทีวีดิจิทัลทั้งหมดเลย เพราะเราตั้งใจออกแบบมาว่า ให้มีทั้งหมด 24 ช่อง ไม่เกิน 17 บริษัท โดยหนึ่งบริษัทประมูลได้ไม่เกิน 3 ใบอนุญาต และในประเภทช่องข่าว 7 ช่อง ต้องเป็น 7 บริษัท 7 นิติบุคคล และคนที่ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะฉะนั้น ถ้ามันบอกว่าทำได้ ก็จะขัดหลักเกณฑ์ที่ออกแบบมาเรื่องของการปฏิรูปสื่อให้เกิดการแข่งขัน มันก็จะเกิดการครอบงำกิจการได้

-แสดงว่า ในกรณีนี้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือ จะต้องเชิญเอสแอลซีมาพูดคุยเพื่อที่จะให้กระจายระบายหุ้นออกไป ไม่ให้เกิน 10% อย่างนั้นเหรอคะ ตามประกาศ กสทช.

สุภิญญา – ถ้าสุดท้ายบอร์ดมีมติว่า ขัดกับประกาศ ผู้ที่รับผลกระทบก็คือ สปริงนิวส์ เพราะเอสแอลซีไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตจากเรา เป็นบริษัทปู่ แต่จะกระทบกับบริษัทที่เขาถือหุ้น 99.99% ก็คือ สปริงนิวส์ จริงๆ แล้วจะต้องสื่อสารกับผู้รับใบอนุญาตทางช่องที่ได้รับใบอนุญาตจากเรา ซึ่งทางช่องนั้นจะต้องไปเจรจากับเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นให้มีการแก้ปัญหาให้ถูกต้อง ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าไม่ให้ขัดกับเกณฑ์ก็คือ ลดลงไปต่ำกว่า 10% มันก็จะไม่ขัด แต่นี่ก็เป็นการแก้ปัญหาขั้นพื้นฐาน โดยที่เป็นการซื้อแบบตรงไปตรงมา ยังไม่ได้ตอบโจทย์ หุ้นที่อาจจะเรียกว่า นอมินี หรือ ตัวแทน แต่ว่าประเด็นนี้ก็คือ เป็นงานของ กสทช.ชัดเจนที่ต้องวินิจฉัยว่า ถ้าเขามีผลประโยชน์ร่วมกัน แสดงว่าขัดกับประกาศ ก็ต้องมีการแก้ไขตรงนั้น

เทพชัย – ผมขอเสริมนิดหนึ่งในประเด็นนี้ 12.27% นี่ เป็นสัดส่วนที่เขาแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการใช่ไหมครับ แต่จริงๆ แล้วในการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้บริหารของเอสแอลซีกับเนชั่น เขายอมรับว่า ตอนนี้สัดส่วนการถือหุ้นของเขากว่า 30% แล้ว ซึ่งแน่นอนว่า 12.27% ถือในนามของเอสแอลซี แต่ที่เหลือไม่รู้ว่า ในเครือข่ายของเขาที่ถือหุ้นอยู่นั้นมีใครบ้าง ตรงนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้เราเคลือบแคลงว่า เจตนาของเขามีอะไรบางอย่างแอบแฝงอยู่ ความจริงที่บอกกับสังคมอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่บอกกับเราอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้น่าเป็นห่วง ถ้ากว่า 30% จริง ก็หมายความว่า เขากำลังท้าทายกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ ที่จำเป็นต้องถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนเกิน 25% ขึ้นไป จำเป็นจะต้องทำในสิ่งที่เรียกว่า เป็นการทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั่วไป หรือว่า เทนเดอร์ออฟเฟอร์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เขาไม่อยากทำ เพราะจะต้องใช้เงินเยอะมาก เพราะฉะนั้นเขาก็ถือว่า การถือหุ้นเขายืนยันว่า 12.27% แต่ที่เหลือเขาไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการ

