สุภิญญา กลางณรงค์ : ขอให้คืนหน้าที่สื่อ คืนสิทธิ์ในการตรวจสอบกลับมา
“..ถ้าสังคมตกอยู่ในภาวะความกลัว กลับไปสู่ความเงียบงัน แล้วกลับไปใช้ชีวิตแบบสายลมแสงแดด ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ หากเป็นเช่นนั้น ไม่ดีต่อสังคมแน่..”
เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงบทบาทของสื่อมวลชน ในภาวะที่ถูกจำกัดบทบาท โดยสะท้อนภาพของการปิดกั้นว่าหากเข้มงวดเกินไปคงไม่ต่างจากการปิดหน้าต่างทุกบาน ส่งผลให้ลมเย็นๆ ไม่พัดเข้ามา ทำอย่างไร สังคมจะร่วมกันแสวงหาจุดกึ่งกลาง เพื่อดำรงอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและรับผิดชอบ แทนที่จะสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว อันนำไปสู่ภาวะของความเงียบงัน ที่เป็นอุปปสรรคต่อการตรวจสอบ และถ่วงดุลของสังคมประชาธิปไตย
@ ในฐานะที่เคยถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน มองภาวะจำกัดของสื่อฯในตอนนี้อย่างไร
สุภิญญา : “ช่วงนี้ ดิฉันก็เห็นใจสื่อมวลชนทุกคน เพราะดิฉันรู้ว่าทุกคนมีจิตวิญญาณของความเป็นสื่อฯ จริงอยู่ ว่าแม้เสรีภาพสื่อฯ ก็มีหลายครั้งที่ทำไม่ได้เต็มที่ในระบอบประชาธิปไตยปกติ ที่ยังมีระบอบทุนนิยมปิดกั้น บางครั้งก็อาจทำได้ไม่เต็มที่ แต่ในสถานการณ์ตอนนี้ ที่มีการยึดอำนาจ ดิฉันอยากฝากไปถึงสังคมไทย ที่บางส่วนอาจรู้สึกดีใจที่มีการเข้ามาจัดการกับเสรีภาพที่เปิดกว้างอย่างมากก่อนหน้านี้ จนบางส่วนอาจรู้สึกว่ามากจนฟอนเฟะ แต่ดิฉันคิดว่าสังคมเราต้องตั้งสติ”
@ ประเด็นใดที่กังวลเป็นพิเศษ และเห็นว่าเราควรตั้งสติให้มาก
สุภิญญา : คือถ้าเราเปิดหน้าต่างบ้านแล้วรู้สึกว่ามียุงบ้าง มีมลภาวะเข้ามาบ้าง แล้วเราก็ปิดหน้าต่างทุกบาน อย่าลืมนะว่าถ้าเราปิดหน้าต่างทุกบาน ลมเย็นๆ ก็ไม่เข้ามา มองไม่เห็นวิวดีๆ ที่เคยเห็น ถ้าเราจะต้องอยู่แบบนี้ นานๆ จะยอมไหม เราควรจะหาจุดกึ่งกลางร่วมกันว่าเมื่อก่อนเราอาจเปิดกว้างเกินไป แล้วจะแก้ไขอย่างไร แทนที่เราจะปิดหน้าต่างสนิทเลย เรามาคุยกันไหม ว่าจะหาจุดกึ่งกลาง หาทางกลั่นกรองด้วยกันยังไง เช่นอาจมีมุ้งลวด หรือช่วยกันดูแลอย่างไร เพื่อให้ยังเปิดหน้าต่างได้ และยังมีลมเย็นๆ พัดเข้ามาในบ้านของเรา แต่เมื่อไหร่ ที่เราลงกลอน แน่นหนา ประวัติศาสตร์จากอดีตบอกเราว่าเสรีภาพล้วนได้มาด้วยการนองเลือดและน้ำตา เราจะย้อนกลับไปสู่จุดนั้นหรือ ถ้าเรามีโอกาสที่จะถ่วงดุลกันได้ พูดคุยกันได้ในตอนนี้ ทำไมเราไม่ทำ
@ มีสิ่งใดในตอนนี้ ที่คุณอยากเรียกร้อง
สุภิญญา : ”ถ้าดิฉันขอได้ ดิฉันจะขอสิทธิ์เหล่านี้คืนมาให้สื่อมวลชน เพราะสื่อควรมีการตั้งคำถาม และมีสิทธิ์ ในการดีเบต ยังไม่ต้องมีสิทธิในการเลือกข้างก็ได้ สิทธิในการเลือกข้าง ปลุกเร้า ปลุกระดม เช่นที่ผ่านมาอาจยั้งไว้ก่อน แต่สื่อฯ ควรมีสิทธิ์ที่จะรายงานรอบด้าน ตั้งคำถาม และเปิดเวที ให้กับทุกฝ่ายได้หรือไม่ ดิฉัน จะขอส่งเสียงต่อไป เสรีภาพอาจไม่มากเท่าเมื่อก่อน แต่ขอให้อย่าน้อยเกินไป ดิฉันเข้าใจทุกฝ่าย ในยุคคุณทักษิณ ก็มีกระบวนการปิดปากสื่อด้วยระบบทุนนิยม แต่การจบท้ายให้ทหารเข้ามา ก็เอื้อต่อการเป็นสังคมเผด็จการ สังคมเราควรมีทางที่ยังเป็นหลักยึดได้ตามระบอบ ประชาธิปไตย และดิฉันเห็นว่า สิ่งนั้นคือสื่อควรได้เสรีภาพกลับคืนมา”
@ มีสิ่งใดอีก ที่คุณกังวลเกี่ยวกับสิทธิในการตรวจสอบ ถ่วงดุล และแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง
