กสทช.ให้ฟรี…คลื่น1800?
คมชัดลึกจัดถก : กสทช.ให้ฟรี…คลื่น1800?
การหมดอายุสัมปทานของการจัดสรรคลื่นวิทยุความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ กลายเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลถึงกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการจำนวน 17 ล้านเลขหมาย อาจเกิดปัญหาซิมดับ ล่าสุดมีร่างประกาศยืดระยะเวลาให้แก่บริษัทเอกชนเช่น ทรูมูฟ และดิจิตอลโฟนทำต่อไปอีก 1 ปี “คม ชัด ลึก” จัดเสวนา ตอนกสทช.ให้ฟรี…คลื่น 1800? โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.กล่าวว่า ช่วงนี้อยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในร่างประกาศดังกล่าวซึ่งเราน่าจะได้ข้อสรุปประมาณเดือนสิงหาคม ก่อนสัญญาสัมปทานจะหมดในวันที่ 15 กันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้แนวโน้มของประกาศค่อนข้างจะเป็นทรูมูฟกับดิจิตอลโฟน ซึ่งเป็นเจ้าเก่า ดังนั้นในระยะเวลา 1 ปีที่ต่อออกไป เท่ากับว่า ทรูมูฟ กับดิจิตอลโฟน ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้แก่รัฐ
นายนิมิตร์ เทียนอุดม อนุกรรมการเตรียมการ การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตช์ กล่าวว่า อยากถามว่า ที่ผ่านมา กสทช.ทำอะไรอยู่เมื่อรู้ว่าสัญญาจะหมด ดังนั้นหากมองในมุมของผู้ประกอบการ เขาต้องอยากรู้ว่าจะได้ทำต่อหรือไม่ ขณะที่ในส่วนของผู้บริโภค กสทช.ต้องมีการชี้แจงอย่างละเอียดว่าใครจะเข้ามาให้บริการเป็นรายต่อไป 17 ล้านซิมจะเป็นอย่างไร แต่ในฐานะผู้บริโภคมองว่า กสทช.ไม่ควรปล่อยให้ซิมดับ แต่มันมีข้อสงสัยในร่างประกาศต่ออายุ 1 ปี ที่เร่งทำโดยให้บริษัทเดิมทำต่อไปนั้น อยากถามว่า กสทช.มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.กล่าวว่า ในทางกฎหมาย กสทช.ต้องเรียกคืนสัมปทานกับบริษัทที่ทำอยู่ทันทีเมื่อหมดสัญญา แน่นอนไม่มีใครอยากเห็นซิมดับ แต่อยากจะติงว่า ที่ผ่านมาทำไม กสทช.ไม่เตรียมการประมูลตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ไม่ใช่มาถึงตอนนี้กลับมาขอเวลาอีก 1 ปี ทั้งนี้ หาก กสทช.จัดประมูลไปก่อนหน้านี้คงไม่ต้องสุ่มเสี่ยงกับการผิดกฎหมายในการยืดระยะเวลาอีก 1 ปี โดยที่ผ่านมา 2 ปี กสทช.อ้างนู้นอ้างนี่ว่าไม่มั่นใจในอำนาจจัดประมูลได้หรือไม่ แต่พอมาตอนนี้กลับมาพูดอย่างเต็มปากอย่างมั่นใจว่า มีอำนาจเพียงพอในการยืดเวลาให้เอกชนต่อไปอีก 1 ปี
นายแก้วสรร อติโพธิ ประธานคณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ กล่าวว่า ไม่เข้าใจที่เอ็นจีโอออกมาประท้วง เพราะในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกทำกันอย่างนี้ คือ หากการดำเนินกิจการมาถึงระยะเวลาหมดสัมปทาน รัฐผู้ให้สัมปทานจะให้บริษัทเตรียมตัวในการเปลี่ยนถ่ายออกไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนข้อกังวลที่เกรงว่ารัฐจะเสียประโยชน์นั้น มองว่า ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะรัฐน่าจะมีวิธีจัดการในเรื่องนี้ แต่ที่แน่ๆ คือ 17 ล้านซิมต้องห้ามดับ
ผู้บริโภคจี้กสทช.เคลียร์ปมก่อนสิ้นสัมปทาน
นับถอยหลังไปอีกราว 2 เดือน คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งให้บริการโดยค่ายทรูมูฟ และบริษัทดิจิตอลโฟน คงต้องมาลุ้นกันว่าหลังวันที่ 15 กันยายน เลขหมายโทรศัพท์ของท่านจะยังสามารถใช้ติดต่อกับโลกภายนอกได้อยู่หรือไม่
เหตุเพราะว่า วันนั้นจะเป็นวันสิ้นสุดอายุสัมปทานของค่ายมือถือที่ว่านี้ ในขณะที่การต่ออายุสัญญาสัมปทานยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจนว่าสามารถทำได้หรือไม่
ฉะนั้น ปัญหาเรื่อง “ซิมดับ” จึงเสมือนเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ กสทช.จะต้องเร่งถอดชนวนให้ทันก่อนเกิดวิกฤติ
