จับตาวาระ กสท.
: สุภิญญาฯ ห่วงผังรายการช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ยังไม่เป็นตามเจตนารมณ์
พร้อมติดตามผลการยื่นอุทธรณ์ของบริษัทซีทีเอชกรณีคำสั่งให้ระงับ
การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 13 ต.ค.นี้ ในการประชุม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ชวนจับตาวาระ การอนุมัติผังรายการหลักของช่อง 3 ในระบบความคมชัดปกติ และช่อง 3 Family ที่ส่งเข้ามาให้กรรมการพิจารณาอีกครั้งหลังจากที่มีการแก้ไขปรับปรุงผังตามข้อเสนอแนะของกรรมการแล้ว และเป็นที่น่าจับตาช่องเด็ก เยาวชนและครอบครัวทั้ง 3 ช่อง ขณะนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติผังรายการจากกรรมการเนื่องจากมีการวางผังที่ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการประกอบกิจการประเภทนี้ ซึ่งในเงื่อนไขใบอนุญาต ผู้ประกอบการจะต้องนำเสนอรายการส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษาสาขาวิทยาการต่างๆ รวมถึงรายการสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน หรือส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกในครอบครัว โดยที่เนื้อหารายการและเวลาการออกอากาศรายการจะต้องมีความปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน และต้องไม่มีเนื้อหาที่แสดงออกถึงความรุนแรง ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย หรือใช้ภาษาที่หยาบคาย และคำนึงถึงความเท่าเทียมและโอกาสของเด็ก และเยาวชนทุกกลุ่มในสังคม ซึ่งเร็วๆ นี้ สำนักงาน กสทช. จะเชิญผู้รับใบอนุญาตมาหารือเพื่อชี้แจงแนวทางการทำผังรายการและเนื้อหารายการที่เหมาะสมกับเด็ก เยาวชนและครอบครัว
“ ในหลายๆ ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของเด็ก และเยาวชน จึงมีโทรทัศน์ที่เป็นช่องรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัวโดยเฉพาะ สำหรับประเทศไทยนับเป็นความก้าวหน้าของฟรีทีวี ที่มีช่องรายการดังกล่าวเป็นการเฉพาะ แต่ทั้ง 3 ช่องหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัวเสนอผังรายการเข้ามามีแต่รายการระดับความเหมาะสม “ท.” ทั้งหมด ไม่มีรายการสำหรับเด็กที่จัดระดับความเหมาะสม “ด.” หรือ “ป.” จึงต้องหารือเพื่อปรับปรุงอีกครั้ง อย่างไรก็ตามส่วนตัวร่วมกับผู้แทนองค์กรเด็ก เยาวชน จะไปเยี่ยมช่อง 9 Family เพื่อร่วมกันหาแนวทางพัฒนาและสร้างสรรค์รายการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการมีช่องรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัวในวันอังคารนี้ด้วย ” นางสาวสุภิญญากล่าว
นอกจากนี้ยังมีวาระที่บริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด ขออุทธรณ์คำสั่ง กสท. กรณีให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยผู้ร้องใช้บริการจานรับสัญญาณดาวเทียมของบริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด แบบบริการเหมาจ่าย ๑๐ เดือน ดูได้ ๑๒ เดือน แต่ถูกตัดสัญญาณก่อนครบกำหนดสัญญาโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาฯ พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๓๐ กำหนดว่า “…ผู้ให้บริการมีสิทธิระงับการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกเป็นการชั่วคราวต่อผู้ใช้บริการก็ได้ โดยแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งระบุเหตุในการใช้สิทธิดังกล่าวให้แก่ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่กรณี ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาสองคราวติดต่อกัน กรณีดังกล่าวพบว่าเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคอาจพบได้ เพราะมีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจน ดังนั้นกรณีอุทธรณ์คำสั่งของบริษัทซีทีเอช ครั้งนี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคยืนความผิดตามมาตรา 31 เช่นเดิม และเสนอเข้าพิจารณาใน กสท. วันจันทร์นี้ด้วย และฝากเตือนผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ให้เคร่งครัดในการดำเนินการตามมาตรฐานสัญญา หากผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเอาเปรียบขอให้แจ้งมายังสำนักงาน กสทช. โทร. 1200 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สำหรับเรื่องร้องเรียนที่เข้ามายัง กสท. จำนวนมากในช่วงนี้เป็นเรื่องของกล่องดาวเทียมรุ่นเก่าบางรุ่นที่ไม่สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ ต้องติดอุปกรณ์บางตัวเพิ่มจึงจะสามารถรับชมได้ตามปกติ ทั้งนี้บริษัทพยายามแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคแต่ละรายแล้ว แต่ยังคงมีเรื่องร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ จึงจะเชิญผู้ประกอบการกล่องดาวเทียมมาหารือแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากการรับชมโทรทัศน์
วาระที่อื่นๆ ที่น่าจับตา ได้แก่ การขอผ่อนผันการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปของเคเบิลท้องถิ่นที่เป็นระบบอนาล็อค เนื่องจากไม่สามารถนำพาสัญญาณทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง ให้ประชาชนได้รับชมได้เนื่องจากข้อจำกัดทางเทคนิค และสำนักงานฯ ได้เสนอ กสท. ให้ความเห็นชอบรายงานผลการศึกษาแผนการเริ่มระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลด้วย .