ถกปฏิรูปสื่อรับปีใหม่ เห็นพ้องต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง

ถกปฏิรูปสื่อรับปีใหม่ เห็นพ้องต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง

สื่อหลัก-สื่อการเมือง ร่วมอภิปรายประเด็นปฏิรูปสื่อ (อีกรอบ) ชี้สังคมป่วย สื่อก็ป่วยตาม เตือนสื่อต้องไม่บิดเบือน ยก 6 ตุลาเตือนใจ กสทช.วอนสื่อยุคทีวีดิจิตอล เปลี่ยนวัฒนธรรม กำกับกันเอง เกรงใจคนดู องค์กรวิชาชีพแนะรายงานอย่างเดียวไม่พอ ต้องตรวจสอบด้วย
7 ม.ค.2557 เสวนาสาธารณะ เรื่อง “ปีใหม่ ปฏิรูปสื่อรอบใหม่: สื่อไทยกับการสร้างต้นทุนใหม่ในการก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง” จัดโดย ฝ่ายวิจัย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ชั้น 11 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
เตือนสื่อต้องไม่บิดเบือน ยก 6 ตุลาเตือนใจ
ฐากูร บุนปาน ผู้จัดการทั่วไปและที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เริ่มโดยกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่ถึงขั้นต้องปฏิรูปสื่อ พร้อมเล่าว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหัวข่าวของ นสพ.ฉบับหนึ่งบอกว่า “ควายแดงแปลงกายเป็นเสื้อขาว” อีกหัวบอก “มวลมหาประชาชนออกมาม้วนเดียวจบ ไม่จบต้องเป็นขี้ข้าแม้ว” “สมเด็จวัดปากน้ำรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช” สองหัวข่าวแรก ไม่เป็นมิตร แสดงบรรยากาศของความเป็นศัตรูกันของคนในสังคม และสื่อ ในฐานะคนทำหนังสือพิมพ์
ส่วนหัวข่าวสุดท้ายโหดร้ายกับวิชาชีพ คนอ่าน และสังคมไม่น้อยกว่ากัน เพราะรวบรัดตัดตอน ทำให้ข่าวมันผิดจากข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงคือสมเด็จวัดปากน้ำทำสัตยาบันรับหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพราะตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ต้องได้รับโปรดเกล้าจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เท่านั้น วิธีขึ้นหัวข่าวให้ข้อเท็จจริงผิดอย่างนี้ ทำให้สมเด็จวัดปากน้ำฯ ซึ่งเป็นเป้าอยู่แล้วว่าสนับสนุนธรรมกาย คนคิดว่าเป็นสังฆราชแล้วหรือ ถ้าอ่านแต่หัวไม่อ่านเนื้อจะเข้าใจผิดได้มากมาย นี่คืออาการของสังคมไทยในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ฐากูร มองว่า สื่อเป็นทั้งผลผลิตและกระจกของสังคม เนื่องจากสื่อถูกสั่งสอน อบรม กล่อมเกลาจากสังคมไทย ทั้งทัศนคติ ความรู้ ความเชื่อ ขณะที่งานของสื่อก็ส่งไปที่คนอ่านคนดู กล่อมเกลาซึ่งกันและกัน ฉะนั้นปัญหาของสื่อไม่ใช่ของสื่อฝ่ายเดียว แต่เป็นปัญหาของสังคมด้วย ถ้าสื่อเป็นไข้ สังคมก็เป็นไข้
ฐากูร กล่าวว่า อาการไข้ของสังคมปัจจุบัน คือ หนึ่ง เราไม่เคารพข้อเท็จจริง หรือจงใจจะละเลยข้อเท็จจริง เชื่อโดยไม่ต้องฟัง ยังไม่ทันเห็นรายละเอียด แต่ตัดสินได้แล้วจากหัวข้อ คนทวีตมา ถูกใจทวีตต่อ แชร์ต่อ นี่เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายไม่ว่าสีไหนกลุ่มไหน อาการแบบนี้น่าเป็นห่วง และไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร จะจบอย่างไร เช่นเดียวกับสังคมไทยตอนนี้ สอง มีการใช้ “โทสวาท” หรือ hate speech เราเห็นไม่ตรงกัน ทะเลาะกัน มีจุดยืนทางการเมือง สังคม ฯลฯ แตกต่างกัน และสามารถพัฒนาให้กลายเป็นการทะเลาะกันส่วนตัวได้ด้วยถ้อยคำผรุสวาทหยาบคาย ซึ่งน่าเป็นห่วง
