สุภิญญา เปิด!ความเห็นและคำสงวน โครงการคูปองแลกกล่องดิจิตอลทีวี
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ได้สงวนความคิดเห็น และทำความเห็นเพิ่มเติมต่อมติการประชุมที่เกี่ยวข้องกับ โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นในระบบดิจิตอล ดังนี้
การประชุม กสท.ครั้งที่ ๑๓/๕๗ วันที่ ๑๗ เม.ย. 57
วาระ ๔.๑๗ เรื่องโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นในระบบดิจิตอล ได้แก่
มติที่ประชุม
๑. เห็นชอบคุณลักษณะของสายอากาศตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ ทั้งนี้ โดยให้รับข้อสังเกตไปปรับปรุงเกี่ยวกับคุณสมบัติสายอากาศ แบบ Active Indoor จาก Net. Antenna Gain ≥ 20 dBi เป็น ≥ 25 dBi
๒. เห็นชอบแผนงบประมาณและแผนการใช้จ่ายเงินของโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลเบื้องต้น ตามลำดับเวลาที่สำนักงาน กสทช. เสนอ โดยคณะกรรมการจะมีการพิจารณาในเรื่องราคาคูปองเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ มอบหมายให้เสนอผลการพิจาณาต่อคณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และ กสทช. เพื่อพิจารณาต่อไป
๓. เห็นควรให้เพิ่มเติมหลักการในโครงการ ดังนี้
๓.๑ กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการบอกรับสมาชิกให้ชัดเจนในโครงการฯ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการโฆษณาให้หารายได้จากการโฆษณาและการให้บริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละหกนาที โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาและการบริการธุรกิจตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละห้านาที
๓.๒ กำหนดให้กล่องรับสัญญาณที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีการจัดเรียงช่องรายการ ให้เหมือนกับการจัดเรียงช่องรายการที่ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล
๓.๓ กำหนดให้กล่องรับสัญญาณที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องรองรับการให้บริการ ทั้งคุณภาพมาตรฐานปกติ (SD) และ มาตรฐานสูง (HD) ได้เช่นเดียวกับกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ในระบบดิจิตอล
๓.๔ กำหนดให้กล่องรับสัญญาณในระบบดาวเทียม (DVB-S2 ) และระบบเคเบิล (DVB-C) ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานเช่นเดียวกับกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (DVB–T2) โดยให้ข้อกำหนดในการตรวจสอบมาตรฐานเป็นไปตามที่ กสท. กำหนด
๓.๕ กำหนดให้กล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชน กล่าวคือ หากมีการยกเลิกการใช้บริการโทรทัศน์แบบการบอกรับสมาชิกแล้วกล่องรับสัญญาณดังกล่าวจะต้องสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลได้
๓.๖ กำหนดให้การให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกจะต้องมีสัญญามาตรฐาน ให้ครบถ้วน
๓.๗ ให้สำนักงานจัดทำโครงการสนับสนุนการปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป เป็นระยะเวลา ๒ ปี โดยให้ขอรับการสนับสนุนเงินจากคณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และภายหลังจากนั้นให้ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป
๓.๘ ในกรณีคูปองที่ได้มีการสนับสนุนไปยังครัวเรือนในปีแรก หากมิได้มีการใช้งานให้นำเอางบประมาณที่มิได้มีการใช้จ่ายดังกล่าวไปใช้เพื่อการสนับสนุนครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่มีอยู่ในระบบทะเบียนราษฎร์ เช่น ครัวเรือนชุมชนแออัด ครัวเรือนด้อยโอกาสอื่น ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา ได้มีข้อสังเกตแนบ ดังนี้
