ไม่จบ! ช่อง 7 ยื่น ป.ป.ช. สอบ 3 กสท. อนุมัติให้ช่อง 3 ออกคู่ขนานดิจิทัล

ไม่จบ! ช่อง 7 ยื่น ป.ป.ช. สอบ 3 กสท. อนุมัติให้ช่อง 3 ออกคู่ขนานดิจิทัล

updated: 04 ธ.ค. 2557
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าปัญหาการออกอากาศของช่อง 3 ระบบแอนะล็อก ในระบบทีวีดิจิทัล หรือ “ช่อง 3 จอดำ”ยังไม่จบ  แม้ว่าก่อนหน้านี้ศาลปกครองจะไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์จำกัด (ช่อง 3 ) ที่ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)  และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.)

จนทำให้ในที่สุดบอร์ด กสท. เสียงข้างมาก ได้แก่ พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ  นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ และ นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์  อนุมัติให้ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัดผู้รับใบอนุญาตให้บริการช่องดิจิทัล HD 33 นำรายการของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มาออกอากาศคู่ขนานในช่องของตัวเองได้โดยไม่ถือว่าเข้าข่ายไม่ได้ประกอบกิจการด้วยตัวเอง

แต่ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.)มีมติรับคำร้อง ของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด(สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7) ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษ3 กสท. ที่ลงมติดังกล่าว

ในกรณีนี้ นางสาวสุภิญญา  กลางณรงค์ชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ว่า  เพิ่งเห็นข่าวช่อง7 ฟ้อง แต่ทีวีดิจิทัลมีปัญหาเยอะ  มีการฟ้องร้องกันไปมา ในอุตสาหกรรมไม่มีเอกภาพองค์กรกำกับก็เสียงคานกันตลอด มองมุมบวกคือมันมี ′การแข่งขัน′ตามทฤษฎีแล้ว  ย่อมดีกว่ากิจการที่มีการผูกขาดหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลคือกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรม อาจจะมีต้องมีปัญหาอีกระยะหนึ่ง

ส่วนกรณีที่ช่อง 7 ยื่นฟ้องว่า การอนุญาตให้ช่อง 3ออกอากาศคู่ขนานได้ผิดกฎหมายเพราะช่องแอนะล็อกกับช่องดิจิทัลมีผู้ถือใบอนุญาตเป็นคนละนิติบุคคลกันนั้น  นางสาวสุภิญญา ชี้แจงว่า กรณี “คนละนิติบุคคล”(แต่คือเจ้าของเดียวกัน) ก็คล้ายๆตอนกรณี กสทช.จะตัดสิทธิ์เครือช่อง7เข้าประมูล ถ้่ามีบริษัทของคุณสุรางค์เปรมปรีดิ์ เข้ามาประมูลด้วย เช่นเดียวกัน ถ้า บ. บางกอกฯ เข้าแข่งประมูลกับ BECMultimedia ก็จะโดนตัดสิทธิ์ทั้งคู่เพราะถือว่าเป็นเจ้าของเดียวกัน (แม้คนละนิติบุคคล)

“ชื่อนิติบุคคลไม่สำคัญเท่าการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของหรือผู้มีอำนาจจริงตามกฏหมายด้วย เพราะถ้าตีความแบบศรีธนญชัยคือจะเปิดโอกาสให้เกิดนอมินี”

สำหรับการฟ้องต่อ ป.ป.ช. ผลที่อาจเกิด คือ ถ้า กสท.ถูกชี้มูลก็อาจต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ และ มีผลต่อการออกคู่ขนานอาจเป็นโมฆะไป  ภาคแรกต้องสู้เพื่อทำให้ทุกช่องอนาล็อกออกคู่ขนานเหมือนกันภาคสองต้องสู้ต่อเพื่อทำให้การออกคู่ขนานนั้นไม่เป็นโมฆะไป

สาระสำคัญในคำร้องของช่อง 7 ระบุว่า ยื่นฟ้อง 3 กสท. เนื่องจากผู้ร้องเห็นว่าการกระทำของกรรมการ กสท.ทั้งสามคน จงใจฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อาทิ พ.ร.บ. กสทช.  และพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ระบุให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการต้องประกอบกิจการด้วยตัวเอง  และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐทำให้รัฐขาดรายได้ จากค่าธรรมเนียมการประมูลมากกว่า 3,000ล้านบาท และยังเป็นการกระทำ ให้ผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลรายอื่น ๆ ได้รับความเสียหายด้วย

โดยช่อง 7 ระบุในคำร้องว่า การจะอนุญาตให้ช่อง 3แอนะล็อกมาออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิทัลได้ต้องมีนิติบุคคลเดียวกันเป็นผู้ถือใบอนุญาต เช่นในกรณีของ ช่อง 7 และ ช่อง 9อสมทแต่กรณีช่อง 3 อนาล็อก และช่อง 33 HD ผู้รับอนุญาตเป็นคนละนิติบุคคลกัน  เท่ากับว่ากสท. อนุญาตให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ช่อง 3 แอนะล็อก) เข้ามาประกอบกิจการในระบบดิจิทัลได้โดยไม่ต้องเข้าประมูลและไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมกว่า 3,000 ล้านบาทให้รัฐ  ซึ่ง กสท. ไม่มีอำนาจและขัดต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และผูกขาดในการแข่งขันในกิจการทีวีดิจิทัล

สำหรับขั้นตอนจากนี้ จะเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริง  เพื่อส่งให้ที่ประชุม ป.ป.ช. ชุดใหญ่พิจารณาว่าคำร้องนี้มีมูลสมควรรับไว้ไต่สวนหรือไม่  หากไม่มีมูลคำร้องนี้ถือว่าตกไป  แต่ถ้าเห็นว่ามีมูลจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณา  และตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป..

ขอบคุณที่มา : ประชาชาติธุรกิจ