NBTC Public Forum ครั้งที่ ๓/๒๕๕๗
ในหัวข้อ “ฟุตบอลโลก : เกมหรือการพนัน กับบทบาทอันท้าทายของสื่อ”
ในวันพุธที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.
ณ ห้อง Grand Ballroom ชั้น ๓ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร
จัดโดย สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
๑๓.๐๐ – ๑๓.๓๐ น. ลงทะเบียน
๑๓.๓๐ – ๑๓.๔๐ น. กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์ โดย ผู้แทนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
๑๓.๔๐ – ๑๔.๐๐ น. “สถานการณ์การพนันบอลกับบทบาทสื่อ” โดย ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
และ คุณเมธิรา อินทร์สวาท มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (MEDIA MONITOR)
๑๔.๐๐ – ๑๖.๑๕ น. การเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “ฟุตบอลโลก : เกมหรือการพนัน กับบทบาทอันท้าทายของสื่อ”
วิทยากรประกอบด้วย :
๑. ผศ.ดร.จิรศิลป์ จยาวรรณ ศูนย์การศึกษาด้านการสื่อสารและการบริการครบวงจร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
๒. อาจารย์ไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๓. คุณธาม เชื้อสถาปนศิริ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
ดำเนินรายการ โดย คุณอำมร บรรจง
ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยวิทยากรภาคีที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
๑. หัวหน้าศูนย์ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการลักลอบเล่นการพนันทายผลฟุตบอลโลก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
๒. ผู้แทนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
๓. ผู้แทนจากสำนักการสอบสวนและนิติกร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
๔. ผู้แทนจากสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
๕. ผู้แทนสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย
๑๖.๑๕ – ๑๖.๓๐ น. สรุปและปิดงาน NBTC Public Forum ครั้งที่ ๓/๒๕๕๗
โดย กสทช.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์
………………………………………………………………………
NBTC Public Forum ครั้งที่ ๓/๒๕๕๗
“ฟุตบอลโลก: เกมหรือการพนัน กับบทบาทอันท้าทายของสื่อ”
——————————-
๑. หลักการและเหตุผล
เนื่องด้วยในช่วงระหว่างวันที่ ๑๒ มิถุนายน – ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลก (Fifa World Cup) ครั้งที่ ๒๐ ที่ประเทศบราซิล ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวมีการถ่ายทอดสดไปหลายประเทศทั่วโลก โดยกรณีของประเทศไทย ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดฟุตบอลตลอดทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวได้แก่ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ยืนยันจะมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลดังกล่าวผ่านฟรีทีวีให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้รับชมไม่ต่ำกว่า ๒๒ นัด แม้จะยังมีประเด็นข้อพิพาทอยู่กับ กสทช. ในศาลปกครองเกี่ยวกับจำนวนนัดในการถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีจากผลของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๕๕ (Must Have)
แต่ประเด็นเรื่องการเข้าถึงและการรับชมไม่ใช่มิติเดียวที่สื่อและ กสทช. มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกมส์กีฬาระดับโลกคราวนี้ ยังมีเรื่องของการเสี่ยงโชคและการพนันที่สื่อมีบทบาทเกี่ยวเนื่องอยู่ด้วย ไม่ว่าจะในฐานะแหล่งข้อมูล ตัวกระตุ้น หรือแม้แต่เป็นช่องทางและตัวการเสียเอง
ในทางกฎหมายของไทย “การพนันฟุตบอล” ถือเป็นการการกระทำที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๘ แต่ก็เป็นที่รู้และประจักษ์กันดีว่าสังคมไทยมีการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวอยู่เป็นการทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ยิ่งเกิดขึ้นอย่างครึกโครมและโจ๋งครึ่ม
เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุและสภาพปัญหาพบว่า อิทธิพลของสื่อถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพนันฟุตบอล เพราะผลการสำรวจของหลายหน่วยงาน ต่างยืนยันตรงกันว่า ผู้เล่นการพนันฟุตบอลส่วนใหญ่รับข้อมูลข่าวสารเพื่อประกอบการเล่นพนันผ่านทางสื่อ โดยสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ รวมถึงสื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม มักมีการนำเสนอรายการวิเคราะห์กีฬาที่มีลักษณะล่อแหลมในเชิงส่งเสริมและโฆษณาเชิญชวนให้เกิดการเล่นพนันฟุตบอล
ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การพนันฟุตบอลได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มาจากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างรวดเร็วและสะดวกผ่านโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลฟุตบอลทัวร์นาเมนต์สำคัญๆ มักมีการชักจูงให้ผู้บริโภค แสดงความเห็นหรือทายผลฟุตบอลผ่านระบบ SMS ซึ่งบริการเหล่านี้ผู้บริโภคจะต้องเสียค่าบริการส่ง SMS ในอัตราที่สูงกว่าปกติ อีกทั้งมีเนื้อหาเข้าข่ายการพนันหรือเสี่ยงโชค
