สรุปสาระสำคัญจากเวทีระดมความคิดเห็น
เรื่อง “การสร้างสรรค์รายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวในโทรทัศน์ดิจิตอล”
วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๓๐ น.
ณ ห้องการ์เด้น ๔ ชั้น ๕ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กทม.
———————————–
เปิดการประชุม โดย กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์
เวทีวันนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทั้ง ๓ ช่องเปิดใจกว้างที่จะรับฟัง ภาคประชาสังคมพร้อมที่จะให้กำลังใจ รวมกันผลักดัน ๓ ช่องฟรีทีวีดิจิตอล ให้เป็นโมเดลที่ดีสำหรับช่องเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งในช่วงแรกอาจไม่ดีพร้อมสมบูรณ์ เพราะด้วยข้อจำกัดด้วยเงื่อนเวลาและหลายๆ ประการ แต่อย่างไรก็ตามทั้ง ๓ ช่องต้องมีคำมั่นสัญญาว่าจะมี Road Map ที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ที่จะมีผังรายการ คุณภาพรายการ ที่ดีขึ้น รวมทั้งการกำกับดูแลช่องเด็ก เยาวชน ครอบครัว ต้องมีหลายมิติที่ควรคำนึงถึง ดังนั้นเป็นโอกาสอันดีที่มีวิทยากรหลายภาคส่วนมีความเชี่ยวชาญด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยมีวัตถุประสงค์
- เพื่อสื่อสารข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ ผู้ผลิตรายการในช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล เพื่อให้โทรทัศน์เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน และพัฒนาการเรียนรู้ รวมถึงสร้างสรรค์จินตนาการให้แก่เด็ก เยาวชน และร่วมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว
- เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมทั้งการกำกับให้กับ สำนักงาน กสทช.
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อการดำเนินงานของ กสทช.
ทั้งนี้ทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ ผู้ผลิตรายการ ผู้บริโภค เครือข่ายประชาสังคม นักวิชาการ สำนักงาน กสทช. มีภารกิจในการทำงานร่วมกันอีก ๑๕ ปี นับจากวันที่ได้ใบอนุญาต เพื่อพัฒนาช่องรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีช่องรายการลักษณะดังกล่าว
การนำเสนอรายการช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ๓ ช่อง
ช่อง ๓ family : ออกอากาศทางช่อง ๑๓ ในผังรายการของช่องเน้น family News โดยวางแนวทางไว้ ๕ ให้ คือ ให้ความรู้ ให้ชีวิต ให้กำลังใจ ให้โอกาส และให้อภัย ซึ่งข่าวดังกล่าวจะแทรกอยู่ในผังรายการทั้งวันตั้งแต่เช้า สาย บ่าย เที่ยง เย็น และดึก เป็นรายการสดที่ช่องทำเอง ส่วนในผังรายการจะมีนิทาน เรื่องเล่า การ์ตูน สำหรับเด็ก รายการสุขภาพ รายการผู้หญิง ภาพยนตร์สำหรับแม่บ้าน และมีรายการตลก ซึ่งต้องยอมรับว่าช่วงแรกอาจมีการนำรายการเก่าที่เคยออกอากาศไปแล้ว นำมาออกอากาศอีกครั้ง รายการส่วนใหญ่มีเจตนาที่ไม่มีเนื้อหาที่รุนแรง รายการทั้งหมดจัดทำขึ้นเพื่อให้สามารถดูได้ทุกเพศทุกวัย
ช่อง ๙ family : ช่อง ๑๔ มีคอนเซ็ปต์ว่า “สนุก สร้างสรรค์ สร้างอนาคต” เนื่องจากเด็กๆ เยาวชนคือ อนาคตของชาติ ผังรายการช่องนี้จะมีรายการข่าวเฉพาะเป็นข่าวเชิงบวกที่เด็กควรรู้ ไม่มีเนื้อหารุนแรงหรือเครียด ส่วนข่าวเที่ยงเน้นให้แม่บ้านดูเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับวัยรุ่น ส่วนช่วงค่ำเป็นข่าวทั่วไปที่สามารถดูได้ทั้งครอบครัว
ส่วนรายการ ในช่วงเช้าจะเป็นรายการสำหรับเด็กก่อนจะไปโรงเรียน ต่อด้วยรายการสำหรับเด็กเล็ก ช่วงบ่ายจะเป็นรายการสำหรับคุณแม่ ช่วงเย็นจะเป็นรายการสำหรับเด็กหลังจากกลับจากโรงเรียน อาจเป็นการ์ตูน สารคดี ส่วนหลังเวลา ๒๐.๐๐ น. จะเป็นรายการสำหรับผู้ใหญ่ซึ่งไม่แตกต่างจากช่องทั่วไป เน้นรายการ talk หรือ Variety talk เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นผังรายการช่อง ๙ family จะจัดตาม Life Circle ของชีวิตครอบครัว
ช่อง LOCA : ช่อง ๑๕ คอนเซปต์ คือ “ช่องสีขาว” มีแนวทางการดำเนินงานโดยยึด ๔ หัวข้อหลัก คือ In trend Information Inspiration Interactive สโลแกน คือ Be Your Friends ช่องเด็กที่เป็นธุรกิจ จึงต้องเน้นให้มีทั้งเอนเตอร์เทนและสาระ
ผังรายการของช่อง LOCA ไม่ได้ผลิตเองทั้งหมดมีผู้ผลิตรายการจำนวนมากที่เชิญมาร่วมงานด้วย ในผังรายการจะมีการ์ตูน ข่าว ละคร สำหรับครอบครัวจะมีละครซี่รี่ย์ สารคดี มีความตั้งใจจะทำรายการชี้ช่องทางถูกต้องให้กับเด็ก เยาวชน
ข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วม
๑. ข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการ
- ผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจทำรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว ต้องวางแนวทางผลิตรายการบนพื้นฐานของการสร้างคน สร้างผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อสังคมในอนาคต และต้องเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ไม่ควรตั้งต้นจากการคิดกำไรขาดทุน
