Sum up:
วันนี้ต้องบันทึกประวัติศาสตร์ ในรอบหลายเดือนการประชุมบอร์ดกระจายเสียง (กสท.) คราวนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ในทุกเรื่อง ไม่มีประเด็นให้ทีมงานหน้าห้องข้าพเจ้าต้องทำคำสงวนในฐานะเสียงส่วนน้อ — สรุปมติบอร์ด 2 เรื่องสำคัญวันนี้ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล ดังนี้ 1. กรณี MPA ซึ่งเป็นตัวแทนของ Hollywood ส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาว่าทีวีดาวเทียมช่องหนึ่งชื่อย่อ S ซึ่งเป็นช่องหนังที่ได้รับความนิยมทางเคเบิลทีวีเมืองไทยนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งช่องและกำลังดำเนินคดีอยู่ ล่าสุดพบว่าเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. วันนี้บอร์ดจึงมีมติให้กลุ่มงานที่เกี่ยวข้อง (ปส.) ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้จัดทำฐานข้อมูลผู้ได้รับใบอนุญาตให้ง่ายต่อการกำกับดูแลด้วย — รอดูต่อไปว่าเอกชนที่ถูกร้องเรียนจะแจ้งเอกสารเท็จเรื่องการมีใบอนุญาตลิขสิทธิ์หรือไม่ เป็นงานยากของ กสท.แต่ก็เลี่ยงไม่พ้น เพราะอยู่ในเงื่อนไขใบอนุญาต
ส่วนเรื่องที่ 2. คือกรณีเรื่องร้องเรียนรายการปากโป้งทางช่อง 8 ของ RS ที่มีพิธีกรคือคุณกรรชัย และ คุณพรชิตา กรณีไปสัมภาษณ์แม่ที่พาลูกที่เป็นออทิสติกที่ถูกข่มขืนมาออกอากาศ วันนี้บอร์ด กสท. มีมติเบื้องต้นเป็นเอกฉันท์ว่ารายการดังกล่าวขัดมาตรา 37 ของพรบ.ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ฯ แต่ยังไม่ได้กำหนดบทลงโทษ มอบให้ สนง.และอนุกรรมการกำกับเนื้อหาและผังรายการไปพิจารณาอีกรอบ เพื่อให้เกิดความรอบคอบทางกฏหมายและไม่เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ — ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ขัดกฏหมายเพราะใช้หลักการปกป้องคุ้มครองเด็ก/ผู้ตกเป็นเหยื่อ สิทธิ์ของผู้ตกเป็นข่าว หรือหลัก Protection of Minors อันเป็นหลักสากลมาพิจารณาด้วย นอกนั้นก็ถามความเห็นจากทีมงานทุกคน / อนุกรรมการที่ไว้วางใจ / กลุ่มงานที่ทำงานงานด้วย — กรณีนี้แม้ผู้เป็นแม่จะยินยอมนำลูกที่ถูกข่มขืนมาออกอากาศ หรือแม้ว่าเจ้าของรายการจะหวังดีในการสะท้อนปัญหาสังคม แต่เนื้อหาที่ออกมากระทบต่อสังคมในหลายมิติและเข้าข่ายขัดกฏหมายด้วย สื่อเองก็มีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองเด็ก เยาวชน ผู้ตกเป็นเหยื่อ แม้เจ้าตัวจะไม่ทราบถึงสิทธิ์ของตนก็ตาม — การให้ผู้ถูกข่มขืนถูกนำเสนอผ่านสื่อโดยวิธีการที่ขาดความละเอียดอ่อนอาจทำให้คนนั้นถูกข่มขืนซ้ำอีกครั้ง — เรื่องนี้ควรเป็นวิจารณาญาณของสื่อในการนำเสนอที่รอบคอบ หวังว่าจะเป็นบทเรียนให้สื่ออื่นๆต่อไป แม้กระทั่งฉากข่มขืนในละครไทยก็ตาม อาจไม่ใช่เรื่องจริงที่อาจผิดกฏหมาย แต่ก็พึงระวังในการนำเสนอที่เป็นการผลิตซ้ำทางความคิดด้วย — ยอมรับว่าเรื่องนี้ยากในการใช้ดุลยพินิจ จริงๆตนเองมักจะยืนอยู่ข้างเสรีภาพสื่อก่อน เว้นแต่ว่าในกรณีนั้นเกินกว่าเหตุแห่งการใช้เสรีภาพ โดยฉพาะการปกป้องคุ้มครองเด็กเยาวชนและผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างในกรณีนี้ — การจำกัดเสรีภาพสื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ก็ต้องกำกับถ้าเกินกว่าเหตุหรือละเมิดกฏหมาย
อย่างไรก็ตาม รัฐ/กสทช. ก็พึงใช้อำนาจตามขอบเขตโดยพอดี หรือที่เขาเรียกว่าใช้ proportionate means วันนี้ได้มติร่วมกันว่าผิดมาตรา 37 แต่ยังไม่ได้บทสรุปว่าจะมีบทลงโทษอย่างไรดีจากเบาไปหนักคือ *เตือน *ปรับทางปกครอง *พักหรือเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนตัวคิดว่าทางเลือกตรงกลางจะเหมาะสม เนื่องจากเป็นการกระทำครั้งแรก อย่างไรก็ตามอีกประมาณ 2 สัปดาห์ บอร์ดจะพิจารณาสรุปเรื่องนี้อีกครั้งในความผิดทางกฏหมาย ส่วนเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพก็มีมติให้ทางเจ้าของช่องไปพูดคุยกับตักเตือนกับฝ่ายผลิตและพิธีกรทั้งสองให้มีความรับผิดชอบกับวิชาชีพมากขึ้นกว่านี้ — บรรยาการวันนี้ในบอร์ดเป็นไปด้วยดี ถกเถียงกันดุบ้างแต่ก็ใช้เหตุผล เมื่อยอมรับร่วมกันได้จึงไม่ต้องโหวต
ฉันทามติก็ดีเช่นนี้เอง / สาธุ