นการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท) ครั้งที่ ๓๘ วันจันทร์ที่ ๒๑ ต.ค. ๕๖ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้เสนอเรื่องพิจารณา “ข้อเสนอจากการประชุมเสวนาเรื่อง เสรีภาพสื่อกับการใช้กฎหมายกำกับดูแล”
สืบเนื่องจากที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งร่างดังกล่าวเป็นการขยายความตามมาตรา ๓๗ ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑
องค์กรวิชาชีพสื่อได้ตั้งประเด็นเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายว่า เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของมาตรา ๓๗ ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ไม่ปรากฏว่า มีบทบัญญัติให้อำนาจ กสทช. ในการออกประกาศใด ๆ เพิ่มเติม ซึ่งหมายความว่า มาตรา ๓๗ ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการมอบอำนาจให้ กสทช.ในการออก “กฎ” หรือ ประกาศใดเพิ่มเติม กสทช.จึงปราศจากฐานอำนาจในการออกประกาศฉบับดังกล่าว
นอกจากนี้ร่างดังกล่าวยังถูกคัดค้านจากคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หนึ่งในประเด็นของการคัดค้านได้แก่ เนื้อหาในหลักเกณฑ์การกำกับดูแลส่วนใหญ่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ อีกทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อยังเห็นว่า ประเด็นหมวดที่ ๒ ในร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหาฯ เป็นเนื้อหาที่ระบุถึงแนวทางการปฏิบัติหรือจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นสภาพบังคับทางกฎหมายได้ อันจะเป็นการทำลายกลไกกำกับดูแลกันเองของสื่อที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา ๔๖ ที่ว่าผู้ประกอบวิชาชีพ… “มีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ”
ด้วยข้อคัดค้านในมุมมองทางกฎหมายบางส่วนตามที่ระบุข้างต้น กสทช.สุภิญญาฯ จึงให้สำนักงาน กสทช. โดยกลุ่มงานส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง (สส.) จัดการประชุมเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นทางกฎหมายจากผู้เชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน ได้แก่ นายสมชาย หอมลออ กรรมการ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย , นายอำนาจ เนตยสุภา อัยการประจำจังหวัด สำนักงานอัยการสูงสุด, อาจารย์สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำหน้าที่ดำเนินรายการ การประชุมเสวนามีผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวน ๙๕ คน ประกอบด้วย นักวิชาการแขนงต่าง ๆ ผู้ประกอบการ นักวิชาชีพ และ ผู้บริโภค เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รายละเอียดตามเอกสารแนบ
รูปประกอบ รูปจากงานเสวนา