“ นโยบายการกำหนดให้กล่องรับสัญญาณที่เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ในส่วนที่สนับสนุนให้กล่องรับสัญญาณในระบบดาวเทียม (DVB-S2) และระบบเคเบิล (DVB-C) เข้าร่วมโครงการนั้น ควรจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับกล่องรับสัญญาณ DVB-T2 กล่าวคือ สามารถรับชมทีวีประเภทบริการสาธารณะได้ในช่องที่ ๑-๑๒ รับชมทีวีดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจได้จากช่อง ๑๓-๓๖ และ รับชมช่องทีวีประเภทบริการชุมชนได้ระหว่างช่อง ๓๗-๔๘ ตามนโยบายของ กสท. ในวาระที่ ๔.๖ เรื่องจำนวนช่องรายการในแต่ละประเภทกิจการในการประชุม กสท. ครั้งที่ ๔๐/๒๕๕๕ และวาระที่ ๔.๗ เรื่อง แนวทางการอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ในการประชุม กสท.ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๖ ทั้งนี้หากกล่องรับสัญญาณประเภท DVB-S2 และ DVB-C สามารถรับชมช่องรายการโทรทัศน์ดิจิตอลได้เพียง ๓๖ ช่อง จึงขัดต่อวัตถุประสงค์ในเรื่องการให้ประชาชนสามารถรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้อย่างทั่วถึงตามยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ที่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนของภาคประชาชนที่ได้รับการจัดสรรการใช้คลื่นอย่างสมดุลและเป็นธรรม อีกทั้งการสนับสนุนกล่องรับสัญญาณที่ไม่สามารถรับชมทีวีชุมชนได้ยังเป็นแนวทางที่แสดงถึงการไม่ส่งเสริมให้เกิดการประกอบกิจการบริการชุมชนซึ่ง กสท. ได้ระบุไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดกรอบระยะเวลาให้ใบอนุญาตให้กิจการบริการชุมชนตามที่ปรากฏในแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงเห็นว่า นโยบายการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลจึงต้องคำนึงถึงการส่งเสริมและไม่สร้างผลกระทบต่อการสนับสนุนการบริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลประเภทบริการชุมชนแต่อย่างใด”
ดาวน์โหลดความเห็นเพิ่มเติม กสท. ครั้งที่ ๑๓-๒๕๕๗
การประชุม กสท.ครั้งที่ ๑๕/๕๗ วันที่ ๒๒ เม.ย. ๕๗
วาระ ๔.๑ การสนับสนุนให้เกิดการกระจายตัวในการรับบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล
มติที่ประชุม
๑. เห็นชอบมูลค่าคูปองที่จะสนับสนุนในโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลจำนวนเงิน ๑,๐๐๐ บาทต่อครัวเรือน ทั้งนี้ เพื่อให้การสนับสนุนมีการกระจายตัวรวดเร็วยิ่งขึ้น และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการดำเนินงานของโครงการ และงบประมาณโครงการ ให้สอดคล้องกับมูลค่าคูปอง โดยให้เสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อพิจารณาต่อไป
๒. รับทราบข้อวิเคราะห์เรื่องบริการโทรทัศน์ประเภทกิจการบริการชุมชนตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ
ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา ได้สงวนความเห็นต่อวาระนี้ ดังนี้
“สืบเนื่องจากที่ดิฉันได้ตั้งข้อสังเกตในการพิจารณาวาระนี้ต่อเนื่องจากการประชุม กสท. ครั้งที่ ๑๓/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗ ซึ่งดิฉันเห็นว่า นโยบายการกำหนดให้กล่องรับสัญญาณที่เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ในส่วนที่สนับสนุนให้กล่องรับสัญญาณในระบบดาวเทียม (DVB-S2) และระบบเคเบิล (DVB-C) เข้าร่วมโครงการนั้น ควรจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับกล่องรับสัญญาณ DVB-T2 กล่าวคือ สามารถรับชมทีวีประเภทบริการสาธารณะได้ในช่องที่ ๑-๑๒ รับชมทีวีดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจได้จากช่อง ๑๓-๓๖ และ รับชมช่องทีวีประเภทบริการชุมชนได้ระหว่างช่อง ๓๗-๔๘ ดังนั้นในชั้นการพิจารณาของที่ประชุม กสท. ครั้งที่ ๑๕ /๒๕๕๗ ดิฉันจึงขอสงวนความเห็นโดยมีเหตุผล ดังนี้
๑. หากกล่องรับสัญญาณประเภท DVB-S2 และ DVB-C สามารถรับชมช่องรายการโทรทัศน์ดิจิตอลได้เพียง ๓๖ ช่อง โดยไม่สามารถรับชมช่องทีวีประเภทบริการชุมชนในระหว่างช่อง ๓๗-๔๘ นั้น จะขัดต่อวัตถุประสงค์ในเรื่องการให้ประชาชนสามารถรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากที่ผ่านมา กสทช. ได้มีประกาศและมติที่ประชุม ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว ดังนี้
