จับตาวาระ กสท. นัดแรก
ลุ้นใบอนุญาตดิจิตอล – ถกต่อ!กำกับเนื้อหา – ดูแลผู้บริโภคทรูหลังหมดสัมปทาน
บอร์ดกสท.ประชุมนัดแรก 6 ม.ค. 57 เตรียมออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลหลังประมูลส่งท้ายปี รวม 24 ใบ พร้อมถกต่อ ! ร่างประกาศฯกำกับเนื้อหามาตรา 37 หลังขยายเวลารับฟังความเห็นสาธารณะครบ 30 วัน ด้านอนุกก.คุ้มครองผู้บริโภคฯชงบอร์ดหามาตรการเพิ่มหลังทรูฯ หมดสัมปทาน อสมท. ก.ย.นี้
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 วันจันทร์ที่ 6 ม.ค. นี้ มีหลายวาระน่าสนใจและน่าจับตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาผลการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ ตามที่ได้ผู้ชนะการประมูล ทั้ง 24 ราย เมื่อวันที่ 26 – 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยวาระแรกของการหารือ กรรมการ กสท.จะนำผลการเคาะราคาประมูลมาพิจารณา หากไม่มีเรื่องร้องเรียนใดการรับรองผลน่าจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่สิ่งสำคัญที่สังคมอยากรู้ต่อจากนี้คือ ช่องทางที่ผู้บริโภคจะสามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ซึ่งเป็นรายละเอียดต่อไปที่ กสท.จะต้องเร่งพิจารณาการสนับสนุนคูปองแลกกล่อง(set top box) อย่างไรก็ตามสัปดาห์นี้ตนจะสอบถามสำนักงาน ถึงความชัดเจนแผนการขยายโครงข่ายหรือ MUX ในการแพร่สัญญาณทีวีดิจิตอลครอบคลุมครัวเรือนทั้งประเทศ ทั้ง 4 รายของผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล ได้แก่ บมจ. อสมท. กองทัพบก กรมประชาสัมพันธ์ และ องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย(ไทยพีบีเอส) เพราะจะสัมพันธ์ในการเข้าถึงพื้นที่และการแจกคูปอง ดังนั้นในช่วงแรกจะมีเพียงบางพื้นที่ที่สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ ตามเงื่อนไขในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล พ.ศ. 2556 และ ประกาศฯอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ มีวาระการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … ภายหลังการขยายระยะเวลาการรับฟังความเห็นสาธารณะเพิ่มเติม “…เนื่องจากมีจดหมายสำคัญจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ที่คัดค้านในเรื่องนี้ด้วย จึงเห็นว่า กสทช.ควรพิจารณาความเห็นจาก คปก.อย่างจริงจัง ถ้าเป็นไปได้ควรเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไป เพื่อสร้างความชัดเจนทางกฎหมายและทางออกว่า ถ้าไม่มีร่างประกาศฯ ตามมาตรา 37 ในเวลานี้ การกำกับเนื้อหาทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร อยากใช้โอกาสนี้เรียกร้องถึงว่าที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง ควรรวมตัวกัน จัดตั้งเป็นสมาคม สมาพันธ์ สภาต่างๆ ที่จะส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองตามกรอบจรรณยาบรรณ ทั้งในระดับผู้ประกอบการ และกองบรรณาธิการช่องข่าว และยังเป็นการต่อรองกับ กสทช.ในการกำกับเนื้อหาที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพภายใต้เกณฑ์จริยธรรม จรรณยาบรรณที่กำหนด รวมถึงการสนับสนุนการรวมตัวกันทางวิชาชีพเพื่อสร้างมิติใหม่ในการกำกับดูแล และสร้างศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ตามเงื่อนไขผู้รับใบอนุญาต ส่วนตัวหวังว่า วันจันทร์ 6 ม.ค.นี้ กสท.จะทบทวนครั้งใหญ่ในการออก ร่างประกาศฯ ตามมาตรา 37 และเปลี่ยนวิธีคิดการกับดูแลให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและยุคสมัยมากขึ้น ด้วยการเน้นการกำกับดูแลร่วม โดยให้สื่อกำกับตัวเองมากกว่ารัฐจะใช้กฎหมายเข้าไปเซ็นเซอร์ ที่ทำให้เกิดความคึกคักในกำกับดูแลของวิชาชีพ และน่าจะเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลกัน…” สุภิญญา กล่าว
ส่วน บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด(มหาชน) จะหมดสัญญาสัมปทานกับ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) เป็นครั้งแรกที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ เสนอแนวทางให้บอร์ด กสท. มีมติให้ส่งจดหมายถึงทรูวิชั่นส์ และ อสมท. ให้แจ้งแนวทางการดูแลผู้บริโภคหลังหมดสัมปทานหมดในปลายเดือนกันยายนปีนี้
ส่วนรายงานสถิติเรื่องร้องเรียน ของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ สามารถแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนได้เกิน 80% ซึ่งรายละเอียดจะแถลงต่อไป…