อนุคุ้มครองฯชงมาตรฐานสัญญาทีวีบอกรับสมาชิกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
วันนี้(อังคารที่ 28 พ.ค. 56) เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรม เดอะ สุโกศล สำนักงาน กสทช. โดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง สัญญา….. อย่างไรให้เป็นธรรม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกันพิจารณา(ร่าง) ประกาศ เรื่อง มาตรฐานสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และแบบสัญญามาตรฐานให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ร่วมกับผู้ประกอบกิจการ และผู้บริโภค
นางสาวสุภิญญา กลางณรค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้กล่าวเปิดในการประชุมดังกล่าว พร้อมกล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดประชุมฯ ครั้งนี้ ว่า ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 31 กำหนดให้ กสทช. คุ้มครองผู้บริโภคจากการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบ กสทช. จึงได้ออกประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยกำหนดการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคใน ข้อ 5 (3) การกำหนดเงื่อนไขในการให้บริการที่มีลักษณะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือขัดต่อข้อกำหนดด้านสัญญาตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการให้บริการตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่เป็นสมาชิกของกิจการโทรทัศน์ ในระบบบอกรับสมาชิก ซึ่งมีสัญญากับผู้บริโภค มีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่องในประเด็นปัญหาที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบกิจการฯ อาจจะยังไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงนโยบายเป็นภาพรวม คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้สรุปเป็นประเด็นเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับสัญญาและการให้บริการ เป็น ๗ ประเด็น ดังนี้
กรณี |
สภาพปัญหา |
ไม่สามารถรับชมรายการได้ |
|
ไม่สามารถยกเลิกบฟริการก่อนกำหนดโดยไม่เสียค่าปรับ ถูกยึดเงินประกัน หรือได้รับเงินคืนในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการ |
|
ยกเลิกบริการแล้ว แต่ไม่ได้รับคืนเงินประกัน / คืนเงินประกันล่าช้า | เวลาผ่านไปเกินกว่าที่กำหนดในสัญญา ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ผู้ให้บริการ คือ สัญญาว่าจะคืนเงินประกันหลังจากยกเลิกการใช้บริการ แต่ผู้ร้องเรียนยังไม่ได้รับเงินคืน |
ถูกคิดค่าบริการเพิ่มโดยไม่ทราบล่วงหน้า / ถูกเก็บค่าบริการเกินจริง | กรณีร้องเรียนที่พบบ่อย ได้แก่ การที่ผู้ใช้บริการยกเลิกบริการแล้ว แต่ยังถูกเก็บค่าบริการอยู่ |
ผู้ให้บริการยกเลิกรายการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า / โฆษณาหลอกลวง |
|
ถูกคิดค่าบริการทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการ | ผู้ร้องเรียนไม่ได้ใช้บริการ เนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัย แต่ยังต้องเสียค่าบริการรายเดือน |
ข่มขู่ทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม | ถูกข่มขู่ว่าอาจจะมีหนี้เสีย |
สัญญาระหว่างผู้ประกอบกิจการฯ ที่มีการบอกรับสมาชิก และผู้บริโภคจำเป็นต้องมีมาตรฐาน ทั้งต้องมีการแจ้งให้ผู้บริโภครับทราบและยอมรับเงื่อนไขในสัญญา เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตระหนักรู้ในสิทธิที่พึงได้รับการคุ้มครอง ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2556 เห็นชอบตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. (กลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์) เร่งจัดทำสัญญามาตรฐานในเรื่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำร่างเสร็จแล้ว ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย เพื่อจะเสนอต่อ กสท. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้จัดทำความเห็นไว้ส่วนหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงต้องการความคิดเห็นของทั้งผู้ประกอบกิจการ และผู้บริโภค เพื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาของ กสท.
สำหรับข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากการประชุมในวันนี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ จะนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย เพื่อนำไปรวบรวมและประกอบการนำเสนอต่อที่ประชุม กสท. พิจารณา