กสทช. ในฐานะที่มีหน้าที่ในการดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๓๑ วรรคสอง ที่ถือเป็นฐานอำนาจทางกฎหมายของ กสทช. ที่มีเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากที่สุด ได้ให้อำนาจของ กสทช. ที่จะต้องเข้ามาควบคุมดูแลผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม “ไม่ให้ดำเนินการใดๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญไม่ว่าด้วยวิธีการใดตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด” ซึ่ง ณ ปัจจุบัน กสทช. มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องนี้เฉพาะแต่ในด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ แต่ยังไม่มีในด้านกิจการโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม ลำพังอำนาจหน้าที่ของ กสทช. แม้ดำเนินการเต็มที่ก็คงไม่สามารถป้องกันและขจัดปัญหาการพนันฟุตบอลออกไปจากสังคมไทยได้ การแก้ไขปัญหาการพนันฟุตบอลในภาพรวมจำเป็นต้องใช้การบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน
ในการนี้ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ ในฐานะ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงเห็นควรร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ที่จะการจัดประชุม Public Forum ครั้งที่ ๓ ประจำปี ๒๕๕๗ ในหัวข้อ “ฟุตบอลโลก: เกมหรือการพนัน กับบทบาทอันท้าทายของสื่อ” เพื่อเป็นเวทีในการระดมปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ อันจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการพัฒนาไปสู่การจัดทำหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เป็นการป้องกันและปราบปรามปัญหา มีความครอบคลุม ทันต่อสถานการณ์ สมดังภารกิจของ กสทช. ที่จะต้องกำกับดูแลบริการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และบริการโทรคมนาคมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อทราบและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์เรื่องผลกระทบการพนันฟุตบอลที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งข้อห่วงใยต่างๆ ของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย
๒.๒ เพื่อทราบข้อมูลและความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพนันฟุตบอล ทั้งข้อมูลความรู้ในระดับสากลและในบริบทของสังคมไทย
๒.๓ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
๒.๔ เพื่อระดมความคิดเห็นและความรู้สำหรับการจัดทำแนวทางการกำกับดูแลกิจการต่างๆ ในกรอบอำนาจหน้าที่ของ กสทช. เพื่อการป้องกันปัญหาการพนันฟุตบอล
๓. กลุ่มเป้าหมาย
๓.๑ จำนวนกลุ่มเป้าหมายประมาณ ๒๐๐ คน
๓.๒ องค์ประกอบของกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย
- วิทยากร และวิทยากรดำเนินการ
- คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
- หน่วยงานภาครัฐ/เครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นการพนัน
- ตัวแทนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
- ตัวแทนองค์กรภาคประชาชน โดยเฉพาะด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
- ตัวแทนภาควิชาชีพ วิชาการที่เกี่ยวข้อง
- ประชาชนผู้สนใจทั่วไป
๔. รูปแบบการดำเนินงาน
รูปแบบเป็นการจัดเวทีอภิปรายที่ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีผู้ดำเนินรายการเป็นผู้จัดลำดับและควบคุมความเรียบร้อยของการอภิปรายของวิทยากรและการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมทั้งหมด
๕. วัน เวลา และสถานที่จัดงาน
วันพุธที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ณ ห้อง Grand Ballroom ชั้น ๓ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร
๖. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๖.๑ กสทช. และผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาได้รับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์เรื่องการพนันฟุตบอลทั้งที่เกิดขึ้นจริงและที่เป็นข้อห่วงใยของผู้เกี่ยวข้อง
๖.๒ กสทช. และผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาได้รับทราบข้อมูลความรู้ในประเด็นการพนันฟุตบอล
๖.๓ กสทช. และผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น และความรู้สำหรับการจัดทำแนวทางการกำกับดูแลกิจการควบคู่กับการป้องกันปัญหาการพนันฟุตบอล
๖.๔ เป็นจุดเริ่มต้นในการประสานความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการจัดทำกระบวนการทำความเข้าใจกับประชาชน ในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการพนันฟุตบอล
๗. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ส่วนงาน กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และส่วนงาน กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