กสทช.ปิดจุดอ่อนทีวีดิจิทัล เร่งแจกคูปอง “ชุมชนแออัด-คอนโดฯ”


กสทช.ปิดจุดอ่อนทีวีดิจิทัล เร่งแจกคูปอง “ชุมชนแออัด-คอนโดฯ”

 

 

กสทช.ปิดจุดอ่อนทีวีดิจิทัล เร่งแจกคูปอง “ชุมชนแออัด-คอนโดฯ”

Prev

1 of 1

Next

คลิกภาพเพื่อขยาย

updated: 13 พ.ย. 2557 เวลา 10:00:26 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เริ่มแจกกันไปแล้วสำหรับคูปองส่วนลดมูลค่า 690 บาท สำหรับการนำไปซื้อกล่องรับสัญญาณ (เซตท็อปบ็อกซ์) และโทรทัศน์แบบรับสัญญาณทีวีดิจิทัลได้ในตัว (iDTV) โดยเฟสแรกแจกใน 21 จังหวัดนำร่องกว่า 4.6 ล้านครัวเรือนแต่ปมปัญหายังมีให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามแก้อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดการแจกคูปองเฟส 2 ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ ต้องเปลี่ยนแผนเมื่อเลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ได้เรียกประชุมเจ้าของโครงข่ายทีวีดิจิทัลและเจ้าของช่อง พบว่า 21 จังหวัด 296 อำเภอที่กำหนดว่าจะแจกเป็นเฟส 2 มีเพียง 100 อำเภอเท่านั้นที่สัญญาณทีวีดิจิทัลครอบคลุมเกิน 80% ทุกฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่าควรจะแจกคูปองเฟส 2 เฉพาะ 100 อำเภอแรก

ส่วนที่เหลือจะทยอยแจกภายในปีนี้ ซึ่ง กสทช. จะต้องเร่งชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงรวบรวมข้อมูลจากกรมการปกครองเพื่อสรุปตัวเลขการแจกคูปองในแต่ละครั้ง

ขณะที่ยอดการนำคูปองเฟสแรกไปใช้สิทธิแล้วกว่า 800,000 ใบ แต่เนื่องจากการรับชมทีวีดิจิทัลจำเป็นต้องต่อสายอากาศเข้ากับอุปกรณ์เซตท็อปบ็อกซ์และ iDTV จึงมีปัญหาการรับชมในกลุ่มผู้พักอาศัยประเภทอาคารชุด คอนโดมิเนียม ที่แต่ละครัวเรือนไม่สามารถติดตั้งเสา “ก้างปลา” ได้เอง จน กสทช. ต้องประชุมกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ติดเสาในคอนโดฯไม่ยาก


“ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์” 
ผู้แทนจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า ปกติอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมจะใช้ระบบเสาอากาศหรือจานรับสัญญาณรวม แล้วค่อยเดินสายภายในเพื่อส่งสัญญาณทีวี ไม่ว่าจะเป็นทีวีระบบแอนะล็อก ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี หรือแม้แต่ IPTV (ทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต) เข้าไปถึงแต่ละห้องในอาคารอยู่แล้ว

เนื่องจากการให้ผู้อาศัยแต่ละยูนิตติดตั้งเสาอากาศเองจะผิดกฎด้านความปลอดภัยของอาคาร ทั้งยังรับประกันไม่ได้ว่าสัญญาณจะรับได้ครบถ้วน การใช้ระบบสายอากาศรวมจึงเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่แต่ละอาคารต้องมี

เมื่อมีการเปลี่ยนการแพร่ภาพโทรทัศน์ภาคพื้นดินโดยใช้ระบบดิจิทัลแทน การติดตั้งเสาอากาศก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิม ยิ่งถ้ามีเสาอากาศของทีวีแอนะล็อกในระบบ UHF อยู่แล้ว แทบจะไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

“เช็กง่าย ๆ ว่าเสาเดิมรองรับย่านความถี่ UHF หรือไม่ คือถ้าดูช่องไทยพีบีเอสได้ ก็แค่เดินสายอาคารภายในลงมาโดยไม่ต้องส่งผ่านเครื่องแปลงสัญญาณเหมือนในระบบดาวเทียม แล้วเพิ่มเครื่องขยายสัญญาณภายในเพื่อรองรับการรับชมในอาคารกรณีที่เป็นตึก ขนาดใหญ่เท่านั้น ลูกบ้านแต่ละห้องก็นำปลายสายอากาศรวมมาเสียบเข้ากับกล่องเซตท็อปบ็อกซ์ทีวี ดิจิทัล แล้วต่อกล่องเข้ากับทีวีด้วยสาย AV 3 สี หรือสาย HDMI ได้เลย”


ประสานนิติบุคคลอาคารชุด


“สุภิญญา กลางณรงค์”
 กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ผู้พัฒนาโครงการอาคารชุดคอนโดมิเนียมรายใหญ่แจ้งว่า ได้จัดให้มีการตั้งเสาสัญญาณและเดินสายภายในอาคารเพื่อรองรับทีวีดิจิทัลในอาคารใหม่แล้ว