ฐากูร ระบุว่า ก่อนปี 2500 ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงแหลมคม อาจจะมากกว่าตอนนี้ มีความขัดแย้งระหว่าง เจ้า-ขุนนาง ขุนนาง-ขุนนาง ขุนนาง-ประชาชน สื่อมีค่ายชัดเจน แต่วิธีนำเสนอและแสดงออกของสื่อสมัยนั้น เป็นปัญญาชนกว่าสื่อสมัยนี้เยอะ ถ้อยคำที่ใช้เจ็บแสบ บาดลึกพอกัน แต่นุ่มนวลและแนบเนียน ไม่มีขึ้น มึง-กู-ไอ้ห่า-ไอ้เหี้ย นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งนี้ ในโซเชียลเน็ตเวิร์คเข้าใจได้ แต่เมื่ออยู่ในสื่อ การไม่เคารพข้อเท็จจริงและใช้เฮทสปีชต่อกัน ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงและหนักยิ่งขึ้น
เขากล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าอาการขนาดนี้ต้องปฏิรูปไหม เพราะอย่างที่เรียนว่าสื่อเป็นผลของสังคมด้วย คงต้องแก้พร้อมกันๆ ต้องแก้รากเหง้าต้นตอปัญหาอื่นด้วย แต่ถ้าเฉพาะสื่อ ส่วนตัวคิดว่าไม่ต้องปฏิรูป ขอให้ทำ 2 สุ คือ “สุจริต” ไม่ว่าเป็นสื่ออะไร มีหน้าที่รายงานข่าว ข้อเท็จจริง ก็ต้องทำให้มันตรงกับข้อเท็จจริง อาจมีอคติแอบแฝง แต่อย่างน้อยต้องรู้ตัวเองและจัดการกับอคติให้เหลือน้อยที่สุด ในส่วนของข่าว ให้ตรงไปตรงมา สะท้อนข้อเท็จจริงที่รอบด้านที่สุด และ สอง “สุภาพ” ถ้าไม่สุภาพ เรื่องไม่เป็นเรื่องก็เป็นเรื่อง เรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่เห็นด้วยกัน โกรธ เกลียดกันได้ แต่อย่าออกปากด่าให้อาฆาตกันจนต้องรบรา และอยู่ไม่ได้
ฐากูร กล่าวเสริมด้วยว่า 30 ปีมานี้ สื่อแทบไม่ได้พัฒนาไปไหนเลย หลายคนอาจจำเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 ได้ ฟางเส้นสุดท้ายคือการแต่งรูปของ นสพ.ดาวสยาม แล้วบางกอกโพสต์เอาไปรายงานต่อ และบอกว่า นศ.เล่นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการที่ข้อเท็จจริงที่ถูกบิด และสื่อมีส่วนด้วย ทำให้เกิดการฆ่ากัน ถ้าไม่อยากให้คนไทยฆ่ากันกลางเมืองอีก ต้องช่วยกันวิจารณ์สื่อให้หนัก ขอให้มีการตรวจสอบคานกันเองโดยสื่อ โดยสังคม ไม่ว่า โซเชียลมีเดีย หรือวงวิชาการ และขอให้ตรวจสอบ คานการทำงานของสื่อด้วยกฎหมาย ในกรณีที่สื่อล่วงล้ำก้ำเกิน ใช้เฮทสปีช แล้วเราจะไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลังว่าสื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆ่ากันทางการเมืองแบบปี 2519
วอนอย่าเอาสื่อไปเป็นคู่ขัดแย้ง
สมโภชน์ โตรักษา ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 กล่าวว่า ไม่มีใครเป็นกลางในชีวิตจริง เรามีความชอบไม่ชอบในใจ แต่เครื่องมือตัดสินว่าเราเคารพในจรรยาบรรณวิชาชีพ คือการเสนอข้อเท็จจริงแบบไม่มีอคติแอบแฝง
สมโภชน์ เล่าว่า ช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตัวเองน่าจะเป็นสื่อมวลชนคนแรกที่โดนทำร้าย แต่ไม่ได้บอกว่าคนทำร้ายเป็นพันธมิตรฯ โดยวันนั้นยืนรายงานข่าวว่าคนหลายหมื่นคนมาร่วมชุมนุมที่พระบรมรูปทรงม้า รายงานเสร็จมีคนบอกว่าโกหก เพราะรายงานว่ามาแค่สามพันคน โดนขว้างปาสิ่งของมา จนตำรวจต้องนำตัวตนเองไปที่ บชน.
