Sum up : 21 เม.ย. 57
Just done with Broadcast Panel’s meeting, we still could not reach a perfect agreement on the digital tv’s subsidy scheme. I am not convinced with one issue which is a crucial point for me. More to discuss tomorrow then. Or just reserved my opinion as before so the process could go on.
ประชุมบอร์ด กสท. ยังไม่ได้ข้อสรุป นัดประชุมต่อพรุ่งนี้ อาจไม่ทันเข้าบอร์ดใหญ่ กสทช. พุธนี้
หลังจากประชุมกันมาราธอน วันนี้บอร์ด กสท. ยังไม่ได้ข้อสรุปสุดท้ายเรื่องโครงการคูปองทีวีดิจิตอล สองประเด็นหลักที่ถกกันนานคือ
1. ราคาคูปองควรเป็นเท่าไหร่ ไม่ให้สูงเกินไป
2. ควรสนับสนุนกล่องของทีวีดาวเทียมและเคเบิลแบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) เพื่อให้ดูทีวีดิจิตอลด้วยหรือไม่
ข้อแรกน่าจะได้หลักการเบื้องต้นแล้วว่าจะปรับตัวเลขให้ลดลง แต่เหลือเท่าไหร่จะสรุปอีกครั้ง
ข้อสอง แม้ดิฉันจะเห็นด้วยในหลักการที่ว่ากิจการทีวีบอกรับสมาชิก (PayTV) ไม่ใช่ตลาดเดียวกันกับฟรีทีวีภาคพื้นดิน (free to air) ที่เป็นคู่แข่งกับฟรีทูแอร์ภาคดาวเทียมและการแลกกล่องเพย์ทีวีในตัวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทำให้ไม่ต้องมีหลายกล่อง ใช้กล่องเดียวกันดูได้ทั้งฟรีทีวีดิจิตอล 36 ช่องและช่องที่จ่ายเงินดูเพิ่ม โดยบังคับเรียงช่องทีวีดิจิตอลแบบภาคพื้นดินคือช่อง 1-36 ด้วย จริงๆรับเงื่อนไขต่างๆที่วางไว้รัดกุมได้แล้วแต่อย่างไรก็ตามจุดหลักที่ยังไม่เห็นด้วยและเป็นประเด็นสำคัญคือ
กล่องดาวเทียมในระบบ DVB-S2 และกล่องเคเบิลในระบบ DVB-C นั้นดูฟรีทีวีดิจิตอลระดับชาติได้ 36 ช่อง แต่ไม่สามารถรับชมทีวีชุมชนอีก 12 ช่องได้ จุดนี้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับตนเอง เพราะเป็นคนผลักดันให้เกิดแนวคิดเรื่องต้องจัดสรรคลื่นให้กับภาคประชาชน 20% ถ้าเราไม่ส่งเสริมภาครับทีวีชุมชน ภาคส่งกว่าจะเกิดก็อีกนาน
ข้อจำกัดทางเทคนิคคือ การรับชมทีวีชุมชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต้องใช้กล่องหรือทีวีภาคพื้นดินดิจิตอล DVB-T2 รับเท่านั้น
คนที่จะได้ประโยชน์จากกล่อง pay TV คือคนชั้นกลาง ส่วนทีวีชุมชนภาคพื้นดินคือโอกาสของคนท้องถิ่น กสทช. มีหน้าที่ต้องส่งเสริมด้วยเช่นกัน ถ้าครัวเรือนรับทีวีชุมชนไม่ได้ โอกาสในการเกิดขึ้นของทีวีชุมชนโดยภาคประชาชนที่จะมาคานดุลกับทีวีสาธารณะและทีวีธุรกิจ 36 ช่องก็จะล่าช้าออกไป
ในวาระที่เหลือของการเป็น กสทช. อีก 3 ปีกว่า ดิฉันอยากเห็นการจัดสรรคลื่นทีวีชุมชนเกิดขึ้น เรื่องนี้จึงผูกพันโครงการคูปอง เป็น critical point ในการตัดสินใจของตนเองด้วย ถ้าให้ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิก PayTV ได้สิทธิ์เลือกกล่องที่ดูทีวีดิจิตอลระดับชาติในระบบ HD ได้ ก็กำลังทำให้สิทธิ์การรับชมทีวีดิจิตอลชุมชนในบางครัวเรือนหายไป ทางเลือกหนึ่งคือทำเป็นกล่องลูกผสม (Hybrid) คือมีทั้ง T2 และ S2 อยู่ด้วยกัน ดูได้สองแบบ แต่ต้นทุนสูงและคนผลิตในตลาดมีน้อยรายก็จะผูกขาดเกินไป (ที่สำคัญอยากให้เป็นกล่องไฮบริดที่เป็นกล่องเดียวถาวร ดูฟรีทีวีได้และจะดู Pay TV เจ้าไหนก็จ่ายเงินแล้วส่งสัญญาณเข้ากล่องมา ไม่ต้องเปลี่ยนกล่องอีก)
ดังนั้นสถานการณ์บังคับให้ต้องเลือกว่าจะให้สิทธิ์คนดู Pay TV หรือปกป้องสิทธิ์คนดูทีวีชุมชน (แม้ทีวีชุมชนจะยังไม่เกิดก็ตาม แต่ กสทช. ต้องส่งเสริมให้เกิด) ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคคือ = กล่องที่รับทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินได้ 48 ช่อง ทั้งระดับชาติและชุมชน แต่เลือกบริการเสริมเป็น PayTV อยู่ในกล่องเดียวตลอดไปได้ อยากจะดูบอลเจ้าใดหรือเนื้อหา exclusive อื่นๆ ค่อยจ่ายเงินเปลี่ยนรหัสรับส่งมาที่กล่องเดียว บ้านจะได้ไม่ต้องมีหลายกล่อง แต่ทางเลือกนี้ก็เป็นไปยากยิ่ง
ลำบากใจค่ะ แต่ขอบคุณกรรมการ กสท. ทุกท่านที่รับฟังข้อกังวลนี้และจะพิจารณาเพิ่มเติมโดยยังไม่สรุปวันนี้ ถ้าสุดท้ายกรรมการ กสท. อีก 4 ท่าน เห็นสอดคล้องแต่ดิฉันยังไม่สบายใจก็จะทำบันทึกสงวนความเห็นจุดยืนตนเองไว้เช่นเดิม เพื่อให้เรื่องเดินหน้าไปได้
เรื่องนี้เรื่องใหญ่เราไม่อยากจบลงด้วยการโหวต แต่เนื่องจากยังหามติเอกฉันท์ไม่ได้ เลยถกกันมาแล้วหลายรอบ ส่วนตัวมีประเด็นสำคัญที่คาใจดังที่กล่าวไปคือกล่องดาวเทียมใช้ดูทีวีชุมชนไม่ได้
ในฐานะที่เป็นเหตุให้ผลของการประชุมต้องล่าช้าออกไปด้วยประเด็นนี้ ขออภัยแทน กสท. ทุกท่านด้วยค่ะ เพราะรู้ว่าสังคมต้องการความชัดเจนในประเด็นนี้เร็วๆแล้ว
ส่วนเรื่องราคาคูปองที่มีแนวโน้มลดลงกว่าที่ข่าวออกไปนั้น ยังไม่สรุปวันนี้เช่นกัน ต้องรอต่อไปอีกนิด slow but sure ดีกว่าค่ะ…