จับตาวาระอังคารนี้ : ร่างฯ บิวตี้คอนเทสต์(เสียงข้างน้อย) เสนอตั้งผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วมคัดเลือก
จับตาร่างประมูลคลื่นธุรกิจ และ ผลการศึกษาการประเมินมูลค่าคลื่นดิจิตอล
สุภิญญา – ธวัชชัย เตรียมเสนอ(ร่าง)หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกทีวีสาธารณะ ต่อกสท. เสนอตั้งผู้เชี่ยวชาญช่วยคัดเลือก เพื่อยืนยันหลักการการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประชาชน หวังยกระดับสิทธิเสรีภาพสื่อไทยปีหน้า เหตุที่ต้องเสนอเป็นร่างประกาศ เพราะศักดิ์ศรีการจัดสรรคลื่นไม่ต่างจากคลื่นธุรกิจที่ประมูล แต่สาธารณะให้ฟรี พร้อมติดตามรายงานผลการศึกษาการประเมินมูลค่าคลื่นดิจิตอล
ในวันอังคารนี้(7พ.ค.56) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ และ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) เสียงข้างน้อยในการลงมติ “ไม่เห็นชอบ” กับคณะกรรมการฯ ที่ไม่ดำเนินการจัดทำ “ประกาศ” หลักเกณฑ์คัดเลือก (บิวตี้ คอนเทสต์) ผู้ได้รับใบอนุญาต โทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทสาธารณะ ได้เสนอวาระเพื่อพิจารณาต่อการจัดสรรทีวีดิจิตอล ประเภทสาธารณะ 3 ข้อ ดังนี้
1. เสนอ(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์ สำหรับการประกอบกิจการบริการสาธารณะ พ.ศ….. โดยขอให้ กสท.มอบหมายให้ 4 คณะอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้อง (คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล คณะอนุกรรมการติดตามคดีปกครองและบังคับใช้กฎหมายด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและกำกับการแข่งขันในกิจการการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงบริการสาธารณะ) ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามมาตรา 28 ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2555 ต่อไป
2.เสนอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกผู้เหมาะสมให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทกิจการบริการสาธารณะ โดยมีองค์ประกอบของนักวิชาการ วิชาชีพ และประชาสังคมในสัดส่วนที่เหมาะสม มีหน้าที่ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามมาตรฐานสากล ในการให้ใบอนุญาตทีวีสาธารณะ กลั่นกรองความเหมาะสมของผู้ขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ และเสนอ กสท.เพื่อประกอบการพิจารณา
และ 3.ขอให้ สำนักงาน กสทช. จัดทำบันทึกสรุปผลการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ ที่ประกอบด้วยความคิดเห็น ของ กสทช. และเผยแพร่บันทึกดังกล่าวในระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงาน กสทช.
สาระสำคัญของ (ร่าง) เกณฑ์ดังกล่าว ที่ได้จากการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ เมื่อวันอังคารที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญเพื่อนำไปสู่เกณฑ์การพิจารณา 5 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1.โครงสร้างและการจัดการองค์กร 2.คุณภาพรายการและความหลากหลายของเนื้อหา
3. ที่มาของรายได้ 4. ธรรมาภิบาล และ5. ศักยภาพของเทคโนโลยีด้านดิจิตอล
กสทช.สุภิญญา กล่าวว่า เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (3 พ.ค.) ที่ องค์กร Feedom House ได้ลดอันดับเสรีภาพสื่อในประเทศไทยอยู่ในขั้น “ไม่เสรี” ซึ่งในห้วงที่กสทช. กำลังจะจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ทำอย่างไรที่จะทำให้สอดคล้องกับแนวมาตรฐานสากล ที่ทำให้โครงสร้างสื่อวิทยุและโทรทัศน์เป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อาการครอบงำอำนาจรัฐและทุน ซึ่งการการเสนอแนวคิดการจัดทำ(ร่าง) ประกาศฯ ฉบับนี้ก็เพื่อสร้างหลักประกันทีในการเปิดโอกาสให้ภาคสาธารณะ(Public Consultation) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตั้งแต่เริ่มต้น ร่างฯเป็นตุ๊กตาที่พยายามรวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆจากภาคส่วนต่างๆ และยังเปิดให้สามารถถกเถียงในรายประเด็นต่างๆที่สำคัญได้อีก เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เหตุของความสำคัญที่ต้องจัดทำเป็นร่างประกาศฯก็เพราะว่า ในการประชุมกสท.ครั้งนี้ จะมีการพิจารณา(ร่าง)ประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ…. แม้จะเป็นเกณฑ์สาธารณะที่ไม่ต้องประมูล แต่นี่เป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะต้องมีประกาศอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะเช่นกัน ทั้งนี้หากมติผ่านร่างเกณฑ์ฉบับนี้แล้ว จะต้องเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะต่อไป
นอกจากนี้ ในวันอังคาร จะมีการพิจารณา “รายงานผลการศึกษาการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล” และ(ร่าง)ประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ…. ด้วย