ข้อมูลจากคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งแจกแจงไว้เมื่อการจัดเวทีเสวนา “ทางออกผู้บริโภคกรณีซิมดับ จากการหมดอายุสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz” เมื่อสองวันที่ผ่านมาว่า หากระเบิดเวลาลูกนี้ทำงาน โทรศัพท์มือถือ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 17 ล้านเลขหมายจะบอดสนิททันที
ภก.หญิง ชโลม เกตุจินดา คณะกรรมการองค์การอิสระฯ ระบุว่า หลายหน่วยงาน รวมทั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้เคยเตือนและเสนอไปยัง กสทช.ให้เร่งจัดการแก้ปัญหานี้มาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2555 โดยเสนอให้เชิญผู้ให้บริการทั้ง 2 รายมาหารือเรื่องการสิ้นอายุสัมปทาน และจัดการเปิดประมูลครั้งใหม่ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ
กสทช.เพียงตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า 1800 ขึ้นมา ทว่าเมื่อคณะอนุกรรมการชุดนี้มีข้อเสนอให้ กสทช. จัดการเปิดประมูลใหม่ตั้งแต่ 9 เดือนที่ผ่านมา เพราะตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ขยายเวลาสัมปทานแก่เอกชนรายเดิมได้ แต่ กสทช.กลับเพิกเฉย และไปเลือกใช้วิธีออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดสัมปทานแทน ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำไม่ได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการองค์การอิสระฯ ได้มีข้อเสนอต่อสถานการณ์ปัจจุบันคือ 1.ขอให้ซูเปอร์บอร์ดดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ในกรณีที่ กสทช. ไม่สามารถเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานได้ 2.ขอให้มีการเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพคือ 3 แสนเลขหมาย/วัน
3.บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จะต้องคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ให้บริการ และในกรณีที่บริษัทจะตัดสัญญาณผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พรีเพด บริษัทจะต้องแจ้งผ่านข้อความสั้นให้ทราบล่วงหน้าก่อน 3 วัน พร้อมทั้งระบุจำนวนเงินคงค้างในระบบให้ผู้บริโภครับทราบและเพื่อใช้ขอคืนเงินได้ด้วยอย่างชัดเจน
4.กสทช.ต้องให้มีการเพิ่มประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ให้มากกว่าที่กำหนด และ 5.กสทช.ต้องเร่งตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นโดยเร่งด่วน
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า 1800 เมกะเฮิรตซ์ ระบุว่า คณะอนุกรรมการชุดของตน ได้มีข้อเสนอไปยัง กสทช.ว่า การยืดอายุสัญญาสัมปทานนั้น ไม่สามารถทำได้เนื่องจากผิดกฎหมาย และยังเสนอเป็นประเด็นเร่งด่วนให้มีการจัดประมูลใหม่ในทันที โดยตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีกหนึ่งชุด เพื่อทำหน้าที่ดูแลการประมูล เช่นเดียวกับเมื่อครั้งประมูลคลื่นความถี่ 2.1 เมกะเฮิรตซ์ และ 3จี อีกทั้งให้ไปศึกษามูลค่าคลื่นความถี่ว่ามีราคาเท่าไร รวมทั้งให้ดำเนินการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วย
ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า ในการส่งข้อเสนอไปครั้งนั้นทางคณะอนุกรรมการเห็นว่า ยังมีเวลาเหลือถึง 9 เดือน หากมีการดำเนินการตามข้อเสนอและจัดให้มีการประมูลคลื่นก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะผู้ประกอบการรายใหม่ที่ประมูลคลื่นความถี่ไปได้นั้น สามารถไปเจรจาการเช่าโครงข่ายกับ กสท.ได้ ดังนั้นหากการประมูลเสร็จทันเวลา เรื่องราวต่างๆ ก็จะไม่ตกอยู่ในสภาพการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งผู้บริโภคก็จะสามารถใช้บริการเครือข่ายได้ตามปกติ
