จับตาวาระ กสท.
จันทร์นี้ กสท. ถกให้ใบอนุญาตโครงข่ายทีวีดิจิตอลเพิ่มอีก ๑ ใบอนุญาต
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กสท.ครั้งที่ ๓๖ ในวันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายนนี้ มีวาระน่าสนใจชวนติดตาม “ผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการโทรทัศน์สำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของกองทัพบกโดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ” หรือ MUX เพิ่มเติมอีก ๑ โครงข่าย ที่ให้บริการในระดับชาติเป็นระยะเวลา ๑๕ ปี ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๕ และประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล
“ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายรายโดยเฉพาะ ๔ รายเดิม ที่ได้สิทธิทำโครงข่ายทีวีดิจิตอล หรือ MUX ไปแล้ว (อสมท. ไทยพีบีเอส กองทัพบก กรมประชาสัมพันธ์) และมีรายใหม่ อาทิ รัฐวิสาหกิจ และ เอกชนรายอื่นๆด้านโทรคมนาคม ที่มีความประสงค์และแสดงความจำนงขอรับการจัดสรรใบอนุญาต MUX ใบที่ ๕ มาที่ กสทช. จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่าไทยพีบีเอสเป็นรายที่เสนอราคาค่าเช่า MUX ต่ำที่สุดซึ่งส่งผลดีต่อเอกชนที่จะเข้ามาประมูล ๒๔ ช่อง อย่างไรก็ตาม วันจันทร์นี้สำนักงาน กสทช.เสนอวาระให้บอร์ดพิจารณาความพร้อมของ ‘สถานีโทรทัศน์กองทัพบก’ในการขอใบอนุญาตเพื่อได้สิทธิ์การเป็นผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดิจิตอลใบที่ ๕ เป็นอันดับแรก โดยมีเงื่อนไขที่น่าสนใจคือจะแลกเปลี่ยนกับระยะเวลาที่สั้นลงในการยุติสัญญาสัมปทานของช่อง ๗ ที่กองทัพบกเป็นผู้ดูแลอยู่ ผลการพิจารณาเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร รอติดตามผลวันจันทร์นี้ เพราะเรื่องนี้เป็นวาระใหญ่ระดับชาติที่จะมีผลต่อการวางรากโครงสร้างพื้นฐานของดิจิตอลทีวีในประเทศไทย และเกี่ยวพันกับการการยุติระบบอะนาล็อกที่เร็วขึ้นพร้อมไปกับการยุติระบบสัมปทานเพื่อเข้าสู่ระบบใบอนุญาตที่เน้นการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรมที่เปลี่ยนผ่านเร็วขึ้นเช่นกัน ก่อนหน้านี้ กสท.มีมติให้ ๔ รายเดิมได้สิทธิทำ MUX แลกกับการต้องคืนคลื่นอะนาล็อก ช่อง ๕ ช่อง ๙ ช่อง ๑๑ และไทยพีบีเอส เร็วขึ้นคือ ใน ๕ ปี ซึ่งในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ฯ ระบุไว้ ๑๐ ปี” นางสาวสุภิญญากล่าว
กสท.ได้พิจารณาออกใบอนุญาต MUX ไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายนที่ผ่านมา จำนวน ๔ ใบอนุญาต ซึ่งสามารถรองรับการให้บริการแบบความชัดปกติ (SD) ได้จำนวน ๖ ช่องรายการ และให้บริการแบบความคมชัดสูง (HD) จำนวน ๒ ช่องรายการ ซึ่งทั้ง ๔ ใบอนุญาตสามารถรองรับการให้บริการแบบ SD จำนวน ๒๔ ช่อง และ การให้บริการแบบ HD จำนวน ๘ ช่อง จึงต้องให้ใบอนุญาตเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรองรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอลทั้ง ๔๘ ช่อง โดยกำหนดไว้จะให้ทั้งสิ้น ๖ ใบอนุญาต
จากกรณีที่สถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ อสทม. ระงับการออกอากาศรายการ “ฅนค้นค้น” ตอน ศศิน เฉลิมลาภ 388 กม. จากป่าสู่เมือง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นางสาวสุภิญญา กล่าวว่าได้รับการติดต่อจากเครือข่ายคัดค้าน EHIA การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะเข้ามายื่นหนังสือกับตน ภายหลังจากการประชุม กสท. เสร็จสิ้นแล้วในช่วงเวลาประมาณ ๑๒.๐๐ น. นอกจากนี้ในการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จะเชิญสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ อสมท. มาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคสื่อและเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนหรือไม่ รวมถึงกรณีนี้เกี่ยวพันกับจริยธรรม จรรยาบรรณของสื่อ ทางอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง จะเชิญทั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ ทีวีบูรพา และ สภาวิชาชีพการแพร่ภาพกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (ประเทศไทย) ที่ อสมท.เป็นสมาชิกอยู่มาร่วมพิจารณาด้วยเช่นกัน