๑.๑ แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ตามข้อ ๘.๕ ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนการเปลี่ยนไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลไว้ โดยมีมติในการประชุมครั้งที่ ๑๓/๒๕๕๕ วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เห็นชอบให้ประกาศแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล ตามความในข้อ ๘.๕ ของแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. ๒๕๕๕) และข้อ ๕.๖ ของแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙)
ดังนั้น กสท. และสำนักงานฯ จึงควรยึดกรอบการดำเนินการดังกล่าวเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกรอบเวลาการให้อนุญาตกิจการในแต่ละลักษณะและประเภทตามที่ได้กำหนด นอกจากนี้ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ ๑ ตามข้อ ๕.๖ ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล นั้นมุ่งเปลี่ยนไปสู่การรับส่งสัญญาณในระบบดิจิตอลเพื่อให้การใช้คลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์มาตรา ๒๗ (๕) ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ และภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายร่วมกันดังที่ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล พ.ศ. ๒๕๕๖ กำหนดในข้อ ๘ ให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลมีหน้าที่ตาม (๔) คือ ต้องจัดให้มีค่าความจุไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ที่ให้บริการ สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ประเภทบริการชุมชน
๑.๒ ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ ประกาศดังกล่าวกำหนดกรอบเวลาการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล โดยจะอนุญาตให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก และโครงข่ายกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมถึงใบอนุญาตให้บริการกิจการบริการสาธารณะ ภายในปี ๒๕๕๕ และจะให้ใบอนุญาตกิจการบริการธุรกิจและใบอนุญาตให้บริการกิจการบริการชุมชนภายในปี ๒๕๕๖ อีกทั้งในเวลาต่อมายังมีการพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วาระที่ ๔.๖ เรื่องจำนวนช่องรายการในแต่ละประเภทกิจการในการประชุม กสท. ครั้งที่ ๔๐/๒๕๕๕ และวาระที่ ๔.๗ เรื่อง แนวทางการอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ในการประชุม กสท. ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๖ จากแผนการดำเนินงานข้างต้น ได้สร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนในการเข้าถึงการรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ๔๘ ช่องรายการตามแผนที่กำหนดไว้ ดังนั้น การสนับสนุนเครื่องรับสัญญาณบางประเภทที่ไม่สามารถรับชมทีวีชุมชนได้จึงขัดต่อวัตถุประสงค์ในเรื่องการให้ประชาชนสามารถรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้อย่างทั่วถึงตามที่ปรากฏไว้ในนโยบายข้างต้น
๒. ในเรื่องหลักการกำหนดมูลค่าคูปองและการสนับสนุนเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลในรูปแบบที่เข้าร่วมโครงการตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ดิฉันเห็นว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นที่สนใจและถกเถียงจากสาธารณชนถึงเหตุผลและแนวคิดอันนำมาสู่ซึ่งมูลค่าคูปองตลอดจนประเภทของกล่องรับสัญญาณ จึงใคร่ขอเสนอแนะว่าสำนักงานเปิดเผยรายงานการศึกษาและบทวิเคราะห์อันนำมาสู่หลักการกำหนดมูลค่าคูปองและประเภทของกล่องรับสัญญาณที่เข้าร่วมโครงการผ่านทางระบบเครือข่ายสารสนเทศหรือเว็บไซต์ของสำนักงาน เพื่อให้สาธารณะได้รับทราบถึงที่มาของแนวคิดและการวิเคราะห์การกำหนดมูลค่าดังกล่าว เนื่องจากงบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนคูปองสำหรับการสนับสนุนประชาชนเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล
