จับตาวาระกสท : สุภิญญาชงผลวุฒิฯทำความเข้าใจประชาชนสู่การเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล
และติดตามเรื่องร้องเรียนไทยแลนด์ก็อตทาเลนท์
กสทช.สุภิญญาฯ ชงผลการชี้แจงคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา พร้อมข้อเสนอการคุ้มครองผู้บริโภคช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอล เข้าบอร์กสท.จันทร์นี้ (10 มิ.ย.) รวมทั้งเรื่องร้องเรียน กรณีรายการ TGT
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กสท.ครั้งที่ 22 นี้ ตนได้นำวาระเข้าเพื่อพิจารณา 2 เรื่องหลัก ได้แก่ ผลการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนจากการเข้าร่วมประชุมชี้แจงเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นที่สมาชิกวุฒิสภาให้ความสนใจติดตามสอบถาม คือนโยบายและกระบวนการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิตอล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ซึ่งจะส่งกระทบต่อประชาชนโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อสารกับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล และคาดหวังให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านฯดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ และตระหนักถึงความสำคัญในการนำเสนอข้อมูลที่มีความชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นข้อมูลที่สาธารณชนสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย
ต่อกรณีเรื่องร้องเรียน รายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ 2013 ของเครือข่ายภาคประชาชนด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้นำเข้าที่ประชุมกสท. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนและระยะเวลาพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามระบบของสำนักงาน กสทช. ในฐานะกลไกที่กำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โดยตรง เพื่อดำเนินการให้ทันท่วงทีและรอบด้าน ประเด็นที่เสนอให้พิจารณา คือตรวจสอบเนื้อหาที่ออกอากาศจะขัดมาตรา 37 ของ พรบ.ประกอบกิจการฯ พ.ศ.2551 เป็นครั้งที่ 2 หรือไม่ รวมทั้งขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่อง “หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556” ข้อ 11 หรือไม่ ที่ระบุว่า การนําเสนอรายการที่ก่อให้เกิดอคติ ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้ถือว่าเป็นรายการที่เข้าข่ายเรท “ฉ” ซึ่งหมายความว่าต้องออกอากาศหลังเที่ยงคืนถึงตี 5 จึงไม่ใช่เวลาเย็นวันอาทิตย์ที่เด็กเยาวชนสามารถดูได้ทั้งครอบครัว รวมถึงข้อเสนอต่อแนวทางการกำกับดูแลด้านจริยธรรมของวิชาชีพสื่อที่ต้องยึดโยงกับสมาคม สภา หรือองค์กรวิชาชีพ ฯลฯ ที่ต้องเข้ามามีบทบาทจริงจังมากขึ้น พร้อมเสนอให้กสท.พิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อกรณีที่เกิดขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมมีพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีสัญญาทีวีแบบบอกรับสมาชิกไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค รวมถึงความจำเป็นที่กสทช.ต้องเร่งออกประกาศมาตรฐานสัญญาของ Pay Tv และความคืบหน้าคดีบริษัทอาร์เอสฯ ฟ้องศาลปกครองต่อประกาศ Must Have ของ กสทช. กรณีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014…. ผลจะเป็นอย่างไรต้องจับตา.