สุภิญญาหวังสื่อยุคทีวีดิจิตอลเปลี่ยนวัฒนธรรมกำกับกันเอง และ จับตาวาระลำดับหมายเลขช่อง
กสท.ยอมส่งร่างประกาศฯเนื้อหาตามาตรา 37 ให้กฤษฎีกาตีขอบเขตอำนาจตามพรบ.// สุภิญญา หวัง สื่อทีวีดิจิตอลเปลี่ยนวัฒนธรรมกำกับกันเองตามจรรยาบรรณ กสทช.ไม่เน้นแทรกแซง ส่วนจับตาวาระเตรียมเลือกลำดับหมายเลขช่องและความเห็นสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯต่อผลกระทบผู้บริโภคจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโทรทัศน์ดิจิตอล
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยความคืบหน้า มติกสท.ต่อการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … ภายหลังการขยายระยะเวลาการรับฟังความเห็นสาธารณะเพิ่มเติม พร้อมทั้งความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)ว่าไม่มีอำนาจในการจัดทำร่างประกาศฯ เพราะอาจขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมาย (อ่านความเห็นคปก.ทั้งหมดได้ที่นี่) จากมติได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในประเด็นว่า กสทช.มีอำนาจออกประกาศหรือไม่ อย่างไร และ เนื้อหาในร่างประกาศฯ มีลักษณะเป็นการขยายขอบเขตอำนาจของกสทช. หรือไม่อย่างไร แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นยกเลิกร่างประกาศมาตรา 37 (ในพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551) นี้เสียทีเดียว แต่การส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า กสทช. มีอำนาจออกประกาศฉบับนี้หรือไม่ ถือว่าเป็นทางออกที่วิน-วินในเวลานี้ ขอบคุณ คปก. และ องค์กรวิชาชีพที่ยืนหยัดหลักการเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง ส่วนตัวขอบคุณบอร์ด กสท. ทุกท่านด้วย เราถกเถียงกันมาก ได้เรียนรู้กันและกันและเมื่อถูกคัดค้านอย่างหนักก็รับฟังและถอยให้มีการตีความทางกฎหมายก่อน โดยไม่ต้องเสี่ยงไปต่อสู้คดีกันในศาล
“อย่างไรก็ตาม สื่อต้องมีคำตอบว่า จะกำกับตัวเองอย่างไร ส่วนตัวสนับสนุนการกำกับดูแลกันเองอย่างเต็มที่ ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก และถ้าทำได้ มองว่าจะเป็นทางออกให้วิกฤตการเมืองในประเทศ ซึ่งอย่างไรก็ตามวันนี้สังคมไทยยังมีประเด็นเรื่องจริยธรรมสื่อ ทั้งสื่อของรัฐและเอกชน ทั้งประเด็นการบิดเบือน หรือ hate speech ที่ต้องช่วยกันดูแลต่อไป หวังในการสร้างกลไกองค์กรวิชาชีพ วิชาการ และ ภาคประชาสังคมช่วยกันสร้างจุดที่พอดีระหว่างสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบร่วมกัน ยากมากๆ แต่เราก็ต้องไม่ท้อถอยที่จะพูดและแก้ปัญหาเรื่องนี้ร่วมกัน…” สุภิญญา กล่าว
สุภิญญา กล่าวถึงความคืบหน้าหลัง กสท. มีมติรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ทั้ง 24 ช่อง ว่า “งาน กสทช. มีทั้งการปฏิรูปสื่อเชิงโครงสร้าง และเชิงเนื้อหา งานตอนนี้ที่ กสทช.ถนัด คือปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยใช้เทคโนโลยีสื่อใหม่ ทั้งนี้ ยอมรับว่าคงไม่สามารถยึดสื่อหลักคืนมาได้ทันที เพราะสื่อหลักมีสัญญาสัมปทานคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม ฟรีทีวีเดิมก็มีเวลาไม่เกิน 5 ปี เพราะอนาล็อกจะต้องยุติลง เปลี่ยนสู่ระบบใบอนุญาต ขณะที่ทีวีดิจิตอล ก็จะเกิดในโครงสร้างใหม่ในระบบใบอนุญาต ก็อยู่ที่ว่าจะใช้สื่ออย่างมีศักดิ์ศรีอย่างไร ขอให้ 24 ช่อง ไม่ต้องกลัวภาครัฐอีกต่อไป แต่ต้องเกรงใจและเคารพคนดู สร้างกรอบใหม่ในการกำกับดูแล ตั้งสภา ตั้งกรอบจริยธรรมของตัวเอง เปลี่ยนวัฒนธรรมของตัวเอง แทนที่ กสทช.จะออกกฎ อยากให้ทั้ง 24 ช่อง เสนอขึ้นมาเองเลยในแต่ละประเภทรายการ ถ้าเป็นเช่นนี้ จะเกิดโครงสร้างใหม่ได้จริง อิสระจากภาครัฐ เพราะกฎหมายกำหนดว่าทีวีดิจิตอลต้องทำศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเป็นการกำกับทางอ้อม กสทช.ได้สร้างพื้นที่ใหม่แล้ว และพยายามไม่แทรกแซงมากเกินไป ”
นอกจากนี้ จับตาวาระ กสท. ตามที่จะประชุมในวันอาทิตย์ที่ 12 ม.ค. 57 นี้ มีวาระสำคัญได้แก่ การเตรียมเลือกหมายเลขลำดับการให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลและการชี้แจงเงื่อนไขก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับผู้ชนะการประมูล ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ฯ ซึ่งการเข้าร่วมประมูล เป็นการดำเนินการเพื่อรับสิทธิ การเลือกหมายเลขลำดับการให้บริการในแต่ละหมวดหมู่โดยเรียงลำดับผู้ชนะการประมูล ในกรณีที่ชนะการประมูลด้วยราคาที่เท่ากัน ใช้วิธีการจับสลาก ได้แก่หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง มี 2 บริษัท ได้แก่ บ.อัมรินทร์ เทเลวิชั่น และบ.จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด รวมทั้งวาระความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง “ปัญหาและผลกระทบที่มีต่อผู้บริโภคจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโทรทัศน์ดิจิตอล” และวาระอื่นๆ ผลเป็นอย่างไรชวนจับตา…