ถัดมา ปี 53 สัมภาษณ์ จตุพร พรหมพันธุ์ เรื่องข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะเรื่องให้ประธานองคมนตรีออกจากตำแหน่ง โดยที่ไม่ได้พูดเรื่องจำนวนคน พอสัมภาษณ์เสร็จ มีคนเสื้อแดงบอกว่า ไอ้นี่รายงานว่าไม่ถึงสามพันคน เจอขว้างปา จะเผารถโอบี
เขาย้ำว่า อย่าเอาสื่อมวลชนไปเป็นคู่ขัดแย้ง ให้สื่อได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากทุกสีทุกฝ่าย เมื่อนั้น ประชาชนก็จะได้รับข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา หากเสนอไม่ถูกต้อง ประชาชนจะลงโทษได้ด้วยการไม่รับสื่อนั้นเอง พร้อมเน้นว่า ตนเองไม่ได้ท้าทาย แต่อยากให้ฟังซึ่งกันและกัน และขอให้ช่อง 7 ได้นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา อย่าให้ต้องเผชิญกับความขัดแย้งเช่นปัจจุบันนี้
ชี้จะปฏิรูปต้องค้นคว้ากันใหม่ เสนอวิจัยผู้บริโภค
เถกิง สมทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์บลูสกาย (Bluesky Channel) เสนอการปฏิรูปสื่อในแง่เครื่องมือโดยยกกรณีเพจในเฟซบุ๊กที่เขาเป็นหนึ่งในแอดมินว่า เพจบลูสกายชาแนลเพจ มีคนกดไลค์กว่า 4 แสน คนเข้าถึง 8 ล้าน เพจสุเทพ เทือกสุบรรณ คนกดไลค์ 9 แสน เข้าถึงคน 12 ล้านคน นอกจากนี้ วันที่ถ่ายทอดสดเวลากำนันเดิน ทางข้างหน้าหนึ่งกิโลเมตรจะยังไม่มีคนออกมา แต่ผ่านไปๆ คนออกมาเต็มไปหมด ถ้าจะทำเรื่องปฏิรูปสื่อ ต้องค้นคว้าใหม่หมด ต้องทำวิจัยว่าเครื่องมือสื่อสารทำงานอย่างไร
ด้านการนำเสนอ เถกิงย้ำว่า เขาให้ความสำคัญกับการใช้ภาษา โดยจะระบุกับทีมงานตลอดว่า ใครใช้ภาษาหยาบคายจะไล่ออก ทั้งนี้เพราะมีประสบการณ์ที่รายการเรทติ้งดีมาก แต่วันหนึ่งมีคนพูดหยาบคายเข้า เรทติ้งก็เสีย เช่นเดียวกับเรื่องการเมือง ถ้ามีวาทศิลป์ในการนำเสนอ ไม่ต้องใช้คำหยาบคนจะเชื่อมากกว่า
เถกิงกล่าวเสริมว่า เรทติ้งของบลูสกายมีช่วงหนึ่งเป็นที่สามของทั้งประเทศ เป็นรองช่อง 3 และช่อง 7 ถามว่าทำไมคนต้องการข่าวสารมากขนาดนี้ ตรงนี้ต้องหาคำตอบ ทั้งนี้ มองว่า คนไทยอยากรู้เรื่องการเมืองสูงมาก หากสื่อฟรีทีวีเสนอข่าวสารทางการเมืองมากขึ้น ความขัดแย้งจะไม่เกิด เขามองว่า พลังสองพลังที่ปะทะกันอยู่ขณะนี้อยู่ในร่างกายเดียวกัน เมื่อแขนซ้ายแขนขวาตีกัน ร่างกายก็เจ็บไปด้วย เชื่อว่าถ้าความขัดแย้งเข้าที่จะไม่ขัดขากันเองและเดินไปข้างหน้าได้
แนะนักข่าวเปลี่ยนวิธีทำข่าว-คนดูรับสื่อมากกว่า 1 ช่อง
บูรพา เล็กล้วนงาม บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท (Asia Update TV) กล่าวว่า เห็นด้วยว่า ควรปฏิรูปสื่อ โดยปัจจุบันเกิดปรากฏการณ์ที่สื่อเสนอข่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งตนเองไม่แปลกใจ เพราะมองว่า เกิดจาก หนึ่ง สื่อไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอ ซึ่งซ้ำรอยเดิมกับเหตุการณ์ในปี 2549 เช่น การรายงานเรื่อง ทักษิณขายหุ้นไม่เสียภาษี การขอนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย สอง จิตสำนึกสื่อคือจิตสำนึกคนชั้นกลาง ซึ่งเข้าไปผสมโรงกับการล้มรัฐบาลตามทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย
