สุภิญญาสงวนความเห็น ไม่ออกหลักเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์
กสท.ไม่ออกประกาศเกณฑ์คัดเลือกทีวีสาธารณะ ทำเพียงหนังสือเชิญชวนแต่ไม่มีเกณฑ์การให้คะแนน//สุภิญญา สงวนความเห็นคัดค้านให้บอร์ดใช้ดุลยพินิจล้วนต่อการให้ใบอนุญาตทีวีสาธารณะ พบว่าต่างจากเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกประเภทช่องธุรกิจ
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช. เปิดเผยว่า วันนี้(จันทร์ 24 มิ.ย.56) ตนได้สงวนความเห็นคัดค้านความเห็นประกอบการพิจารณาจากสำนักงานด้านกฎหมายต่อ (ร่าง)ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์ สำหรับการประกอบกิจการบริการสาธารณะ พ.ศ. …. เพราะได้กำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ วิธีการและกรอบการพิจารณาคัดเลือกตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว กสท.จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องจัดทำประกาศ หรือหลักเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ แต่ได้นำแนวการพิจารณา ตามที่ 2 กสท.เสียงข้างน้อยได้เสนอไว้ มาจัดทำเป็นหนังสือเชิญชวนเพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไปแทน ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จริงอยู่ว่ามีการออกกฎ กติกาหลายอย่างแล้ว แต่มีจิ๊กซอว์สำคัญบางตัวหายไป ได้แก่ 1. การแบ่งช่องสาธารณะ 12 ช่อง (3:1:3:2:3) เป็นแค่มติบอร์ด กสท.ครั้งที่ 12 วันที่ 25 มี.ค.56 ที่เห็นชอบต่อแนวทางการอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทกิจการบริการสาธารณะ กำหนดให้เป็นช่องออกอากาศคู่ขนาน(Simulcast) รายเดิมจำนวน 3 ช่อง(กองทัพบก – กรมประชาสัมพันธ์ และ ไทยพีบีเอส) สำหรับประเภทที่เน้นรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 1 ช่อง สำหรับกิจการประเภทที่ 1 เพื่อการส่งเสริมความรู้ด้านต่างๆ จำนวน 3 ช่อง สำหรับกิจการประเภทที่ 2 เพื่อความมั่นคงของรัฐ และความปลอดภัยสาธารณะ จำนวน 2 ช่อง และสำหรับการกระจายข้อมูลข่าวสาร เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาล รัฐสภากับประชาชน การสนับสนุนการเผยแพร่ประชาธิปไตย รวมถึงบริการข่าวสารแก่คนพิการ หรือกลุ่มคนต่างๆในสังคม จำนวน 3 ช่อง รวม 12 ช่อง (3:1:3:2:3) แต่ในขณะที่ช่องทีวีประเภทธุรกิจ (3:7:7:7) กลับถูกระบุใน (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติพ.ศ. …. ที่กำลังจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในวันพฤหัสที่ 27 มิ.ย.นี้ ได้แก่ ช่องเด็กเยาวชนและครอบครัว จำนวน 3 ช่อง ช่องข่าวสารและสาระ ช่องทั่วไปวาไรตี้แบบความคมชัดปกติ และ ช่องทั่วไปวาไรตี้แบบความคมชัดสูง จำนวนอย่างละ 7 ช่อง รวม 24 ช่อง (3:7:7:7) ตนจึงตั้งคำถามว่าเพียงพอหรือไม่เมื่อเทียบกับประกาศฯเกณฑ์ของประเภทธุรกิจ กับการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อบริการสาธารณะ อย่างไรก็ตาม แม้ กสท.มีมติผ่านออกหนังสือเชิญชวนขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล บริการสาธารณะ เฉพาะประเภทที่สาม ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน และสนับสนุนเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับคนทุกกลุ่ม อย่างไรก็ดี กสท.ยืนยันมติที่จะไม่จัดทำเกณฑ์การพิจารณา หรือคะแนน พิจารณาคุณสมบัติทีวีสาธารณะทั้ง 3 ประเภท แต่เปิดให้กรรมการใช้ดุลยพินิจเป็นตัวตั้งเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากการกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตการออกใบอนุญาตทีวีประเภทธุรกิจที่คัดเลือกจากเงินประมูล อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า เรื่องนี้มีผลกระทบต่อความสำคัญในการใช้อำนาจของกสทช. ที่มีผลทางปกครอง ซึ่งการออกเป็นหนังสือเชิญชวนเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่พอ เพราะอาจส่งผลทางกฎหมายต่อไปในอนาคต จึงตนเห็นควรออกเป็นประกาศ กสทช. และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
นอกจากนี้ กสท.เห็นชอบให้จัดรับฟังความคิดเห็น Focus Group ต่อ (ร่าง)ประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์เนื้อหาการกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งนางสาวสุภิญญาฯ ได้สงวนความคิดเห็นในบางประเด็นต่อร่างฯนี้ เนื่องจากร่างฯฉบับดังกล่าว มีสาระที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพจึงต้องใช้ความรัดกุมและมีความละเอียดอ่อนในการพิจารณา โดยเฉพาะการใช้อำนาจกำกับดูแลตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
ทั้งนี้ กสท.มีมติรับข้อเสนอ เรื่อง “ทิศทางโทรทัศน์ช่องเด็กและเยาวชนในยุคดิจิตอล” เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำเงื่อนไขในการพิจารณาออกใบอนุญาต และเป็นข้อมูลในการกำกับดูแล ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ประเภท บริการธุรกิจระดับชาติสำหรับผู้ประกอบการโทรทัศน์ช่องเด็ก เยาวชน ตามมติ กสท. ในการกำหนดจำนวนใบอนุญาต 3 ใบสำหรับช่องรายการในหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว นอกจากนี้ กสท. เตรียมจัดทำ Focus Group ข้อเสนอแนวปฏิบัติ เรื่อง การรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบรอดแคสในระบบดิจิตอลประเภททางธุรกิจระดับชาติ ตามข้อความใน (ร่าง)ประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลฯ ข้อ 13.5 ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ตามแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการกำหนด โดยข้อเสนอแนวปฏิบัตินี้จะเป็นเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตมีหลักเกณฑ์การรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหากับผู้บริโภคได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องรอ กสทช. พร้อมทั้งหาทางหรือวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบเดิมซ้ำอีก โดยผู้ประกอบต้องรวบรวมฐานข้อมูลปัญหาเพื่อกสทช.จะได้นำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการจัดทำนโยบายต่อไป…