-ที่คุณเทพชัยบอกว่า จริงๆ เขาถือหุ้นเกิน 30% ตรงนี้จะเป็นการกล่าวหาเขาลอยๆ หรือว่า เป็นการยืนยันโดยรวมแล้ว

เทพชัย – เป็นการยอมรับของเขาเองในการสนทนากับผู้บริหารของเนชั่น เพื่อเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างว่า เขากำลังมีเสียงข้างมากบางอย่างอยู่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นก็ได้ กรณีการเข้าไปพูดคุย ทางคุณอารักษ์บอกกับสื่อว่า จริงๆ ก่อนหน้านี้คุณสุทธิชัย หยุ่น ก็รับรู้ ได้เข้าไปพูดคุยกันก่อนที่จะเข้าไปซื้อหุ้น ตรงนี้ข้อเท็จจริงคืออะไร ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ ไม่ได้มีการพบปะพูดคุยกันก่อนที่จะมีการซื้อหุ้น มีการพบกันจริงระหว่างผู้บริหารเอสแอลซี และคนที่เกี่ยวข้องหรืออยู่เบื้องหลังเอสแอลซี มาพูดคุยกับผู้บริหารเนชั่น หลังจากมีการซื้อหุ้นแล้ว ซึ่งก็หมายความว่า มาแจ้งให้เราทราบเท่านั้นเองว่า ได้มีการซื้อหุ้นเนชั่นแล้ว ซึ่งขัดแย้งกับข้ออ้างของคุณอารักษ์ ที่บอกว่า มีการเจอะกันก่อนแล้วที่จะมีการซื้อหุ้น

-ภาพรวมของสื่อทีวีดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ ถ้าหากมองว่า สปริงนิวส์ กับ เนชั่นทีวี มีเจ้าของคนเดียวกัน ในภาพรวมของการปฏิรูปสื่อ ทำให้เกิดความลำบากใจอย่างไร คิดว่า นำไปสู่การผูกขาด หรือ สร้างฐานอำนาจให้ใครโดยที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นหรือไม่

วสันต์ – กรณีนี้ ผมคิดว่า อาจจะต้องดูสองสามอย่าง กรณีของตลาดหลักทรัพย์ ก็จะต้องดูว่า เป็นไปตามกฎกติกา เงื่อนไขของตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ ส่วนกรณีการถือครองหุ้นของทีวี 2 ช่องขึ้นไป ซึ่งเป็นช่องข่าว ตรงนี้เป็นเรื่องของ กสทช.จะเป็นคนชี้ว่า ผิด หรือ ถูก เพราะตอนก่อนประมูลมีเงื่อนไขข้อนี้อยู่ ทีนี้หลังการประมูลแล้ว ถ้าผิดจากเงื่อนไข จะถือเป็นความผิดหรือไม่ ตรงนี้ กสทช.จะเป็นผู้ชี้

ส่วนในแง่ของภาพรวม ในการปฏิรูปมักจะคุยกันว่า ไม่อยากเห็นการผูกขาด การครอบงำ หรือ การควบรวม ที่ทำให้สื่อกระจุกตัว แล้วมีอิทธิพล หรือมีบทบาทสูง ซึ่งอาจจะมีผลต่อการครอบงำ หรือ ทำให้ข่าวสารที่ประชาชนได้รับไม่หลากหลายพอ

-สิ่งที่เกิดขึ้น มองว่าเป็นสงครามการล่าอาณานิคมระหว่างกลุ่มทุนกับสื่อมืออาชีพหรือไม่

วสันต์ – เรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดกันว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ว่า เรื่องนี้ หลังจากที่ทางเนชั่นมาคุยกับกรรมาธิการปฏิรูปสื่ออย่างไม่เป็นทางการ หลายคนก็รู้สึกเป็นห่วงว่า จะกระทบเรื่องการรับรู้ข่าวสารของประชาชนหรือเปล่า จะมีลักษณะที่เป็นการครอบงำ หรือ มีลักษณะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อหรือไม่ ก็มีความเป็นห่วงใยกันอยู่และก็มีการพูดคุยกัน