สาม สื่อเป็นผลผลิตแบบไทยๆ ถูกกดทับไม่ให้ตั้งคำถาม เมื่อคนไทยไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยเช่นไร สื่อก็เป็นเช่นนั้น และหวังให้อัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาแก้ปัญหา สี่ ขอกล่าวหาสื่ออาจรวมถึงช่องตัวเองด้วย คือสื่อความจำสั้น จำไม่ได้ว่าใครทำอะไรไว้ และไม่ตั้งคำถามก่อนนำเสนอ เช่น วาทกรรมปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ว่าจะปฏิรูปอย่างไร หรือทำไมม็อบหนุนให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด แต่ไม่สนับสนุนนายกฯ จากการเลือกตั้ง
บูรพา เสนอว่า เพื่อการปฏิรูปสื่อ องค์กรสื่อควรปฏิรูปนักข่าว บรรณาธิการ โดยเพิ่มรายได้ สวัสดิการ ให้เท่าเทียมอาชีพอื่น ลดการเขียนข่าวต่อวันให้น้อยลง เพื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น และมีเวลาคิดไตร่ตรองเรื่องต่างๆ รวมถึงต้องปฏิรูปแนวคิด ให้คนทำข่าวภาคสนามเป็นนักข่าวอาวุโสได้ เพื่อให้ได้ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านสื่อไปรายงานในระดับปฐมภูมิ ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด
นอกจากนี้ บูรพา เสนอว่า นักข่าวต้องเปลี่ยนวิธีการทำข่าวโดยหัดถามแหล่งข่าวและเขียนข่าวเองเพื่อฝึกให้ตัวเองเข้าใจประเด็น ไม่ใช่ปล่อยให้คนที่อาวุโสสุดถามและลอกข่าว แชร์ข่าวกัน บรรณาธิการเองก็ต้องกำหนดประเด็นทำข่าวร่วมกับนักข่าว สอดแทรกภูมิหลังของคนในข่าว และเลิกทำข่าวปิงปอง
บูรพา เสนอว่า การจะยุติความขัดแย้ง สื่อต้องยุติการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง นำตัวออกจากความเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง รับใช้ประชาชนโดยธำรงการปกครองประชาธิปไตยเอาไว้ แต่ถ้าทำไม่ได้และยินดีลดตัวเป็นกลุ่มผลประโยชน์ ก็ขอให้สื่อสละสถานะสื่อหลักลงมาเป็นสื่อทางเลือก อย่างที่พวกตนสังกัดอยู่ ทั้งนี้ ไม่ว่าสื่อหลักหรือสื่อทางเลือก ต้องไม่บิดเบือน และมีข้อแนะนำผู้ชมว่าต้องดูมากกว่าหนึ่งช่อง แล้วไปชั่งเอาเอง
ชี้ไม่ใช่แค่รายงาน แต่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เล่าว่า คราวที่ กปปส.ไปที่สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ สมาคมฯ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน บ้างว่าต้องประณาม เป็นการคุกคามสื่อ บ้างบอกว่าก็เราเสนอข่าวไม่ตรงบิดเบี้ยว เขาก็ต้องมา มีมุมของแต่ละคนที่ต่างกันไป อย่างไรก็ตาม แม้สุดท้ายจะไม่มีข้อสรุป แต่อย่างน้อยสื่อต้องทำหน้าที่รายงานข้อเท็จและข้อจริงอย่างมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
