อนุฯแข่งขันเสนอ กสท. ใช้มาตรการทางปกครองแก่โครงข่ายล่าช้า ส่วน 4 MUX ควรช่วยแก้ปัญหาร่วมกัน
วันนี้(29 พ.ย. 57) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 1 ธ.ค. นี้ การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 52/2557 มีวาระน่าจับตา ดังนี้ ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการส่งเสริมและการกำกับแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ได้เสนอความเห็นและแนวทางดำเนินการต่อกรณีความล่าช้าในการติดตั้งโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลบางราย เพื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครองและเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งแก่อุตสาหกรรมโทรทัศน์ ผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่ใช้โครงข่ายดังกล่าว รวมถึงประชาชนผู้ให้บริการ กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบควรดำเนินมาตรการบังคับทางปกครองด้วยการแจ้งเตือน กำหนดค่าปรับทางปกครอง พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต ตามขั้นตอนและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย มิเช่นนั้น อาจเป็นเหตุแห่งการฟ้องร้องอันเนื่องมาจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามบทบัญญัติมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้ และเพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายและผลกระทบต่อการแข่งขันในการประกอบกิจการโทรทัศฯภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ คณะอนุฯได้เสนอให้มีการพิจารณาแนวทางการเจรจาให้นำอุปกรณ์ของผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายรายอื่นที่มีความพร้อม มาให้บริการก่อนเป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะอนุฯ ที่จะมีการปรับหรือลงโทษกับโครงข่ายที่ล่าช้าที่คาดว่าจะช้าไปอีกปีกว่า และเห็นควรว่าโครงข่ายทั้ง 4 ราย ที่มีความพร้อมทางอุปกรณ์ควรจะเข้ามาช่วยเหลือ โดยหวังว่า กสท. จะมีเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาที่ตรงกัน รวมทั้งในวันจันทร์ที่ 1 ธ.ค. นี้ ช่วงบ่ายจะมีการประชุมคณะทำงานติดตามคุณภาพสัญญาณ พื้นที่ครอบคลุมและการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลด้วย
วาระอื่นน่าสนใจติดตามได้แก่ การขอขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจเรื่อง ความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล และการขอทดลองการออกอากาศโทรทัศน์ประเภทสาธารณะในช่องที่ 4(รายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว High-Definition – HD) ของ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งการพิจารณา 4 ร่างประกาศที่ค้างไว้จากครั้งที่แล้ว ทั้งร่างฯเก่า เรียงลำดับหมายเลขช่อง ร่างฯประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. … และ ร่างรวมกลุ่มวิชาชีพสื่อ หรือ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …
“แม้ร่างฯฉบับนี้ จะส่งเสริมการรวมกลุ่มของสื่อก็ตาม แต่เห็นว่าองค์กรสื่อได้คัดค้านร่างฯฉบับนี้ ด้วยเหตุผลบางประการ รวมทั้ง ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงแก้ไขเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังไม่รู้ว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม กสทช. น่าจะเป็นตัวกลางหาจุดที่ลงตัวระหว่างเสรีภาพและความรับผิดชอบ ไม่อยากให้กลับไปสู่ยุคที่จะมีอะไรมาเป็นพันธนาการสื่อมากเกินไป การส่งเสริมให้สื่อรวมกลุ่มและกำกับดูแลตนเองเป็นทางออก แต่ทั้งนี้ก็ต้องหารือกันอีกทีว่าผลสรุปโมเดลการกำกับดูแลกันเองจะเป็นอย่างไร” สุภิญญากล่าว
ส่วนอีก 2 ร่างประกาศ ได้แก่ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … และ (ร่าง) เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ ซึ่งร่างฉบับนี้จะมีแนวทางบังคับชัดเจนให้กับทีวีดิจิตอล ในการอำนวยความสะดวกหรือมีรายการที่เหมาะสมกับคนพิการและเข้าถึงรายการอื่น อาทิ ภาษามือ ตัวอักษรวิ่ง(closed caption) แบบเลือกเปิดปิดได้ ซึ่งยังมีประเด็นว่า ร่างฯฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ แม้มีการเสนอเสนอไว้ 2 ปี แต่ตนคิดว่าควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้แบบขั้นบันได เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอลด้วย… ส่วนผลการประชุมเป็นอย่างไรติดตามได้วันจันทร์นี้…