-เรื่องของแนวทาง กสทช. จากนี้ไป กสทช.จะประกาศ หรือย้ำในเรื่องของกฎเกณฑ์ไม่เกิน 10% อย่างไร จะต้องประสานกับตลาดหลักทรัพย์อย่างไร

วสันต์ – จริงๆ ก็เห็นด้วย ที่ผ่านมา กสทช.ก็ยังไม่เคยได้คุยกับทางเรกูเลเตอร์ตลาดหลักทรัพย์เลย จริงๆ แล้วก็ควรจะคุยกัน และดูเคสนี้เป็นตัวอย่าง แล้วก็มาหาทางออกร่วมกัน จริงๆ ก่อนที่จะมีการประมูล ทาง กสทช.ในการตรวจสอบก็จะอิงแนวทางตลาดหลักทรัพย์หลายเรื่อง อย่างเช่น หลักเกณฑ์ของการที่เรียกว่า มีผลประโยชน์ร่วมกัน ถ้าถือหุ้นเกิน 10% ก็มีนัยแล้ว

“ขณะนี้ในส่วนของ กสทช.ก็จะต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ในไม่ช้าก็จะต้องตัดสิน หากออกมาว่าขัด ก็จะต้องแจ้งให้เขาแก้ไขให้ถูกต้อง ก็อาจจะจบลงในขั้นนั้น ถ้าเขายอมถอยด้วยการลด 12 .27% หรือต่ำว่า 10% ก็จบลงในขั้นนี้ แต่ว่า ปัญหาที่ซับซ้อนกว่านั้น คือ ถือแบบไม่ได้เป็นชื่อชัดเจน หรือ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ตรงนี้ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของ กสทช. เพราะกติกาที่มีอยู่ยังไม่ได้ฟันธงชัดเจน ก็คงต้องมาใช้ดุลพินิจอีกครั้ง”

เทพชัย – ที่มีการถามถึงเรื่องครอบงำสื่อ ตรงนี้ถือเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะตอนนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปสื่อ แล้วมามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ผมคิดว่า ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ลองนึกภาพว่า มีกลุ่มทุนที่สามารถที่จะเป็นเจ้าของทีวีที่เป็นช่องข่าวได้ 2 ช่อง ก็คือ สปริงนิวส์ เนชั่นทีวี ซึ่งมีช่องข่าว และยังมีช่อง NOW ที่เป็นช่องบันเทิง แต่ก็มีข่าวสารอยู่ และทางคุณอารักษ์ก็ยอมรับว่ากำลังจะทำเอ็มโอยูกับทีนิวส์ ที่เป็นช่องข่าวทีวีดาวเทียมอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นเราจะเห็นอาณาจักรย่อมๆ ก็ไม่ย่อมล่ะใหญ่พอสมควร เกิดขึ้น นึกภาพถ้ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มันจะมีภาพน่ากลัวขนาดไหนที่จะมีทั้งกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองที่มีอาณาจักรสื่อขนาดนี้อยู่ในมือ ตรงนี้เป็นประเด็นที่สังคมต้องมีคำถามมากเป็นพิเศษ

- มองในแง่กลุ่มทุนหรือเงินทุนกิจการ ทางสื่อสปริงนิวส์และทีนิวส์มีท่าทีตอบรับมีการออกแถลงการณ์

เทพชัย – ตรงนี้ฝ่ายนั้นก็คงมีหตุผลของเขา แต่สปริงนิวส์ ทีนิวส์ และสื่อในเครือเนชั่น อาจจะมีจุดยืนและหลักการทำงานที่แตกต่างกัน เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาอาจจะยอมรับ แต่สื่อเครือเนชั่นอาจจะมองตรงข้ามกันก็ได้ แต่ว่าทั้งหมดนี่จะกลายเป็นสิ่งที่คุณอารักษ์บอกว่าจะเป็นโรงงาน จะเป็นภาพที่สังคมไม่ควรจะสบายใจ