นอกจากนี้ ยังมีข้อถกเถียงกันว่า หน้าที่ของสื่อในความขัดแย้งมีแค่ไหน เสนอแค่ข้อเท็จจริง หรือข้อเท็จจริงบวกความเห็นและทางออก หรือส่งสัญญาณเตือนสังคม หรือกล้าเสนอทางเลือกเลยว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่มีทางออก ในแง่คนทำงานมีความอึดอัด มีการเรียกสื่อปรึกษา มีสองความเห็นคือ ต้องรายงานข้อเท็จจริง และผู้บริหารสื่อส่วนใหญ่มองว่าสื่อไม่ใช่ผู้ตัดสินถูกผิด แต่ต้องส่งสัญญาณเตือนว่า ถ้าเกิดแบบนี้ๆ จะส่งผลอย่างไรต่อสังคม
วิสุทธิ์กล่าวว่าในฐานะผู้บริหารสื่อ หนึ่ง ยืนยันหลักการว่าสื่อต้องมีพื้นที่ทำหน้าที่ของตัวเอง จะกักตัว ทำร้ายร่างกายไม่ได้ คนข่าวก็เหมือนหมอพยาบาลในสนาม ต้องได้รับการดูแลพอประมาณ และ สอง ต้องมีการประสานงานกันกับผู้ประสานงานการชุมนุม สื่อเองต้องมีอุปกรณ์ป้องกันและเตรียมพร้อม สมาคมฯ เคยทำหลักสูตรการรายงานในสถานการณ์ความขัดแย้ง นี่เป็นสิ่งที่องค์กรสื่อต้องคิดแล้ว ทั้งนี้ ย้ำว่า นักข่าวต้องไม่ไขว้เขวในการทำงาน ต้องมีความรับผิดชอบ ขณะที่ผู้บริหารสื่อต้องกล้านำเสนอสิ่งที่ควรเสนอ
วิสุทธิ์กล่าวต่อว่า สื่อมวลชนคือผู้สื่อสาร ไม่ใช่แค่สื่อสารเรื่องราว แต่ต้องแก้สิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่แหล่งข่าวพูดมีทั้งข้อเท็จ-ข้อจริง สื่อต้องให้ข้อมูลว่าข้อเท็จจริงคืออะไร เชื่อว่าจะช่วยลดความขัดแย้งได้
วอนสื่อยุคทีวีดิจิตอล เปลี่ยนวัฒนธรรม กำกับกันเอง เกรงใจคนดู
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสื่อไม่ค่อยมีอยู่ในวาระทางการเมืองของแต่ละฝ่ายแล้ว ไม่แน่ใจว่าเพราะต่างมีสื่อในมือแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ ก่อนมี กสทช. เรื่องการปฏิรูปสื่อจะมีอยู่ทุกที่ แต่ตอนนี้วาทกรรมในเวทีการเมืองต่างๆ ไปที่เรื่องชาติและภาพรวม และด่าสื่อกันมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งไปแล้ว ทำให้กลุ่มการเมืองวิพากษ์สื่อที่เห็นต่าง-ชื่นชมสื่อที่เข้าข้าง ทำให้สื่อเป็นอิสระหายไป เป็นยุคของการเรียกร้องให้สื่อเลือกข้าง ไม่ใช่ให้สื่อทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น
สุภิญญา กล่าวว่า สื่อเลือกข้างได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเลือกข้างทุกสื่อ คิดว่าต้องมีสื่อมืออาชีพด้วย ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ คือ หนึ่ง รายงานตามข้อเท็จจริง ในอินเทอร์เน็ตมีข่าวเยอะไปหมด แต่สุดท้ายคนยังคาดหวังสื่อหลักอย่างหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ทำหน้าที่ยืนยันข้อเท็จจริง สอง เรียกร้องให้ไม่บิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี หรือเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง สาม เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายที่ถูกวิจารณ์ได้ชี้แจง ทั้งนี้ สำหรับสื่อที่เลือกข้างแล้ว ขอเรียกร้องให้พยายามรักษาบรรยากาศการรับฟังการวิจารณ์ของคนกลุ่มอื่นๆ เอาไว้
