กสทช. เคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุ – โทรทัศน์
กสทช. สุภิญญาฯ เปิดเวทีปฏิบัติภารกิจเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ พร้อมแจงผลการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ หลายด้าน
เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๖ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและ กิจการโทรทัศน์ (กสท.) ใน กสทช. โดยมีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่ง กสทช.สุภิญญาฯ เป็นประธานอนุกรรมการ เป็นที่ปรึกษาในการจัดเวทีปฏิบัติภารกิจเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ จาก ๔ ครั้ง และเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยปีนี้มุ่งหมายที่จะสร้าง ความรู้จักในสิทธิ พร้อมทั้งกระตุ้นให้เครือข่ายฯ มีความตื่นตัวในการใช้สื่อ รวมทั้ง เฝ้าระวัง ร้องเรียน นอกจานี้ ยังหวังให้ขยายผล สร้างความรู้เท่าทันสื่อให้กับคนรอบข้างด้วย
การสร้างเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ เป็นเพียงงานส่วนหนึ่งในการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการ กระจายเสียงและโทรทัศน์ของ กสทช. ซึ่งมีทั้งในเชิงการทำงานสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน และยังมีงานในเชิงการรับเรื่องร้องเรียน ป้องกันการละเมิดอีกด้วย
งานที่ถือว่าได้ขับเคลื่อนไปแล้ว คือ การมีประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ ซึ่งกำหนดว่าเรื่องใดถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ ถ้าผู้ประกอบกิจการกระทำการนั้น กสทช. ก็สามารถสั่งระงับได้ เช่น กสท. สั่งระงับภาพแสดงสัญลักษณ์ตราสินค้าหรือบริการบนแถบแสดงข้อมูลรายการเมื่อมีการเปลี่ยนช่องรายการของโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก หรือเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ กสท. มีคำสั่งระงับการโฆษณายาที่ไม่ถูกต้องทางช่องดาวเทียม รวมทั้ง การร่วมมือกับ อย. และตำรวจผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ในการจับกุมสถานีวิทยุที่ไม่ได้รับอนุญาตและโฆษณายาที่เป็นการโฆษณาผิดกฎหมาย (ไม่ได้รับอนุญาตการโฆษณาจาก อย.) เป็นต้น
การกระทำหนึ่งที่ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและมีประเด็นการร้องเรียนมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการทำผิดสัญญาการให้บริการของกิจการระบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) ซึ่งก็ผลักดันให้มีร่างประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรฐานสัญญา ขึ้นอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม กสทช. เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อปรับปรุงแก้ไข ก่อนประกาศใช้ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีงานในส่วนอื่น ที่เป็นงานที่สำคัญเช่นกัน ทั้งในส่วนของงานการสร้างการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลข่าวสาร ให้คนมีทักษะและความสามารถในการใช้สื่ออย่างรู้ตัว คิด วิเคราะห์ และเลือกใช้สื่อให้เป็น โดยมีทั้งการจัดอบรม การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาให้มีรายวิชารู้เท่าทันสื่อ หรือการประกวดหนังสั้น รู้เท่าทันสื่อ เพื่อให้ได้สื่อที่เข้าถึงคนได้ และมีงานด้านการส่งเสริมสิทธิของคนทุกคนให้สามารถเข้าถึงสื่อได้ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส โดยเร่งสร้างกลไก ทั้งในเชิงมาตรฐาน การส่งเสริม สนับสนุน ด้านเทคนิค และองค์ความรู้ ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิตอล อย่างแท้จริง ทุกคนก็คงจะได้ใช้ประโยชน์จากสื่อได้ใกล้คำว่า “เท่าเทียม” มากขึ้น และยังมีการสร้างการรู้เท่าทัน การเปลี่ยนแปลงไปสู่ทีวีดิจิตอลด้วยในภูมิภาค โดยจัด Road Show ให้ประชาชนได้ทราบและเตรียมพร้อมด้วย
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์หลักเพื่อผู้บริโภคสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ ทุกคน http://bcp.nbtc.go.th และ http://www.facebook.com/con.rights
ดาวน์โหลดสถิติทีวีแบบบอกรับสมาชิก