กสทช.สุภิญญา ร่วมเสวนา การใช้สื่อใหม่และสื่อสังคมกับธรรมาภิบาล
วันที่ 29 พฤษภาคม 2556 กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “การใช้สื่อใหม่และสื่อสังคม กับ ธรรมภิบาล” ณ ห้องบอลรูม เอ ชั้น 7 โรงแรมเวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท การจัดสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แลกเปลี่ยนต่อสถานการณ์ของการใช้สื่อใหม่ และสื่อสังคมอย่างตระหนักถึงผลประโยชน์ของสาธารณะชน รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้สาธารณะชนวงกว้าง บริโภคข่าวสารและสื่อใหม่อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ผู้จัดได้เชิญ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ร่วมเป็นวิทยากรในฐานะเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการยอมรับในแวดวงต่างๆ ที่มีการใช้สื่อใหม่และสื่อสังคมเป็นเครื่องมือในการรณรงค์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน การต่อต้านคอรัปชั่น สิทธิในการแสดงความคิดเห็น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน การเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม และความหลากหลายของเพศวิถี
กสทช.สุภิญญา กล่าวโดยสรุปว่า สังคมไทยมีจำนวนการใช้สื่อใหม่ในอัตราที่สูงมากขึ้น อินเทอร์เน็ตเปิดโลกให้คนได้ติดต่อกัน และแชร์ข้อมูลได้มากขึ้น เกิดการแสดงออกรวดเร็วมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ผู้คนที่คิดเหมือนกันมาคุยกัน อยากสะท้อนมุมมองของคนมากขึ้น สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ในด้านธรรมาภิบาลองค์กรภาครัฐ ควรให้ภาครัฐใช้สื่อใหม่มากขึ้นเพื่อสื่อสารข้อมูลกับประชาชน อย่างเช่น สำนักงาน กสทช. ตามกฎหมายต้องนำวาระและมติการประชุมกรรมการ ขึ้นเว็บไซต์ของสำนักงานภายใน 30 วัน และมีเสียงสะท้อนว่ามติและความเห็นในเรื่องต่างๆ ที่ลงผ่านเว็บเริ่มสั้นลง ซึ่งแตกต่างจากหลายองค์กรกำกับในหลายประเทศ รวมถึงกรรมการทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลผ่านทางเวบไซต์ขององค์กรได้ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย ทำให้ความเห็นบางอย่างไม่ถูกเผยแพร่ และการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต้องระวังขึ้น เพราะอาจจะถูกกล่าวว่าไม่มีมารยาทได้ ทั้งนี้ นโยบายของ กสท. ที่สำคัญมีออกทุกอาทิตย์ ถ้านักข่าวไม่ติดตามตลอดก็จะตามไม่ทัน ตอนนี้มีทำบล็อกตนเองขึ้นมา เพื่อย่อยข้อมูลที่สำคัญด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ รวมถึงมติที่สำคัญ และนโยบายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลความรู้มากขึ้น
นอกจากนี้ กสทช. ทำหน้าที่กำกับผู้รับใบอนุญาตอินเตอร์เน็ต ด้านบริการไม่ใช่เนื้อหา แต่มีหน้าที่กำกับเนื้อหากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พบว่า ในสื่อออนไลน์มีความพยายามกำกับกันเองของอุตสาหกรรม เช่น facebook twitter ผู้ดูแลระบบมีการแจ้งหากผู้ใช้ หากพบว่ากระทำผิด แม้คนส่วนมากเชื่อว่า คนนิรนามในโลกเน็ตจะปลอดภัย คนที่นิรนามร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีจริงๆ หากดูภาพรวมตลอด 5-10 ปีที่ผ่านมา คนไทยเริ่มแสดงออกมากขึ้นผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ที่มีความหลากหลายความเห็น มีการคานความคิด และมองเห็นความคิดอื่นๆ ในขณะที่สื่อวิทยุและโทรทัศน์เป็นสื่อเก่า เป็นการผลิตซ้ำๆ ทางความคิด น่ากลัวมากกว่าอินเทอร์เน็ต ผลพวงที่เกิดขึ้นไม่ใช่มีแค่ด้านการเมือง แต่เป็นเรื่องการฟังเรื่องที่มีเนื้อหาซ้ำ มีบางโฆษณาที่เข้าข่ายลอกหลวง แต่ในอินเทอร์เน็ตจะมีคนค้านออกมา ทำให้คนได้คิดคล้อยตามยากกว่า ซึ่งในด้านการควบคุมทางกฎหมายมีอยู่ อาจยังไม่ตรงจุด เส้นแบ่งความเหมาะสมอยู่ตรงไหน ไม่ใช่หน่วยงานไหนเป็นคนชี้ผิดชี้ถูก ทุกอย่างต้องเดินไปด้วยกัน ทั้งระดับรัฐ ระดับครอบครัว และภาคสังคมที่ต้องช่วยกันดูแล