จับตาวาระ กสทช. : ลุ้น!สองเสียง(สุภิญญา – ธวัชชัย) ขออนุมัติจัดทำเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ทีวีสาธารณะ เทียบเท่า(ร่าง)เกณฑ์วิธีการประมูลที่กสท.เสียงส่วนใหญ่เตรียมขออนุมัติก่อนเปิดรับฟังจากสาธารณะ
วันพรุ่งนี้(พุธ 22 พ.ค.56) การประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. มีวาระสำคัญเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลที่น่าจับตา 2 เรื่องที่สัมพันธ์กัน ได้แก่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) เสนอพิจารณา(ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจ ในขณะที่ กสทช.เสียงข้างน้อย (ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์) เสนอบอร์ดใหญ่พิจารณา การจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือก และเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ เนื่องจากข้อหารือขอบเขตอำนาจหน้าที่ ให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล เพื่อให้กระบวนการดำเนินการชอบด้วยกฎหมาย และ ความจำเป็นในการจัดให้มีประกาศหลักเกณฑ์เพื่ออนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินประเภทบริการสาธารณะ เช่นเดียวกับที่จัดให้มีหลักเกณฑ์สำหรับกิจการทางธุรกิจ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการเปลี่ยนผ่านเปลี่ยนระบบส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล พ.ศ.2555 ที่กำหนดให้จัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือก และเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล
สำหรับการประกอบกิจการประเภทบริการสาธารณะ เมื่อพิจารณากระบวนการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์เพื่ออนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ตามประเภทใบอนุญาต พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดให้เห็นว่า มีกระบวนการจัดทำหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการทางธุรกิจไว้อย่างชัดเจน แต่สำหรับกิจการประเภทสาธารณะนั้น กสท. ยังมิได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนไว้ ประกอบกับคำสงวนของ สุภิญญา ได้มีความเห็นต่อมติ กสทช. ครั้งที่ 15/2555 วันพุธที่ 14 พ.ย. 2555 เรื่อง การส่งข้อหารือเกี่ยวกับการมอบอำนาจของ กสทช. ให้ กสท. และ กทค. พิจารณาออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใดๆอันเกี่ยวกับการปฏิบัติแทน กสทช. ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือในระหว่างที่ กสทช.ยังไม่มีมติมอบอำนาจดำเนินการใดๆ และยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าต้องถืออำนาจหน้าที่ในทุกรณียังเป็นของ กสทช. ดังนั้น การดำเนินการตามใดในครั้งนี้ยังคงเป็นของกสทช. ตามมาตรา 27(4) ว่าด้วยการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ฯ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553