- สิ่งที่คุณอารักษ์บอกว่าเข้าไปลงทุนเห็นศักยภาพจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหาร

เทพชัย – คงมีคำถามแรกที่อยากถามก่อนว่า ในฐานะที่เป็นหุ้นใหญ่ในสปริงนิวส์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำไมคุณอารักษ์และทีมงานเอสแอลซีไม่ไปทุ่มทุนให้ช่องข่าวช่องนี้มีความโดดเด่นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะการที่ลงทุนกว่าพันล้านบาทมาซื้อหุ้นเนชั่น อาจมีคำถามว่า จริงๆ แล้วคุ้มค่ากับเขาแค่ไหนในแง่การขยายบทบาทการทำข่าว แต่ถ้ามองในแง่เชิงกำไรเรื่องหุ้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนคุณอารักษ์ให้คำยืนยันว่า จะไม่เข้ามาแทรกแซงบริหาร ก็เป็นเรื่องที่เราฟังไว้ แต่จะเชื่อหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

-คุณวสันต์ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ มองว่าจะตามเรื่องนี้อย่างไรในประเด็นนี้

วสันต์ – กรรมาธิการปฏิรูปสื่อจะมองในเรื่องปฏิรูปเป็นหลัก จะดูว่าสิ่งแวดล้อมในสังคมสื่อควรจะเป็นอย่างไร และรัฐธรรมนูญที่จะเขียนมาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ การป้องกันการครอบงำสื่อเป็นอย่างไร แต่ก็เป็นเรื่องข้างหน้ามากกว่า ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเฉพาะหน้าทางเครือเนชั่นได้เข้ามาหารืออย่างไม่เป็นทางการ และท่านประธานคือ คุณจุมพล รอดคำดี ได้รับเรื่องไว้ ก็จะหารือกันว่า เป็นกรณีศึกษาว่า ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้จะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือกรณีนี้จะไปกระทบเรื่องการครอบงำและมีผลต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชนอย่างไรก็รับเรื่องไว้เพื่อจะไปดูกัน

-พิจารณาแล้วมีแนวโน้มมีการแทรกแซงครอบงำการนำเสนอข่าวสารต่อประชาชนหรือไม่

วสันต์ – ตอนนี้ยังฟันธงไม่ได้ แต่ก็มีความห่วงใยว่า ถ้าสื่อถูกครอบครองโดยนายทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในปริมาณที่มากและเข้าถึงประชาชนจำนวนมาก ก็สามารถกำหนดทิศทางความคิดความเชื่อของคนได้ อันนี้มีผลกระทบ จริงๆ แล้วในระบอบประชาธิปไตยต้องการความหลากหลาย ประชาชนควรมีทางเลือกรับรู้ข่าวสาร เราไม่อยากเห็นสื่อกระจุกตัว แล้วก็มีการผูกขาด แล้วมีผลต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

-คำว่าผูกขาดในวงการสื่อมีความสำคัญ ทาง กสทช.มีมาตรการป้องกันและเข้าข่ายหรือไม่

สุภิญญา – เกณฑ์ทั้งหมดหลายอย่างที่เราออก พยายามมาก่อนการประมูล เราก็อิงกับหลักการคิดนี้ เราทำ 2 ขั้น วางไว้ก่อนรับใบอนุญาต และมีประกาศอีก 2 ฉบับ ที่มากำกับรายละเอียดเรื่องครอบงำเรื่องกิจการการแข่งขัน เช่น ต้องไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ กำหนดว่า หนึ่งบริษัทต้องประมูลได้ไม่เกิน 3 ช่อง คนที่ประมูลช่องไฮเดฟ (ความละเอียดสูง) ห้ามประมูลช่องข่าว และประมูลช่องข่าวต้อง 7 คน ไม่ได้มาร่วมกัน คือให้มีหลักประกันมี 7 เจ้าของ นี่คือเกณฑ์ที่วางไว้ป้องกันการผูกขาดและครอบงำกิจการ

