สุภิญญาฯเปิดความเห็นวาระ การรับส่งสัญญาณวิทยุดิจิตอล
วันนี้(19 ธ.ค.56) สุภิญญา เผย หลังประเทศไทยมีการประมูลทีวีดิจิตอลเพื่อเตรียมเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล ทั้งนี้ในปีหน้า กสทช.มีนโยบายเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล…เตรียมจับตา
ภายหลังมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 46/2556 วันจันทร์ที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบวาระ บันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือในการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล ร่วมกับหน่วยงานรัฐ และ กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ที่มีความสามารถในการติดตั้งเครื่องรับวิทยุในระบบดิจิตอล นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. หนึ่งในกรรมการ กสท. ได้มีความเห็นแตกต่างจากกรรมการเสียงข้างมาก เนื่องจากการดำเนินโครงการจัดทำความร่วมมือในการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล ควรดำเนินการหลังจากที่ กสทช.มีแนวทางและแผนการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลอย่างเป็นทางการ และมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพราะหากดำเนินโครงการจัดทำความร่วมมือซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดแผนการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลก่อนโดยมิได้ประกาศแผนที่ชัดเจนต่อสาธารณะ อาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องการยอมรับของสาธารณะ ตลอดจนลำดับขั้นตอนกระบวนการที่สอดคล้องกับกฎหมาย เนื่องจากเป็นกรณีที่ผลกระทบต่อสาธารณะไม่แตกต่างจากการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งในรายละเอียดของโครงการฯ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจากหลายภาคส่วนมีส่วนร่วม อาทิ สถาบันการศึกษา หน่วยงานเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตลอดจนผู้ประกอบการภาคธุรกิจ โดยมีการจัดทำเกณฑ์การคัดเลือกที่โปร่งใสและเปิดเผยต่อสาธารณะ
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า “การดำเนินการวิทยุดิจิตอลเป็นเรื่องใหม่ เรื่องใหญ่ที่ซับซ้อน เพราะเกี่ยวพันกับการให้สิทธิหน่วยงานรัฐเดิมก่อน ควรมีความชัดเจนและเป็นธรรมกับรายเล็กด้วย รวมทั้งการทำวิทยุระบบดิจิตอลจะเป็นการขยายพื้นที่ภาคธุรกิจ หรือแก้ปัญหาเดิมของวิทยุเอฟเอ็มในภาคธุรกิจ ต้องตอบสังคมและให้ข้อมูลด้วย สำคัญที่สุด สำนักงานควรจัดทำบทวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายดิจิตอล ผลดี – ผลเสีย การจัดทำ Road Map การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ และกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน แม้จะเป็นเพิ่งเป็นปีแรกของการเริ่มต้นก็ตาม”
ซึ่งในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 10/2556 วันที่ 16ต.ค.56 ที่ประชุมเสียงข้างมากได้เห็นชอบหลักการให้ดำเนินโครงการทดลองระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล ตามแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1 ส่วนตน และกสทช. 2 ท่าน ได้แก่ นายประวิทย์ และนายธวัชชัย ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติม และเห็นต่างในบางประเด็น ซึ่งตนได้เปิดเผยความเห็นว่า “การขออนุมัติตั้งโครงการทดลองทดสอบระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลเป็นโครงการที่มีงบประมาณสูงถึง 167,120,000 บาท แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในการดำเนินการ ดังนั้น สำนักงานฯควรจัดทำโครงการย่อยเสนอเข้าสู่การกระชุม กสท. เพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้การวางแผนเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลเป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่ต้องมีการใช้กระบวนการทางกฎหมาย และการติดตามตรวจสอบที่จริงจังสำหรับสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ออกอากาศอยู่ในปัจจุบันด้วย เพราะจากการรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้สะท้อนปัญหาในปัจจุบันที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ การกำกับดูแลโฆษณาที่ผิดกฎหมาย กระบวนการทดลองประกอบกิจการและการกำกับดูแล การส่งเสริมและสนับสนุนกิจการวิทยุกระจายเสียง เป็นต้น”