บันทึกการหารือเพื่อจัดทำความร่วมมือคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ
ระหว่าง สำนักงาน กสทช. องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International : CI) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
โดย ส่วนงาน กสทช.สุภิญญา กลางณรงค์
——————————————
ภายหลังจากการเข้าร่วมประชุมเข้าร่วมการอบรม Digital Broadcasting Technologies and Implementation ซึ่งจัดโดย ITU Asia Pacific Centres ณ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์จากระบบแอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอลกับผู้เข้าร่วมจากนานาประเทศแล้ว คุณสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านผู้บริโภคและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และคณะได้เดินทางไปประชุมหารือกับคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ Dato’ Indrani Thuraisingham Head of Consumer International office for Asia Pacific and the Middle East เพื่อเตรียมการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้บริโภคสากล (Consumer International : CI) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เกี่ยวกับความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. ในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย ตามที่ กสทช.สุภิญญาฯ มีแนวคิดและริเริ่มแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในประเทศไทยและระหว่างประเทศ โดยมีประเด็นหารือสรุปโดยสังเขป ได้ดังนี้
๑. มีการหารือเรื่องกรอบข้อตกลงความร่วมมือ ได้แก่
๑.๑ การจัดสัมมนา เสวนา ประชุม หรือกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์อื่นๆ
๑.๒ การพัฒนาบุคลากรของ สำนักงาน กสทช. โดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศต่างๆ ที่มีประสบการณ์ด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
๑.๓ การสร้างเครือข่ายและเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ๑.๔ การแลกเปลี่ยนและสร้างสรรค์เอกสารหรือแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ ร่วมกัน
๒. เตรียมการจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคสากล โดยจัดขึ้นในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ สำนักงาน กสทช. ก่อนการจัดงานการประชุมนานาชาติเรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอล” โดยให้ประสานงานในรายละเอียดและเรียนเชิญเลขาธิการ สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ลงนามในวันเวลาดังกล่าว (รายละเอียดดังเอกสารแนบ ๑ และ ๒ )
๓. หารือการจัดเตรียมการประชุมนานาชาติ เรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอล: International Conference: Consumer Protection in the Digital Age” โดยเชิญผู้เข้าร่วม ได้แก่ บุคลากรของสำนักงาน กสทช. องค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค และผู้แทนองค์กรผู้บริโภคจากประเทศต่างๆ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น (รายละเอียดดังเอกสารแนบ ๓)
ข้อมูลองค์กรผู้บริโภคสากล : Consumers International (CI)
Consumer International (CI) คือ องค์กรที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีความเป็นอิสระ และเป็นปากเสียงให้กับผู้บริโภคทั่วโลก โดยปัจจุบันมีสามชิกทั้งสิ้น ๒๒๐ องค์กร จาก ๑๑๕ ประเทศ CI ได้สร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมในระดับนานาชาติที่ช่วยคุ้มครองและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคโดยไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๖๐ ทำหน้าที่ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคสินค้าและบริการ
วิสัยทัศน์ของ CI คือ ยึดหลักให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิผู้บริโภคเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจบริโภคสินค้าและบริการ และผู้บริโภคทุกคนควรได้รับสินค้าและการบริการที่มีความเหมาะสมและปลอดภัย
ข้อมูลมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนสาธารณประโยชน์ โดยเริ่มจากการทำงานตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๒๖ ในนาม คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (คปอส.) ซึ่งมีบทบาทต่อการพัฒนาสาธารณสุขทั้ง ผลักดันนโยบายห้ามผสมสารคาเฟอีนในยาแก้ปวดลดไข้ การรณรงค์ให้ชื่อสามัญทางยาในฉลากเอกสารกำกับยา การรณรงค์ให้มีนโยบายลดใช้สารเคมีในการเกษตร ฯลฯ
จากบทเรียนจากการทำงานในนาม คปอส. ทำให้เกิดความตระหนักถึงสุขภาพแบบองค์รวมว่า ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนหรือผู้บริโภคอย่างรอบด้าน ถึงจะนำมาสู่การมีสุขภาวะที่ดีได้ จึงจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคต่าง ๆ ได้มีส่วนในการคุ้มครองผู้บริโภค และวัตถุประสงค์สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ส่งเสริมการศึกษา วิจัยและเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ การที่ผู้บริโภคคุ้มครอง ดูแลตัวเองได้ ดังนั้น ข้อมูล ความรู้ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้บริโภค “ฉลาดและเท่าทันต่อสถานการณ์ปัญหาในสังคมบริโภคนิยม” จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองผู้บริโภค..