‘ทรู’ เตรียมรับมือหลังสิ้นสุดสัมปทาน ‘อสมท’
คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ หารือผู้บริหาร ทรูวิชันส์ เตรียมการรองรับหลังหมดสัมปทานกับ อสมท ที่จะครบกำหนด 30 ก.ย.นี้…
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า กรณีที่สัญญาร่วมดำเนินการให้บริการโทรทัศน์ประเภทบอกรับเป็นสมาชิกระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทรู วิชันส์ จำกัด (มหาชน) จะครบกำหนดในวันที่ 30 ก.ย.นี้
ปธ.อนุฯ คุ้มครองผู้บริโภค กสทช.กล่าวต่อว่า เมื่อครบกำหนดแล้ว ทรูวิชันส์จะไม่สามารถให้บริการแก่สมาชิกได้อีกต่อไป ดังนั้นเพื่อไม่ให้สมาชิกผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการให้บริการดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ จึงเชิญผู้บริหารของทรูวิชันส์ ร่วมกันพิจารณาหามาตรการคุ้มครองเยียวยาผู้ใช้บริการที่ยังคงค้างอยู่ในระบบอีกประมาณ 2 หมื่นราย ส่วนสมาชิกจำนวนหนึ่งได้สมัครใจโอนย้ายไปยังบริษัท ทรูวิชันส์ กรุ๊ป ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากสำนักงาน กสทช. แล้ว โดยมีแรงจูงใจให้กับสมาชิกด้วยการสามารถรับชมช่องรายการในระบบเอชดีเพิ่มขึ้น
ทางอนุกรรมการฯ ย้ำให้บริษัท ทรูวิชันส์ จำกัด (มหาชน) ตรวจสอบเรื่องสัญญากับสมาชิกที่โอนย้ายเข้ามาในระบบใหม่ ซึ่งต้องเป็นสัญญาที่เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 และหากสมาชิกเดิมรายใด ไม่ยินดีจะเป็นสมาชิกต่อหลังสัญญาสัมปทานหมดลง สามารถยุติได้ โดยที่บริษัทจะต้องคืนเงินสมาชิกที่คงค้างได้อย่างครบถ้วน
“ฝากสมาชิกที่ได้โอนย้ายไปเป็นลูกค้าในนามบริษัทใหม่คือ บริษัท ทรูวิชันส์ กรุ๊ป ตรวจสอบสัญญาใหม่ก่อนเซ็นเนื่องจากกิจการทีวีบอกรับสมาชิกไม่ต้องประมูลคลื่นความถี่ตามกฎหมาย เมื่อสัมปทานเดิมสิ้นสุด กสทช. สามารถออกใบอนุญาตในระบบใหม่โดยไม่ต้องประมูล ดังนั้น ปัญหาการเปลี่ยนผ่านของสมาชิกที่อยู่ในระบบปัจจุบันจะยุ่งยากซับซ้อนน้อยกว่า สัมปทานมือถือคลื่น 1800″ นางสาวสุภิญญา กล่าว
ด้าน นายสมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทรูวิชันส์ กล่าวว่า บริษัทได้ส่งแผนการรองรับการสิ้นสุดสัญญามาให้สำนักงาน กสทช. และได้ประชาสัมพันธ็ให้ผู้บริการทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาร่วมดำเนินกิจการตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นมา รวมถึงแจ้งสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้บริการภายใต้สัญญาให้บริการที่ทำไว้ เช่น การหยุดให้บริการ การคืนเงินค่าบริการที่จ่ายล่วงหน้า การคืนเงินค่าอุปกรณ์ การเรียกเก็บค่าบริการค้างจ่าย เป็นต้น โดยผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งคอลเซ็นเตอร์ 0-2725-2525 และระบบอัตโนมัติ ศูนย์บริการลูกค้าของบริษัททรูฯ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ทุกช่องทาง การแจ้งข้อความผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในรายการต่างๆ ของบริษัททรูฯ ข้อความสั้น และพร้อมที่จะดำเนินการตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ที่ให้ข้อเสนอเพิ่มเติม.