ประเด็นก็คือ กสทช.ต้องยึดเกณฑ์นี้ให้สม่ำเสมอ นี่คือพื้นฐาน แต่ว่าก็มีความสลับสับซ้อนมากกว่านั้น อย่างในกรณีที่มีคนมาซื้อหุ้น สมมุติว่าถ้าไม่ใช่เอสแอลซีที่ถือหุ้นหลักในสปริงนิวส์ ถ้าเป็นบริษัทขายเต้าฮวยแต่มีเงินมาก ดังนั้นตรงนี้ซับซ้อนมากขึ้นสำหรับ กสทช. เพราะอาจจะไม่แปลกอะไร เขาอาจจะเปลี่ยนทุน แต่ว่าจะมีประกาศออกมาอีกฉบับมาดูอีกที สำหรับเอสแอลซีมีประกาศอยู่แล้ว กสทช.ต้องใช้ตรงนี้ ก็จะแก้ปัญหาขั้นต้นได้ แต่ถ้าสถานการณ์ซับซ้อนขึ้นก็ต้องมีประกาศหรือลงรายละเอียดมากขึ้นในอนาคตเพื่อจะมาแก้ปัญหา

เทพชัย – ผมว่าการดูเจตนาก็ต้องดูที่การกระทำด้วย สมมุติการที่เอสแอลซีมีเจตนาที่เข้ามาถือหุ้นเนชั่น เพื่อทำสิ่งที่ต้องการให้เกิดหลอมรวมกันระดับหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นในสัดส่วนมากขนาดนี้ก็ได้ เพราะในวงการหุ้น มันชัดเจนมาก ใครก็ตามที่เข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วนที่สูงขนาดนี้มันมีนัยสำคัญมาก ก็คือสามารถเปิดทางให้เขามีบทบาทในการเข้าไปอยู่ในกรรมการบริหารได้ เพราะอยู่ในสัดส่วนสูงพอที่เขาจะเรียกร้องถ้าเป็นไปตามที่เขาแจ้งเรา ตรงนี้เป็นคำตอบในตัวเอง ที่บอกว่า จะไม่เข้ามาแทรกแซงก้าวก่าย แต่สิ่งที่เขาทำเป็นสัญญาณบอกชัดเจนว่าเขาอยู่ในฐานะที่ทำได้

-จากกรณีที่เนชั่นบอกให้ขายหุ้นออกไป และจะหาผู้ซื้อให้ด้วย ซึ่งเอสแอลซีบอกว่าหวังผลอนาคตการเข้ามาถือหุ้น หากได้ราคาเหมาะสมก็พร้อมจะขาย ตรงนี้ไม่เชื่อใจหรือไม่ (เปิดคลิปสัมภาษณ์นายอารักษ์)

เทพชัย – แน่นอน เนชั่นสะสมชื่อเสียงและผลงานมากพอและอนาคตทุกคนก็มองว่าคงดีแน่ การซื้อหุ้นคืนก็พิสูจน์ความจริงใจ ถ้าต้องการเข้ามามีบทบาทเพียงต้องการถือหุ้นทำกำไร หรือเพื่อถึงระดับความสัมพันธ์ทำงานร่วมมือกันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องถือหุ้นในสัดส่วนสูงขนาดนี้ การขายหุ้นออกก็เป็นการแสดงความจริงใจว่าโอเคไม่มีเจตนาเข้ามาแทรกแซง หรือต้องการจะมีบทบาทที่เกินเลยพอดี

-แนวทางแก้ปัญหากรณีนี้คืออย่างไร

เทพชัย – ชัดเจนมาก สัญญาณที่เราส่งไปเอสแอลซีมานั่งคุยกันดูว่า เขาจะสามารถขายหุ้นที่ถือในมือออกไปในระดับที่ให้เกิดความสบายใจว่าเขาไม่มีเจตนาเข้ามาแทรกแซงมาทำอะไรที่เราเป็นห่วง เพราะต้องมองย้อนไปถึงพฤติกรรมของคนบางกลุ่มในตลาดหุ้น ที่มักจะใช้วิธีการเข้าข่ายแบบนี้เกิดข้อสงสัยว่าเจตนาที่แท้จริงคืออะไร