สุภิญญา กล่าวต่อว่า ธรรมชาติของสื่อ โดยเฉพาะในความขัดแย้ง ถ้าให้รัฐมาสั่ง จะไม่ฟัง และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะคนจะไม่ไว้ใจ ไม่มีทางได้รับการยอมรับ 100% และสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจทางการเมือง แต่หากองค์กรวิชาชีพด้วยกันเตือน จะฟัง นี่คือทางออกของสังคมไทย และเมื่อสถานการณ์การเมืองเย็นลง ถ้าเป็นไปได้ ก็จะชวนมานั่งคุยกันว่าแค่ไหนที่จะไม่เป็นเฮทสปีช
สุภิญญา กล่าวว่า งาน กสทช. มีทั้งการปฏิรูปสื่อเชิงโครงสร้าง และเชิงเนื้อหา งานตอนนี้ที่ กสทช.ถนัด คือปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยใช้เทคโนโลยีสื่อใหม่ ทั้งนี้ ยอมรับว่าคงไม่สามารถยึดสื่อหลักคืนมาได้ทันที เพราะสื่อหลักมีสัญญาสัมปทานคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม ฟรีทีวีเดิมก็มีเวลาไม่เกิน 5 ปี เพราะอนาล็อกจะต้องยุติลง เปลี่ยนสู่ระบบใบอนุญาต ขณะที่ทีวีดิจิตอล ก็จะเกิดในโครงสร้างใหม่ในระบบใบอนุญาต ก็อยู่ที่ว่าจะใช้สื่ออย่างมีศักดิ์ศรีอย่างไร
“ขอให้ 24 ช่อง ไม่ต้องกลัวภาครัฐอีกต่อไป แต่ต้องเกรงใจและเคารพคนดู สร้างกรอบใหม่ในการกำกับดูแล ตั้งสภา ตั้งกรอบจริยธรรมของตัวเอง เปลี่ยนวัฒนธรรมของตัวเอง” สุภิญญากล่าวและว่า แทนที่ กสทช.จะออกกฎ อยากให้เสนอขึ้นมาเองเลยในแต่ละประเภทรายการ ถ้าเป็นเช่นนี้ จะเกิดโครงสร้างใหม่ได้จริง อิสระจากภาครัฐ เพราะกฎหมายกำหนดว่าทีวีดิจิตอลต้องทำศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเป็นการกำกับทางอ้อม
สุภิญญา ย้ำว่า กสทช.ได้สร้างพื้นที่ใหม่แล้ว และพยายามไม่แทรกแซงมากเกินไป ทั้งยังมีข่าวดีคือ ร่างประกาศคุมเนื้อหาสื่อตามมาตรา 37 ขณะนี้ถูกส่งไปให้กฤษฎีกาตีความว่ามีอำนาจออกหรือไม่ ทำให้เรื่องนี้ชะลอไปก่อน อย่างไรก็ตาม สื่อต้องมีคำตอบว่า จะกำกับตัวเองอย่างไร ส่วนตัวสนับสนุนการกำกับดูแลกันเองอย่างเต็มที่ ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก และถ้าทำได้ มองว่าจะเป็นทางออกให้วิกฤตการเมืองในประเทศ
โจทย์ใหม่ทำสื่อยุคโซเชียลมีเดีย
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษากองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์ และที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ยืนยันหลักสิทธิเสรีภาพของสื่อ ว่าสื่อควรทำงานได้อย่างปราศจากอิทธิพล แรงกดดัน แม้จะอยู่ในสถานการณ์ขัดแย้ง แต่ในความเป็นจริง คงเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกสื่อล้วนทำงานภายใต้ภาวะความกดดัน มีความคาดหวังจากสังคม
ด้านความปลอดภัยของนักข่าว สมาคมฯ ได้จัดทำหลักสูตรการรายงานข่าวในความขัดแย้งหลายครั้ง แต่คิดว่าคงไม่เพียงพอ ดูจากจำนวนปลอกแขนเป็นพันอันที่แจกไป เพราะคงไม่ได้มีแต่นักข่าวการเมืองที่ลงสนาม แต่มีนักข่าวสายอื่นผลัดไปช่วยกันด้วย