ส่วนอาคารรุ่นเก่าที่มีนิติบุคคลอาคารชุดเข้ามารับช่วงดูแลสาธารณูปโภคส่วนกลางแล้วนั้น ทางสำนักงาน กสทช.เตรียมประสานความร่วมมือไปยังกรมที่ดิน ในการทำความร่วมมือ (MOU) ขอให้นิติบุคคลอาคารชุดให้ความร่วมมือในการวางระบบรับสัญญาณทีวีดิจิทัล ภายในอาคารเพิ่มเติมซึ่งอาจจะมีต้นทุนอยู่ในระดับหลักหมื่นถึงแสนบาท ขึ้นอยู่กับขนาดอาคาร ซึ่ง กสทช. เข้าไปให้ข้อมูลกับนิติบุคคลเหล่านั้นด้วย

“จะขอความร่วมมือกับกรมที่ดิน ในการขอความร่วมมือบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในการขออนุญาตการสร้าง โดยอาจจะให้ทางบริษัทบรรจุเรื่องการตั้งเสารับสัญญาณดิจิทัลไว้ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)”

รวมถึงหารือกับอาคารประเภทหอพัก อพาร์ตเมนต์ ห้องเช่า โรงแรมและโรงพยาบาล โดยคาดว่าทางสำนักงาน กสทช.จะรวบรวมรายละเอียดเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสท.ได้ 17 พ.ย.นี้ ก่อนเสนอให้บอร์ด กสทช.พิจารณาอีกครั้ง

เร่งหาวิธีแจกกลุ่มตกสำรวจ

ขณะเดียวกันต้องหาวิธีสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลให้กับผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับคูปอง โดยเฉพาะกรณีที่เป็นบ้านเช่า แรงงานอพยพ กลุ่มทะเบียนบ้านชั่วคราว ซึ่งจะต้องหาฐานข้อมูลจำนวนที่ถูกต้องให้ได้ก่อน โดยต้องร่วมกันทั้งกรมการปกครอง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งภาคประชาสังคมในการสำรวจหาข้อมูล

วันที่ 12 พ.ย.นี้ บอร์ด กสทช. จะประชุมเกี่ยวกับการแจกคูปองให้กับกลุ่มที่มีทะเบียนบ้าน แต่ไม่มีชื่อผู้เป็นเจ้าบ้าน ซึ่งกรมการปกครองระบุว่ามีราว 2.3 ล้านครัวเรือน กลุ่มที่มีทะเบียนบ้านชั่วคราว (สร้างบ้านบนที่ดินของผู้อื่น) มีอยู่ราว 79,000 ครัวเรือนก่อนเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา

แต่ในกลุ่มที่กรมการปกครองระบุว่าเป็นบ้านว่าง อีก 6.9 ล้านครัวเรือน คือมีแต่ทะเบียนบ้าน แต่ไม่มีชื่อผู้อยู่อาศัย อาทิ บ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ปล่อยให้เช่า ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าสิทธิการใช้คูปองควรเป็นของใคร ระหว่างเจ้าของบ้านหรือผู้อยู่อาศัยจริง

“กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ชุมชนแออัด อาจจะมีโครงการพิเศษ เนื่องจากไม่มีข้อมูลจากกรมการปกครอง จึงต้องหารือร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในการหาวิธีการแจกคูปอง เช่น อาจจะหาแนวทางให้บริษัทเอกชนร่วมประมูลเพื่อแจกกล่องดิจิทัลให้กับประชาชนกลุ่มนี้แทน”


NGOs พร้อมสนับสนุนเต็มที่


“นพพรรณ พรหมศรี”
 เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยประเทศไทย กล่าวว่า กสทช. ต้องชัดเจนว่าจะจัดให้ประชาชนกลุ่มชุมชนแออัดมีสถานะใด

“ถ้าจะสนับสนุน ก็ต้องเริ่มกระบวนการสำรวจเพื่อจัดเก็บข้อมูลให้ชัดเจน ซึ่งภาคประชาชนพร้อมร่วมกับหน่วยงานรัฐอย่างการเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อช่วยในการยืนยันตัวตน ให้มั่นใจว่าข้อมูลนั้นจะไม่มีการมั่วขึ้น

ด้าน “ชาลี ลอยสูง” ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่ากลุ่มแรงงานอพยพ และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยตามชุมชนแออัด ขาดหลักฐานในการยืนยันตัวตน จึงต้องวางมาตรการรวมถึงขั้นตอนการสำรวจให้ชัดเจนก่อนว่าใครจะเป็นตัวแทนรับสิทธิ์ และใช้เอกสารใดยืนยันเพื่อป้องกันปัญหา

แลกกล่องวุ่นไม่เลิก

ส่วนปัญหาการนำคูปองที่แจกเฟสแรกไปใช้สิทธิ ยังพบปัญหาที่มีผู้นำชุมชนหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นกว้านคูปองจากชาวบ้าน กินค่าหัวคิวจากผู้ผลิตเซตท็อปบ็อกซ์ ไปจนถึงกรณีที่นำคูปองดิจิทัลไปอิงกับการเมือง โดยขึ้นป้ายโฆษณาใช้ที่ทำการพรรคการเมืองประจำจังหวัด เป็นจุดแลกคูปองดิจิทัล

ขณะที่การนำคูปองที่ประชาชนใช้สิทธิแล้วไป ขึ้นเงินกับ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เปิดเผยว่า มีคูปองราว 100,000 ใบ ที่มีเอกสารประกอบการไม่ครบ หรือไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ กสทช. ซึ่งเป็นปัญหาในการรับเงินสนับสนุนจาก กสทช.

 

ขอบคุณที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์