สุภิญญา : “ตอนนี้ สังคมมีทั้งกลุ่มคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการทุจริต คอร์รัปชั่น ไม่เห็นด้วยกับการบริหารของรัฐบาลที่ผ่านมา และก็มีเช่นกันที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่ถ้าสังคมตกอยู่ในภาวะความกลัว กลับไปสู่ความเงียบงัน แล้วกลับไปใช้ชีวิตแบบสายลมแสงแดด ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์เพราะกลัวติดคุกติดตะราง หากเป็นเช่นนั้น ไม่ดีต่อสังคมแน่”
“ส่วนตัวแล้ว ดิฉันไม่เห็นด้วยและเสียใจ เมื่อมีรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรตั้งสติ และคิดว่าทำอย่างไร เราจะกลับไปสู่สังคมประชาธิปไตย อย่างเร็วที่สุด ทำอย่างไร คสช. จะมีการคานดุล ไม่นำไปสู่การใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ”
“ฝ่ายที่มีอำนาจใน ตอนนี้คือ คสช. เป็นคนคุมเกม ถ้าปล่อยให้สื่อได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ดิฉันเชื่อว่าจะปลดความเครียดของสังคม เพราะในฐานะสื่อ ต้องทำงานเป็นปากเสียงของประชาชน”
@ มีสิ่งใดที่อยากฝากกับสื่อมวลชน
สุภิญญา : “ดิฉันก็ขอเป็นกำลังใจให้ สื่อมวลชนทำหน้าที่ได้ดีที่สุด อยากให้คืนหน้าที่ของสื่อ คืนสิทธิ์ในการตรวจสอบกลับมา”
“การปิดกั้น ไม่ควรขยายขอบเขตไปถึงเว็บข่าวสารสาระ เว็บไซต์องค์กรภาคประชาชน ภาควิชาการ หรือถ้าจะเลยไปถึงขั้นปิดเกตเวย์ หรือเว็บข่าวต่างประเทศ ดิฉันยิ่งไม่เห็นด้วย เพราะนั่นเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว กสทช.ก็ไม่ควร กระโดดเข้าไป แต่ก็เข้าใจว่า กสทช. ก็เป็นหน่วยงานรัฐที่ต้อง ให้ความร่วมมือกับรัฐถาธิปัตย์ แต่ดิฉันก็ยืนยัน ในหลักการ ของดิฉันเสมอมา ด้วยการให้ความเห็นผ่านสาธารณะ”
@ มองอย่างไรต่อบทบาทของ กสทช. และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐในภาวะนี้ ที่มีส่วนในการขอให้ผู้ประกอบการระงับหรือปิดช่องทางการรับรู้ข่าวสาร
สุภิญญา : “การปิดกั้นที่ลุกลามเข้าไปทั้งในโซเชียลเน็ตเวิร์ค เช่น ประชาธรรม ประชาไท ทั้งที่เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่เขาอาจมีประเด็นทางการเมือง ดิฉันมองว่าไม่ควรขยายขอบเขต ไปถึงขั้นนั้น ขณะที่หากเป็นเว็บไซต์ปลุกระดม หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็สามารถสั่งปิดตามกฎหมาย แต่การจะขยายไปถึงโซเชียลมีเดีย หรือเกตเวย์ในต่างประเทศ แบบนั้นไม่ควร”
“ขณะเดียวกัน ดิฉันเห็นว่า กสทช. ควรมีบทบาทถ่วงดุลอะไที่มากเกินไป เพราะทำอย่างไรจะไม่สร้างบรรยากาศแห่งความกลัวขึ้น เรื่องการปิดเว็บไซต์นั้น อาจมากเกินไป เป็นปฏิกริรยาที่มากเกินไป เพราะสื่ออินเทอร์เน็ตนั้น ทั่วโลกไม่ปิดกั้น เพราะมันคือพื้นที่ที่เป็นอิสระ เว้นแต่จะปิดเว็บไซต์ ปิดเฟซบุ๊ค หรือการสร้างบรรยากาศว่าเราอยู่ภายใต้ การจับตาของ บิ๊ก บราเธอร์ ดิฉันว่ามันคงไม่เป็นผลดี ผลกระทบมันจะมาก และ กสทช. ไม่ควรเป็นเกสตาโป”
……..
ทั้งนี้ น.ส.สุภิญญา เคยดำรงตำแหน่งเป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ และเคยถูกบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 400 ล้านบาท เนื่องจากการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, พรรคไทยรักไทย และ บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น ก่อนศาลตัดสินยกฟ้อง