“ข้อเสนอเกี่ยวกับการยืดอายุสัมปทานออกไปนั้น เราได้ฟันธงไปแล้วว่าไม่สามารถทำได้ แต่ก็มีข้อเสนอกลับมาว่าหากไม่สามารถทำได้จริงๆ ก็ให้ไปใช้บริการคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของ กสท. หรือคลื่นความถี่ 1700 ของดีแทค ซึ่งใช้เป็นคลื่นสำรองอยู่ ซึ่งตัวเลขผู้ใช้บริการที่ทรูมูฟแจ้งมาว่ามีถึง 17 ล้านเลขหมายนั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมากถึงขนาดนั้น อีกทั้งระยะเวลากว่า 9 เดือน หากมีการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ย้ายไปใช้บริการอื่น ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีการดำเนินการใดๆ จำนวนเลขหมายที่จะต้องย้ายจึงเท่าเดิม พอเหลือเวลาอยู่แค่ 2 เดือน จึงกลายเป็นว่าทุกฝ่ายถูกมัดมือชก เพราะ กสทช.บอกว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว ข้อกังวลเรื่องของซิมดับจึงถูกหยิบขึ้นมาพูดถึง” ดร.เดือนเด่น กล่าว
ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ชี้แจงในเวทีเดียวกันว่า เรื่องการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ มีการรับรู้ตั้งแต่วันเซ็นสัญญา คือรู้ล่วงหน้าเป็นสิบๆ ปี แต่ปัญหาคือไม่มีใครตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น ตอนร่างแผนแม่บทโทรคมนาคม ในการยกร่างไม่เคยพูดถึงการรับมือกับเรื่องสัมปทานหมดอายุ ตนจึงเป็นผู้เสนอว่ายุทธศาสตร์ที่ต้องใส่ไปในแผนแม่บทโทรคมนาคม คือการรับมือกับสัมปทานที่หมดอายุ จึงทำให้ผูกพันมาถึงปัญหาการเรียกคืนคลื่นการดำเนินการจึงล่าช้า ซึ่งในข้อเท็จจริงเราสามารถแยกการเรียกคืนคลื่นความถี่ การเยียวยาผู้บริโภค และการจัดประมูลใหม่ออกจากกันได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน
นพ.ประวิทย์ยอมรับว่า ในช่วงประมูล 3จี เอกชนเสนอให้เอาคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูลพร้อมกัน แต่กรรมการ กสทช. บางท่านบอกว่า ให้ประมูล 3จี ไปก่อน และเดี๋ยวเดือนมีนาคม 2556 ค่อยประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ แต่พอถึงเวลาจริงกลับบอกว่าประมูลไม่ทัน เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการเตรียมการประมูล จึงขอเลื่อนไปเป็นปลายปีนี้ ต่อมาบอกว่าปลายปีนี้ไม่ทัน ขอเลื่อนเป็นปลายปีหน้าแทน ตรงนี้จึงเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในมากกว่าที่ทำให้กระบวนการไม่ลุล่วง ตามข้อเท็จจริงหากเทียบดูช่วงการประมูล 3จี เราใช้เวลาเตรียมการเพียง 10 เดือน ไม่ใช่ 18 เดือน และจริงๆ แล้ว ยิ่งมีประสบการณ์ในการประมูลมาแล้ว การจัดสรรน่าจะทำได้เร็วกว่านั้น แต่การยืดระยะเวลาประมูลออกไปเป็นปลายปีหน้า รวมระยะเวลาทั้งสิ้นกว่า 20 เดือน จึงเป็นการใช้เวลาที่เกินไป
“กสทช.ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะอย่าลืมว่าตัวกรรมการ กสทช.ได้รับการสรรหาเข้ามา และมีหน้าที่ดูแลกำกับการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ส่วนเอกชนเขายังสามารถอ้างได้ว่า เพราะ กสทช.ไม่ชัดเจน” นพ.ประวิทย์ กล่าว
นพ.ประวิทย์ กล่าวด้วยว่า ระยะเวลาที่เหลือกว่า 2 เดือน ก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทาน ในวันที่ 15 กันยายน หากผู้ให้บริการทำการย้ายเครือข่ายอย่างเต็มตามศักยภาพ ซึ่งเป็นการย้ายเครือข่ายแต่ใช้เลขหมายเดิม โดยลูกค้าต้องเป็นผู้แสดงความจำนง ถ้ามีการขยายอย่างเต็มศักยภาพ 3 แสนเลขหมาย/วัน ระยะเวลา 2 เดือน จะสามารถโอนย้ายได้ 18 ล้านเลขหมาย ก็เพียงพอต่อความต้องการในระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งตอนนี้ทางผู้ให้บริการอ้างว่ามีเลขหมายใช้บริการอยู่ 17 ล้านเลขหมาย จริงๆ แล้วซิมบ้างส่วนได้รับแจกฟรีไม่มีการเปิดใช้งาน หรือบางส่วนก็ไม่ได้เติมเงิน มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ใช้งานจริง และบางส่วนถึงแม้จะใช้งานจริงแต่ก็พร้อมจะทิ้งซิมถ้าเงินหรือวันหมด ดังนั้นลูกค้าที่ต้องการย้ายค่ายเพื่อรักษาเบอร์น่าจะมีประมาณ 10 กว่าล้านเลขหมาย การย้ายค่ายจึงน่าจะสามารถทำได้
……………………………….
(หมายเหตุ : ผู้บริโภคจี้กสทช.เคลียร์ปมก่อนสิ้นสัมปทาน : สุริยัน ปัญญาไวรายงาน)
ที่มาคมชัดลึก
ดูรายการเต็ม