-กระบวนการตรวจสอบนอมินีควรจะเป็นอย่างไร หรือจะมองเพียงว่าเป็นการลงทุนตามกลไกตลาดหุ้นที่อาจเกิดขึ้นทั่วไปในอนาคต

สุภิญญา – จริงๆ มีประกาศอีกฉบับหนึ่งที่กำลังจะออกมา รอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ กสทช.เข้ามาใช้ดุลพินิจในการกำกับได้ ถ้าเห็นว่ามีการเข้ามาลงทุนผิดปกติในลักษณะครอบงำกิจการ แต่ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ทันทีว่าผิดหรือถูกอย่างไร เพราะจะต้องมีการสอบสวน ซึ่งขั้นตอนนี้จะซับซ้อนขึ้น แต่ก็มีประกาศที่ให้อำนาจ กสทช.ไว้แล้วที่จะลงมาดูเรื่องนี้ บนฐานของ มาตรา 31, 32, 27 ในอีกฉบับที่อ้างไว้ตอนแรก แต่วันนี้ที่เรากำลังยืนยันและพูดถึงกติกาพื้นฐานที่ยังไม่ซับซ้อนก่อน ซึ่ง กสทช.ก็ยังไม่ฟันธง แต่จริงๆ ควรจะฟันธง เพราะถ้าเราปล่อยเรื่องนี้ไปว่า ไม่ต้องเอาเกณฑ์การประมูลมาใช้กำกับก่อนการประมูลทีวี จะทำให้ภาพรวมทีวีดิจิทัลรวนไปหมดเลย เพราะนี่เป็นเคสแรก ถ้าต่อไปช่องข่าว ช่องเอชดี ช่องวาไรตี้ มาถือหุ้นข้ามกันเองก็จะกลายเป็นว่ามันไม่ใช่เป็น 17 บริษัทจริงๆ ก็จะมีคนถามกันเยอะว่า ทำไม กสทช.ให้ประมูลเยอะ มีตั้ง 48 ช่อง

ภาพรวมมีธุรกิจตั้ง 24 เพราะเราก็คาดการณ์เหมือนกันว่า อนาคตอาจจะมีการหลอมรวม แต่เราก็ตั้งหลักไว้ว่า การถือหุ้นก็ต้องมีเกณฑ์ขนาดไหน เพราะสุดท้ายก็มีหลักประกันว่า มีช่องข่าว 7 ช่อง ช่องวาไรตี้ ที่จะไม่ใช่เป็นเจ้าของที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ถ้าเราไม่ฟันธงเกมนี้ว่ามันผิด มันก็จะทำให้สิ่งที่เราออกแบบมาเรื่องทีวีดิจิทัล มันผิดไปหมดเลย ฉะนั้นสิ่งที่เราเสนอคือ ช่องสปริงนิวส์ ตอนนี้ควรไปบอกผู้ถือหุ้นให้ถอนหุ้นออกมาให้เหลือต่ำกว่า 10% ปัญหาก็จะจบ แต่ถ้าไม่จบ กสทช.ก็จะไม่จบเหมือนกัน ต้องต่อสู้กัน และอาจลากยากถึงโรงถึงศาลได้ แต่ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของอุตสาหกรรม วีดิจิทัล เพราะจะทำให้ปัญหาทีวีดิจิทัล ซึ่งหนักอยู่แล้ว หนักหน่วงขึ้นไปอีก ขณะที่ กสทช.ก็มีปัญหาของตัวเองด้วย ถ้าเราไม่ปกป้องหลักการของเรา เราก็จะอยู่ลำบากด้วย ฉะนั้นจึงเป็นเดิมพันในหลายๆ เรื่อง ทั้งการปฏิรูปสื่อ และอนาคตของ กสทช.และอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลที่จะไม่รวนไปในอนาคตด้วย

