จับตาวาระ กสท. : นำวาระคัดค้านร่างประกาศฯ ม.37 ของวิชาชีพสื่อเข้าบอร์ด – ด้านสุภิญญา เสนอให้ทบทวนภาพรวมการกำกับดูแลทั้งหมด มาตรา37, 39 – 40

จับตาวาระ กสท. : นำวาระคัดค้านร่างประกาศฯ ม.37 ของวิชาชีพสื่อเข้าบอร์ด  - ด้านสุภิญญา เสนอให้ทบทวนภาพรวมการกำกับดูแลทั้งหมด มาตรา37, 39 – 40  และวาระอื่นๆ

            ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 28 ในวันจันทร์ที่ 5 ส.ค.นี้ มีวาระน่าสนใจติดตาม เรื่อง การทบทวนพิจารณา “ร่าง ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …” ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่งด้วยความรอบคอบ  ตามที่ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อได้ยื่นหนังสือคัดค้านกับประธานกสทช.ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค ได้เสนอวาระ “ขอให้ทบทวนแนวทางการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 37 และ มาตรา 39 – 40 ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551” ซึ่งนางสาวสุภิญญา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. โดยกลุ่มงานประธานกรรมการและการประชุม นำเสนอความเห็นคัดค้าน (ร่าง) ประกาศฉบับดังกล่าว มาเพื่อทราบและพิจารณาทบทวนมติให้นำร่างประกาศฯ ดังกล่าว ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วยความรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง ประกอบกับการเข้าร่วมเป็นวิทยากรในเวทีเสวนาเรื่อง “ชำแหละร่างประกาศ กสทช. คุมสื่อละเมิดเสรีภาพประชาชน” เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ….เมื่อวันพุธที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคารสมาคมนักข่าวฯ  ตนได้รับการสอบถามถึงความคืบหน้าของสถานะร่างประกาศฉบับดังกล่าวจากวิทยากร ผู้เข้าร่วมการประชุม และสื่อมวลชน เกี่ยวกับร่างประกาศฉบับนี้ รวมทั้งในสาระสำคัญของการเสวนาดังกล่าวพบว่า วิทยากรและผู้เข้าร่วมเสวนาที่เป็นตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อและนักวิชาการด้านสื่อต่างเห็นตรงกันว่า ร่างประกาศฉบับนี้เข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และมีข้อเสนอให้กสท. พิจารณาถอนร่างรวมทั้งพิจารณาภาพรวมทั้งหมดของแนวทางในการกำกับดูแลสื่อกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในมาตรา 37 – 39 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และเพื่อป้องกันการเกิดข้อกังขาต่อองค์กรวิชาชีพสื่อ ตลอดจนสาธารณชนในวงกว้าง และเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และขอให้กลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ พิจารณาขอบเขตอำนาจหน้าที่ กสท. ตามมาตรา 37 และมาตรา 39 – 40  ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดทำประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตราดังกล่าว

ส่วนวาระอื่นน่าติดตาม ได้แก่ กสท.เตรียมพิจารณาแนวทางการถอนใบอนุญาตช่องดาวเทียมหลังตรวจสอบพบการออกอากาศรายการหรือโฆษณาที่ละเมิดผู้บริโภคตามกฎหมาย รวมทั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขอเสนอความเห็นต่อการตรวจสอบรายการการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยกำหนดรูปแบบ วิธีการ และการเฝ้าระวัง(Monitor) รวมถึงการลงโทษในกรณีที่ออกอากาศไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หากพิจารณาสิ้นสุดแล้วว่าผู้ประกอบกิจการรายใดทำผิดกฎหมาย และกระทำผิดตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการบรอดแคส พ.ศ.2555 ส่วนวาระอื่นน่าติดตามเพิ่มเติม การพิจารณาเห็นชอบ(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. …..

 

 

หมายเหตุ

               มาตรา 39… ให้คณะกรรมการดำเนินการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นองค์กรในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม

การจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะของประชาชน และการคุ้มครองผู้บริโภคจากการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบอาชีพและวิชาชีพขององค์กร

ในการควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพขององค์กรตามวรรคหนึ่ง ให้แต่ละองค์กรตามวรรคหนึ่งจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมขึ้นโดยมีองค์ประกอบและให้คำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบอาชีพและวิชาชีพ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก

องค์กรตามวรรคหนึ่งที่มีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม คณะกรรมการอาจให้การส่งเสริมจากกองทุนตามมาตรา ๕๒ ก็ได้

มาตรา 40 ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากรายการที่ออกอากาศเป็นเท็จหรือละเมิดสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอาจร้องเรียนต่อคณะกรรมการ

ให้คณะกรรมการส่งเรื่องพร้อมความเห็นของคณะกรรมการให้องค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา 39 เพื่อให้ดำเนินการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายโดยเร็ว และให้คณะกรรมการติดตามผลการดำเนินการขององค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา 39 เมื่อองค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา 39 ได้แจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการทราบแล้ว ให้แจ้งผู้ร้องเรียนทราบผลการดำเนินการโดยเร็ว

ผลการดำเนินการในหมวดนี้ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามมาตรา 51 (1) )