สุภิญญา สงวนความเห็นการปรับลดสัดส่วนช่องข่าวทีวีดิจิตอล
เผย! ยังไม่เห็นรายงานมูลค่าคลื่นฉบับเต็ม
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า วันนี้(จันทร์15 ก.ค.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) เสียงข้างมากมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. … หรือ ร่างฯ ประมูลทีวีดิจิตอล ซึ่งจากนี้ไปสำนักงาน กสทช. จะนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ กสทช. วันพุธที่ 17 ก.ค.นี้ เพื่อให้มีมติเห็นชอบและมีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนตนเองแม้จะสนับสนุนแนวความคิดและหลักการหลายเรื่องของร่างฯประมูลฉบับนี้ แต่ไม่สามารถรับหลักการบางเรื่องได้จึงจำเป็นต้องสงวนความเห็นต่อที่มติที่ประชุม เนื่องเพราะก่อนที่บอร์ดกสท. จะพิจารณาร่างฯ นี้ได้ จำเป็นที่จะต้องเห็นรายงานการประเมินมูลค่าคลื่นฉบับเต็มจากทีมวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบการพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการรายงานให้กรรมการรับทราบ มีเพียงการนำเสนอร่างรายงานเบื้องต้นในที่ประชุมเพียงครั้งเดียว ซึ่งการตัดสินใจครั้งสำคัญเช่นนี้ ตนและกรรมการทุกท่านควรที่จะได้ศึกษารายงานฯ วิธีคิด การวิเคราะห์ในการประเมินมูลค่าคลื่นจากรายงานฉบับเต็ม และที่สำคัญทางสำนักงานได้เสนอแก้เงื่อนไขการประมูลช่องข่าว โดยปรับลดสัดส่วนเนื้อหารายการ จากเดิมที่กำหนดให้มีข่าวสารและสาระไม่น้อยกว่า 75% ให้เหลือ 50% ซึ่งอาจตั้งคำถามได้ว่ามีนัยสำคัญอย่างไรหรือไม่ต่อราคาตั้งต้นของราคาประมูล แม้ที่ประชุมได้ยืนยันว่ากรณีนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ตนเองยังเห็นว่าควรต้องได้รับการยืนยันจากรายงานของทีมวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ก่อน ว่าการปรับเปลี่ยนสัดส่วนเนื้อหาช่องรายการในโค้งสุดท้ายนี้ไม่ได้มีผลกระทบแต่อย่างใด เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับทุกภาคส่วนว่า เรื่องนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยรอบคอบ ถูกต้อง ชัดเจน นอกจากนั้น ยังมีประเด็นอื่นที่ตนได้เคยสงวนไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่ได้มีการปรับแก้ในร่างฯนี้ ได้แก่ การจำกัดเพดานช่องการประมูล การเปิดให้ใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินประเภทธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 เพราะการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าประมูลต้องวางหลักประกันเฉพาะที่เป็นเงินสดหรือเช็คที่ธนาคารสั่งจ่ายนั้นอาจเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อย
รวมทั้งในกรณีที่เปิดให้ผู้ชนะการประมูลที่มีมูลค่ารวมสูงสุดมีสิทธิเลือกใช้บริการโครงข่ายโทรทัศน์หรือ Multiplexer เป็นรายแรกตามลำดับ และที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งตนเห็นว่าควรให้สิทธิแก่กลุ่มผู้ที่ชนะประมูลด้วยราคาสูงสุดในแต่ละประเภท (เด็ก ข่าว วาไรตี้-SD วาไรตี้-HD) ก่อน.