สุภิญญาฯ ค้าน ร่างประกาศฯเนื้อหามาตรา 37
มติกสท. 3 :1 ผ่านร่างฯประกาศเนื้อหาตามาตรา 37//สุภิญญา โหวตค้าน ยังหวั่นเรื่องความชอบธรรมการใช้ดุลยพินิจกสท. แม้ปรับแก้ร่างฯแล้วแต่อาจกระทบสิทธิเสรีภาพ ควรโฟกัสกรุ๊ปสอบถามผู้เกี่ยวข้อง พร้อมยืนยันสู้ต่อในบอร์ดใหญ่และในเวทีสาธารณะ ด้าน4 องค์กรวิชาชีพสื่อยื่นหนังสือค้านอาจขัดหลักรธน. และพรบ.ประกอบกิจการฯ
วันนี้ 11 พ.ย. 2556 ผลการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้ผ่าน(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. หรือร่างฯกำกับเนื้อหาทางโทรทัศน์วิทยุ ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ด้วยมติ 3 : 1 (อีก1 เสียงไม่ได้เข้าประชุม) ซึ่งนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ 1 ในเสียงคัดค้านมตินี้ กล่าวว่า แม้ร่างประกาศฯฉบับใหม่จะปรับแก้จากฉบับเดิมเยอะแล้ว แต่พบว่ามีเนื้อหาบางส่วนยังมีความคลุมเครือ และอาจล้ำเส้นในเรื่องสิทธิเสรีภาพ รวมถึงหลักการกำกับดูแลของวิชาชีพ ซึ่งตนจะทำประเด็นโต้แย้งสำคัญ และเสนอร่างฯเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ทั้งนี้ กสท.ควรที่จะเน้นกระบวนการพิจารณาว่าอะไรขัดกับมาตรา 37 มากกว่าจะไปขยายความว่าอะไรผิดมาตรา 37 เพราะ กสท. 5 คนไม่ได้มีความชำนาญในทุกเรื่องนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างกระบวนการที่มีความชอบธรรมและสร้างความชัดเจน นอกจากนี้ตนเห็นว่าควรสร้างการมีส่วนร่วม อย่างการสร้างเวทีปรึกษาหารือกับองค์กรวิชาชีพอีกครั้งก่อนผ่านร่างฯเพื่อนำเสนอเข้าประชุมบอร์ด กสทช. ที่แม้จะมีการขยายระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นอีก 30 วัน แต่เนื่องจากสมาชิกองค์กรวิชาชีพเหล่านี้จะต้องเป็นผู้ถูกบังคับใช้ตามประกาศฯ อย่างไรก็ตามตนจะอภิปรายอีกครั้งในที่ประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. วันที่ 13 พ.ย.นี้ พร้อมเสนอทางเลือกเพื่อเป็นกลไกกระบวนการในการใช้อำนาจพิจารณาตาม มาตรา 37
ซึ่งก่อนการประชุมลงมติร่างประกาศฯ วันนี้ นายปฏิวัติ วสิกชาต ตัวแทน สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เข้ายื่นหนังสือถึง กสท. เรื่อง ขอให้ทบทวนร่างฯฉบับดังกล่าว เนื่องจากยังคงมีบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ที่ระบุว่า “การกำจัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพมิได้” และบางข้อความในร่างประกาศ อาจเข้าข่ายการใช้อำนาจหน้าที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย ในพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และอาจขัดหรือขัดแย้งกันเองกับประกาศ กสทช.ฉบับอื่นด้วย ดังนั้น ทั้ง 4 องค์กรจึงเห็นร่วมกันที่ขอให้ กสทช. พิจารณาทบทวนและปรับแก้ไขร่างฯดังกล่าวด้วยความรอบคอบ เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็นตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่าง เพื่อให้ร่างประกาศฉบับดังกล่าวสามารถใช้เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการกำกับดูแลสื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง และ องค์กรสื่อยินดีให้ความร่วมมือส่งตัวแทนเข้าร่วมเพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อไป.