-คุณวสันต์ บทเรียนที่คนไทยจะต้องตื่นตัวกับกรณีนี้อย่างไร

วสันต์ – ผู้รับสื่อควรติดตาม และตั้งคำถามว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีผลต่อพวกเขาอย่างไร กรณีการครอบงำหรือการแทรกแซงสื่อนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นทั้งจากอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน เพราะเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน ถ้ามีการแทรกแซงจะไปกระทบกับสิทธิการรับรู้ของเขา ส่วนเรื่องการผูกขาด หรือครอบงำ ในปริมาณเท่าไรถึงจะเป็นอันตรายนั้น ต้องมีเกณฑ์ มีรายละเอียดออกมา เบื้องต้นคิดว่า ที่ กสทช.ออกมาก็น่าจะถือว่าเป็นเกณฑ์หนึ่งในการวัด

-คุณเทพชัย สัญญาณเตือนที่เกิดขึ้นกับวงการทีวีดิจิทัลโดยรวม

เทพชัย – ต้องขอย้ำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของสื่อคือความน่าเชื่อถือที่ไม่สามารถซื้อมาได้ หรือเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ความน่าเชื่อถือต้องสั่งสมมาหลายๆ ปี และเชื่อว่าสื่อเครือเนชั่นก็ผ่านกระบวนการเหล่านี้มาจนกระทั่งสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นใครที่คิดว่าเงินที่ซื้อมาจะได้ความน่าเชื่อถือนี้ไปด้วย คงจะคิดผิดแน่ เพราะฉะนั้นสัญญาณเตือนที่สำคัญ สังคมจะต้องตื่นตัวเรื่องนี้ด้วย เพราะว่าหน้าที่สำคัญของสื่อในการเป็นเวทีสาธารณะคือความเป็นกลาง ไม่มีนายทุนหรือการเมืองมาครอบงำ ถ้าคนที่เป็นทุนเข้ามาครอบงำแล้วมองสื่อเป็นสินค้าอย่างหนึ่งและยิ่งมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงด้วย จะเป็นอันตรายต่อสังคมมาก และสังคมไม่ควรอยู่เฉยๆ ที่พูดมาไม่ใช่เพราะเป็นเนชั่น แต่เป็นสัญญาณที่ส่งไปยังทุกสื่อในประเทศไทย เพราะถ้าเกิดขึ้นกับเนชั่นได้ ก็หมายความว่า มันก็สามารถเกิดขึ้นกับสื่ออื่นทั้งหมดในประเทศไทยด้วย ก็คือ ใครที่มีเงิน ใครที่มีอำนาจทางการเมือง ก็สามารถครอบงำ สามารถซื้อสื่อไปเป็นพวก เป็นเครื่องมือได้ ตรงนี้ต่างหากที่เห็นว่าเป็นสัญญาณที่สังคมควรตื่นตัวและควรรับรู้ด้วย

สุดท้าย น.ส.ณัฐฐา กล่าวปิดรายการไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่กำลังเกิดขึ้น กรณีเอสแอลซีเข้ามาซื้อหุ้นของเอ็นเอ็มจี ถือหุ้นสปริงนิวส์ และเตรียมทำเอ็มโอยูกับทีนิวส์ และถือหุ้นของจีเอ็มเอ็ม เหล่านี้ล้วนเป็นสื่อในวงการทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในกรณีศึกษาที่กำลังเกิดขึ้น มาตรการกำกับดูแล อะไรจะเป็นตัวตัดสิน ตลาดหุ้น ตลาดทุน หรือว่าจริยธรรม การทำงานของสื่อมวลชนและความน่าเชื่อถือ เป็นคำตอบที่ทุกคนจะต้องตื่นตัว…

ขอบคุณที่มาเวบคมชัดลึก