ด้านการนำเสนอข่าวนั้น มีการย้ำให้อยู่ในกรอบจริยธรรม โดยที่ต้องระวังคือ hate speech ซึ่งมองว่าไม่ได้มาจากผู้ชุมนุมฝ่ายเดียว แต่อาจมาจากภาครัฐหรือฝ่ายความมั่นคงได้ เช่น เอาข่าวกรองมาพูดผ่านทีวีเฉพาะกิจ ต้องระวังทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องยากของการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง
ชวรงค์ กล่าวถึงโซเชียลมีเดียด้วยว่า มีการคุยกันในแวดวงคนทำข่าวเรื่องอิทธิพลของโซเชียลมีเดียในการกำหนดวาระข่าวสาร ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่ามีอย่างมาก ว่าจะจัดการอย่างไร โดยมีคำถามว่า เวลามีนักการเมืองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโพสต์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย จะนำมารายงานตรงๆ เลยไหม หรือควรตั้งคำถามกลับไป หรือนำข้อมูลจากอีกฝ่ายมาเสนอ เพราะก็มีการวิจารณ์กันเองและจากนักวิชาการว่า ทำข่าวง่ายไปไหม แค่รายงานว่าใครโพสต์อะไร ไม่มีการตั้งคำถามเลยว่าที่โพสต์จริงไหม ถูกต้องไหม อย่างไรก็ตาม ในยุคที่จะมีทีวีดิจิตอลเพิ่มขึ้นมา หวังว่าจะสร้างความหลากหลาย ทำให้สังคมมีทางเลือกมากขึ้น

ช่วงถาม-ตอบ
พิรงรอง รามสูตร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ถามว่า ต่อข้อเสนอที่จะให้สื่อดูแลกันเอง  ที่ผ่านมา เมื่อสภาการ นสพ. มีมติออกมา ก็มีการลาออก เช่น กรณีมติชน หรือกรณีไร่ส้ม ทำให้ทำอะไรไม่ได้ เพราะสภาการฯ กำกับดูแลสมาชิกเท่านั้น จะแก้ปัญหานี้อย่างไร
ฐากูร ตอบว่า ส่วนตัวไม่เชื่อเรื่อง self-regulation หรือการกำกับดูแลกันเอง แต่เชื่อเรื่อง social-regulation ให้สังคมกำกับ และ หวังว่าเมื่อสื่อล่วงล้ำคนอื่น จะมีการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งก็ต้องเป็นไปอย่างเข้มแข็งจริงจังด้วย นอกจากนี้เห็นด้วยกับบูรพาว่าผู้ชมต้องไม่ดูสื่อแหล่งเดียว ต้องเปิดรับสื่ออื่นๆ ด้วยเพื่อคานกันไว้ และอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า
เมืองไทยป่วย สื่อเลยป่วยไปด้วย ถ้าช่วยรักษาอาการสังคมไทยให้ทุเลาลง อาการของสื่อก็จะดีไปด้วย

ด้านชวรงค์ ตอบว่า เคยพูดและเขียนหลายครั้งสมัยเป็นเลขาสภาการฯ ว่า องค์กรจะทำหน้าที่ได้ ต้องมีภาคสังคมที่เข้มแข็งและเข้ามาหนุน จะแค่เจ้าของ และนักข่าว เห็นตรงกันและควบคุมกันเองเป็นไปไม่ได้ แต่ผู้บริโภคสื่อบ้านเรายังไม่เข้มแข็งพอที่จะรวมตัวกันและทำหน้าที่ตรวจสอบสื่อได้อย่างจริงจัง

ด้านเถกิงกล่าวว่า คนที่จะตรวจสอบกันเอง ต้องมีอำนาจด้วย โดยชี้ว่าเมื่อดูแถลงการณ์สมาคมสื่อ จะเห็นว่า ไม่มีผลเพราะไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษ ทั้งนี้ เสนอว่าอาจสร้างกลไกขึ้นมาโดยที่องค์กรวิชาชีพนั้นต้องได้รับการยอมรับว่ามีการตรวจสอบอย่างเป็นธรรม เมื่อพิจารณาเรื่องแล้วก็ยื่นเรื่องให้ กสทช.พิจารณา เพื่อให้ดาบกับองค์กรวิชาชีพ

“”"”"

ขอบคุณที่มาข่าว…สำนักข่าวประชาไท