“ไปตปท.-เบี้ยประชุม”ทะลุ250ล้าน “สตง.”ติง”กสทช.”ใช้เงินไม่สะท้อนภารกิจสำคัญ
updated: 24 ธ.ค. 2556 เวลา 12:05:19 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
“ค่าเบี้ยประชุม-เดินทางไป ตปท.” ปี 2555 “กสทช.” ทะลุ 250 ล้านบาท “สตง.” แฉเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 295% และ 195% ตามลำดับ ตั้งคณะอนุกรรมการ-คณะทำงาน 75 คณะ รวม 696 คน บางคนเป็นมากถึง 14 คณะ ขณะที่เสียเงินจ้างเอเยนซี่ทัวร์จัดการเดินทางเป็นเงินถึง 100 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า สตง.ได้ตรวจสอบงบการเงินประจำปี 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และได้ออกรายงานลงวันที่ 20 ก.ย. 2556 ว่าด้วยการประเมินผลการใช้จ่ายเงิน และทรัพย์สินของสำนักงาน กสทช. พร้อมส่งรายงานฉบับดังกล่าวให้สำนักงาน กสทช. เรียบร้อยแล้ว โดยพบว่า ในปีงบประมาณ 2555 สำนักงาน กสทช.มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย 4,625.55 ล้านบาท ถือว่าสูงกว่าค่อนข้างมาก ไม่ได้มีการปันส่วนค่าใช้จ่ายให้กิจกรรมอย่างเหมาะสม และไม่สะท้อนภารกิจสำคัญ
ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณยังต่ำกว่าแผนงบประมาณปี 2555 โดยเฉพาะงบฯโครงการที่เบิกจ่ายได้เพียง 30.38% และมีการกันงบฯไว้เบิกเหลื่อมปีสูงถึง 609.16 ล้านบาท หรือ 62.74% สาเหตุมาจากมีการทำโครงการจำนวนมาก โดยไม่ได้ประเมินว่าจะทำได้ตามแผนหรือไม่ ซึ่งอาจแปลความหมายได้ว่า สำนักงาน กสทช.พยายามจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อใช้จ่ายเงิน ทำให้เหลือเงินนำส่งรัฐลดลง
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปี 2555 อยู่ที่ 2,589.47 ล้านบาท (ปี 2554 อยู่ที่ 2,586.55 ล้านบาท) แต่มีค่าใช้จ่ายบางหมวดสูงขึ้นมาก ได้แก่ ค่าเบี้ยประชุมของกรรมการ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ โดยค่าเบี้ยประชุมกรรมการ (รวมคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน) อยู่ที่ 52.84 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 39.47 ล้านบาท หรือ 295.04% เนื่องจากมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการถึง 75 คณะ มีจำนวนบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน รวม 696 คน ทั้งที่เป็นพนักงานของสำนักงาน กสทช. และบุคคลภายนอก ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ค่าเบี้ยประชุมตามข้อมูลของกลุ่มงานทรัพยากรบุคคลกับกลุ่มงานคลัง มีจำนวนไม่ตรงกัน ต่างกัน 8.07 ล้านบาท โดยไม่สามารถชี้แจงสาเหตุได้และมีบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการตั้งแต่ 5 คณะขึ้นไป จำนวน 20 คน บางคนเป็นถึง 14 คณะ โดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมสูงสุด 2.53 ล้านบาท ประชุมทั้งสิ้น 38 ครั้ง ส่วนคณะทำงานเพื่อจัดทำคู่มือการบังคับใช้กฎหมาย เป็นคณะทำงานที่ได้รับเบี้ยประชุมสูงสุด 0.71 ล้านบาท จากการประชุม 30 ครั้ง
จากรายงานของ สตง.ระบุว่า ได้วิเคราะห์ว่าการตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานจำนวนมากอาจบ่งบอกถึงกลไกการทำงานประจำของเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. มีปัญหาหรือขาดประสิทธิภาพ และอาจแสดงว่า คุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถของพนักงานไม่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการปฏิบัติงานในลักษณะเป็นคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานอาจทำให้พนักงานขาดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความอ่อนแอขององค์กรในที่สุดส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศในปี 2555 อยู่ที่ 206.57 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 136.57 ล้านบาท หรือ 195.10% และข้อมูลค่าใช้จ่ายที่ได้จากกลุ่มงานยุทธศาสตร์และการงบประมาณกับกลุ่มงานคลังยังไม่ตรงกัน ต่างกัน 77.66 ล้านบาท โดยไม่สามารถชี้แจงสาเหตุได้
ในปี 2555 มีจำนวนผู้เดินทางไปต่างประเทศ 255 คน มี 30 คน ไปตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไป ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศมากที่สุดคือ 17 ครั้ง และพบว่าสำนักงาน กสทช.จ้าง บริษัท ทราเวล เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้จัดการเดินทาง รวมเป็นเงิน 100.10 ล้านบาท คิดเป็น 48.46% ของค่าใช้จ่ายในการไปต่างประเทศทั้งหมด
“สตง.ขอให้สำนักงาน กสทช.ทบทวนเหตุผล และความจำเป็นในการตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานให้เหมาะสมกับภารกิจ เช่นเดียวกับการเดินทางไปต่างประเทศ ถ้าลดการจ้างเอกชนดำเนินการจะทำให้ค่าใช้จ่ายลดอย่างมีนัยสำคัญ”
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงนโยบายการเช่าสินทรัพย์ให้เหมาะสม และให้มีการทำรายงานผลตรวจนับพัสดุคงเหลือ เนื่องจากปัจจุบันมีการเก็บรักษาทรัพย์สินไม่รัดกุม รวมถึงมีทรัพย์สินจำนวนมากไม่ได้ใช้งาน เช่นเดียวกับเอกสารทางบัญชีที่บันทึกไว้ไม่ครบถ้วนและเก็บรักษาอย่างรัดกุมเพียงพอรวมถึงการจ้างที่ปรึกษา วิจัยและโครงการนำร่องที่ในปี 2555 มี 46 โครงการ ใช้งบทั้งหมด 654.23 ล้านบาท แต่มีลักษณะเป็นการจ้างเพื่อหาข้อมูลภายในองค์กรที่สำนักงานควรจะรวบรวมไว้แล้ว หรือเป็นข้อมูลที่สามารถขอความร่วมมือจากเอกชนให้ส่งมาให้ได้ ในฐานะเป็นองค์กรกำกับดูแล และข้อมูลที่ได้จากการจ้างแต่ละโครงการไม่ได้มีการจัดเก็บพัฒนาเป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้ร่วมกัน
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการจาก สตง. เมื่อได้รับแล้วจะรายงานให้ กสทช.รับทราบ พร้อมแนบเป็นส่วนหนึ่งของรายงานประจำปีที่ต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาทุกปี และนำข้อเสนอที่ได้มาปรับปรุงการปฏิบัติงาน
ขอขอบคุณประชาชาติธุรกิจ
ที่มา เวบประชาชาติธุรกิจออนไลน์