๓. ในเรื่องกระบวนการบริหารจัดการ อันประกอบด้วย การจัดทำคูปอง การจัดส่งคูปอง การลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้นำเข้า ร้านค้า การจ่ายเงินคูปอง การจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศการจัดหน่วยตรวจสอบและขึ้นเงินคูปอง ตลอดจนการดำเนินการจัดศูนย์บริการเพื่อตอบข้อปัญหากับประชาชน และการดำเนินงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำนักงานฯ ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบ รัดกุม โปร่งใสและเปิดเผยขั้นตอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณะสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการ”
ดาวน์โหลดความเห็นและมติ กสท.๑๕-๒๕๕๗
การประชุมครั้งที่ ๑๘ วันที่ ๑๒ พ.ค. ๕๗
วาระที่ ๔.๑๕ การพิจารณาแนวทางในการตอบหนังสือคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เรื่อง ขอให้ทบทวนมติการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอล
มติที่ประชุม
๑. ให้กรรมการ กสท. พิจารณาและให้ความเห็นเพิ่มเติม
๒. ให้สำนักงาน กสทช. จัดทำร่างหนังสือแจ้งตอบคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน โดยให้พิจารณาความเห็นในข้อ ๑ ประกอบด้วย แล้วนำเสนอต่อที่ประชุม กสท. อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา ได้จัดส่งข้อเสนอแนะ ดังนี้
“สืบเนื่องจากการประชุม กสท. ครั้งที่ ๑๘/๒๕๕๗ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ได้มีการพิจารณา วาระที่ ๔.๑๕ เรื่อง การพิจารณาแนวทางในการตอบหนังสือคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เรื่อง ขอให้ทบทวนมติการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอล โดยที่ประชุม กสท. ในครั้งนั้นได้เลื่อนการพิจารณา และดิฉันได้แจ้งในที่ประชุมว่าจะจัดส่งความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางในการตอบหนังสือดังกล่าว จึงได้จัดส่งข้อเสนอแนะมายังสำนักงานดังนี้
๑. เนื่องจากนโยบายการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอล เป็นประเด็นที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคที่เห็นว่า กสท. ควรทบทวนเรื่องราคาคูปอง นอกจากนี้ในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แนวทางรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโทรทัศน์ดิจิตอล ที่จัดโดย สวทช. เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมายังมีผู้อภิปรายให้ความเห็นว่า การใช้ดุลพินิจทางปกครองในการกำหนดราคาคูปองเป็นเรื่องที่ กสท. ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบ ดิฉันเห็นว่า เพื่อให้การพิจารณาประเด็นนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส รอบด้านและเป็นการตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง สำนักงาน กสทช. ควรจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยควรจัดเวทีสาธารณะดังกล่าวภายในสองสัปดาห์เพื่อเป็นข้อมูลให้คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ได้พิจารณาก่อนการประชุมของคณะกรรมการกองทุนฯ ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗
๒. ในเรื่องการกำหนดราคาคูปองที่เหมาะสม ดิฉันเห็นว่า สำนักงานควรนำเสนอบทวิเคราะห์ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราคาต้นทุน ราคาค้าส่ง และ ราคาค้าปลีกของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอันประกอบด้วยเสาอากาศและกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ได้มาตรฐานคุณภาพในการรับชม แทนที่จะเป็นการคำนวณมูลค่าที่เหมาะสมจากราคาขายปลีกโดยเฉลี่ยในท้องตลาดเพื่อให้ประชาชนไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตนเองแต่เพียงเท่านั้น