- โทรทัศน์ทำหน้าที่เป็นครูของเด็ก สื่อมวลชนเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย การมีช่องรายการที่ดีๆ ดีกว่ามีมหาวิทยาลัย เพราะเด็กดูด้วยความเต็มใจไม่ได้ถูกบังคับเหมือนในห้องเรียน ดังนั้นเนื้อหาที่นำเสนอในช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว และผู้ผลิตเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเด็กทั้งประเทศ เด็กสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน และสังคมได้
- หากผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตรายการที่ดีออกมาได้ ไม่ควรออกอากาศ เพราะจะเป็นขยะทางอากาศ ที่ไม่ต่างจากช่องดาวเทียมทั่วไป
- ผู้ผลิตรายการเด็ก เยาวชนต้องเข้าใจธรรมชาติ พัฒนาการแต่ละช่วงวัยของเด็ก ซึ่งมีความแตกต่างกัน มีข้อควรคำนึง และพึงระวังมากมายที่คนทำรายการเด็ก เยาวชนต้องรู้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตรายการ ต้องมีนักจิตวิทยาเด็ก ผู้ที่มีความรู้ ให้คำแนะนำ เพื่อให้รายการที่ผลิตออกมาเป็นรายการที่ดีมีประโยชน์ มีคุณภาพสำหรับเด็ก
- ต้องคำนึงถึงสิทธิเด็กที่นำมาออกรายการหรือข่าว ไม่นำเสนอเด็กในลักษณะที่เบี่ยงเบน ทำให้เด็กสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างรอดปลอดภัย อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิที่เด็กควรได้รับตามวัยของเขา
- รายการการ์ตูนที่ช่องนำมาออกอากาศ ขอให้คัดสรรการ์ตูนที่ไม่มีความรุนแรง สร้างสรรค์ ให้แง่คิด หรือมุมมองที่ดี เช่น ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ สัตว์สิ่งแวดล้อม ความมีใจอาสา เป็นต้น และเป็นการ์ตูนที่เหมาะกับเด็กในแต่ละวัย
- การผลิตรายการต้องระบุกลุ่มเป้าหมายให้ชัดว่ารายการที่ผลิตขึ้นเพื่อเด็กในช่วงวัยใด
- การผลิตรายการสำหรับเด็กและเยาวชนที่ดีมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย ดังนั้นผู้ผลิตรายการต้องวางเป้าหมายที่จะผลิตรายการ original สามารถนำไปขายต่างประเทศ
- ผังรายการต้องจัดตามพฤติกรรม หรือวิถีชีวิตของเขา เพราะเด็กแต่ละวัยมีความสนใจที่ไม่เหมือนกัน
๒. ข้อเสนอแนะต่อผู้บริโภค พ่อแม่ผู้ปกครอง
- ผู้ปกครองต้องไม่ปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์มากเกินไป โดยเฉพาะเด็กในวัย ๐-๓ ขวบ ไม่ควรดูโทรทัศน์เลย เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาว
- ผู้ปกครองต้องมีเวลาดูโทรทัศน์กับลูกอย่างใกล้ชิด
๓. ข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน กสทช.
- สนับสนุนการศึกษาวิจัยรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อพัฒนาให้ผู้ผลิตมีองค์ความรู้เรื่องนี้เพิ่มขึ้น ในภาคประชาสังคมได้ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยพัฒนานวตกรรมสื่อเด็ก
- สนับสนุนกลไกการทำงานเป็นเครือข่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาและสร้างสรรค์รายการ ทั้งภาควิชาการต้องเข้ามาสนับสนุนความรู้ ถอดประสบการณ์การทำรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว
- สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ผลิตรายการ
- ให้มีการประเมินรายการ ซึ่งจะใช้ Cost for rating point อย่างเดียวไม่ได้ เพราะรายการเด็ก เยาวชนไม่ได้มุ่งหวังที่กำไร ต้องประเมินในเชิงคุณภาพ ต้องมีโครงสร้างการประเมินเฉพาะในการวัด ว่ารายการเหล่านี้ส่งเสริมหรือทำให้เกิดคุณค่าต่อสังคมมากน้อยเพียงใด และทำให้เอเจนซี่ผลิตโฆษณาเข้าใจหลักการของช่องเด็ก เยาวชนและครอบครัว
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีรายการรู้เท่าทันสื่อในช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริโภค
ผู้ร่วมเวทีตั้งความหวังกับช่องรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว และมีความชื่นชมกับ ๓ ช่องรายการที่กำลังทำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นกับช่องรายการฟรีทีวีในประเทศไทย นับเป็นโอกาสทองของวงการสื่อเด็กที่เราขาดองค์ความรู้เรื่องนี้มานาน ดังนั้นการมีช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ขึ้นมาเฉพาะน่าจะทำให้ความรู้เรื่องรายการเด็ก เยาวชนของบ้านเราดีขึ้น แม้ว่าในต่างประเทศมีรายการดีๆ สำหรับเด็กมานานแล้ว แต่หวังว่าเราจะก้าวได้ทันเขา ดังนั้นหากผู้ผลิตตั้งใจจริงผลิตรายการดีๆ ออกมา ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจระหว่างเด็กต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคของไทย โทรทัศน์ช่องใหม่ที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ และคุ้มค่ากับทรัพยากรคลื่นที่ได้รับจัดสรรไป