ทั้งนี้ประเด็นที่ กสทช.ถูกวิจารณ์ คือ การกำหนดราคาคูปองซึ่งปรากฏในสื่อสาธารณะแต่ละช่วงเวลาส่งผลให้ ผู้ประกอบการที่จำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลหลายรายตั้งราคาขายสูงกว่าราคาคูปอง ดังนั้น หลักการที่สำนักงานเสนอว่า “ดำเนินการจากมุมมองของผู้บริโภค” เพื่อให้ประชาชนนำคูปองไปแลกยังร้านค้าปลีก อันนำมาสู่ฐานคิดการกำหนดมูลค่าคูปองที่เหมาะสมจากราคาเฉลี่ยขายปลีกในท้องตลาดนั้น จึงเป็นหลักการที่ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ อีกทั้งนโยบายการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอลดังกล่าวยังเป็นการนำงบประมาณสาธารณะไปสนับสนุนอุตสาหกรรมกล่องรับสัญญาณฯ จึงควรตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน”
ดาวน์โหลดข้อเสนอแนะต่อการพิจารณาวาระเรื่อง การพิจารณาแนวทางในการตอบหนังสือ
การประชุม กสทช.ครั้งที่ ๖/๒๕๕๗ วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗
ได้พิจารณาเรื่องแนวทางการจัดรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล สุภิญญาได้แจ้งในที่ประชุม กสทช.ว่าจะจัดส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการจัดรับฟังความคิดเห็นดังต่อไปนี้
“ดิฉันสนับสนุนให้มีการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นตามที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. และ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ (คตร.)เสนอ ทั้งนี้เห็นว่า นอกเหนือจากข้อเสนอของคตร. ในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นเรื่อง จำนวนครัวเรือน ราคาคูปอง และ มาตรฐานและอุปกรณ์ที่สามารถนำคูปองไปแลกแล้ว ดิฉันเสนอว่า ควรจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนในประเด็นเรื่องกระบวนการรับแจกคูปองว่าควรใช้ระบบใดที่ป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหลอกลวง นอกจากนี้สำนักงานควรจัดเตรียมข้อมูลที่เป็นข้อถกเถียงในประเด็นต่าง ๆ จากทุกฝ่ายเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารครบถ้วนในการประกอบการประชาพิจารณ์
สำหรับประเด็นเรื่องมูลค่าคูปองมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการด้านนโยบายและองค์กรผู้บริโภคว่า การกำหนดมูลค่าของคูปองไว้สูง ส่งผลให้ราคากล่องรับสัญญาณสูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งการแจกคูปองยังส่งผลให้ราคาของอุปกรณ์สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้ผลิตอุปกรณ์และร้านค้า ไม่ใช่ประชาชน รวมถึงแนวคิดในเรื่องการกำหนดมูลค่าของคูปองตายตัวในขณะที่กล่องรับสัญญาณมีราคาลดลงอาจเป็นการใช้เงินมากกว่าที่ควรจะเป็นนั้น ดิฉันเห็นว่า ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการถกเถียงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อประกอบการพิจารณา จึงประสงค์ที่จะเสนอให้สำนักงานจัดให้มีการประชุมระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย เฉพาะประเด็นเรื่องต้นทุนของกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล และอุปกรณ์เสาอากาศ ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อการพิจารณาคูปองที่ประชาชนสามารถนำไปแลกซื้อ โดยขอให้สำนักงานเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินและการบัญชี ผู้บริโภค และผู้ที่เกี่ยวข้องในแขนงต่าง ๆ เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อวิเคราะห์ สำหรับการประกอบการพิจารณาในเรื่องการกำหนดราคาคูปองที่เหมาะสม”
อ่านฉบับเต็มข้อเสนอเรื่องแนวทางการจัดรับฟัง
ทั้งนี้ กสทช. เตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
4 ก.ค. ภาคเหนือ โรงแรมดิเอมเพรส จ.เชียงใหม่
5 ก.ค. ภาคใต้ โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่
8 ก.ค. ภาคอีสาน โรงแรมพูลแมน จ.ขอนแก่น
9 ก.ค. เวทีระดมความเห็นกลุ่มย่อย(โฟกัสกรุ๊ป)
10 ก.ค. ภาคกลาง โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