วันที่ 25 มี.ค. 56 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุม ‘การปฏิรูปสื่อในทีวีดิจิตอลสาธารณะ:รูปแบบที่ควรจะเป็น’ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช. กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บอร์ดกสท.) มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 (เสียงข้างน้อย คือ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ และผศ.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์) ให้มีการยกระดับ 4 ช่อง ใน 12 ช่อง ของทีวีดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะได้ให้ผู้ประกอบการรายเดิม ได้แก่ ช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส 2 ช่อง มีสิทธิออกอากาศระบบดิจิตอลคู่ขนานกับอนาล๊อกจนกว่าจะสิ้นสุดสัมปทาน โดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งที่ส่วนตัวมองว่าจำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้นตามอำนาจที่มีของกสทช. เพื่อต่อรองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสื่อสารมวลชน แต่เมื่อมติออกมาเช่นนั้นจึงจำเป็นต้องยอมรับ
อย่างไรก็ตาม ตนจะพยายามเสนอเงื่อนไขการผลักดันทีวีสู่ระบบดิจิตอลภายใต้ความเป็นธรรมให้ดีที่สุด หากรับมือไม่ไหวจริง ๆ อาจจะไม่ขอร่วมตัดสินใจในกระบวนการดังกล่าวอีก แต่เมื่อยังไม่ถึงขั้นร้ายแรงขนาดนั้น จำเป็นต้องพยายามเจรจาต่อไป ทั้งนี้ประชาชนที่มีสิทธิในการเป็นเจ้าของคลื่นความถี่สามารถร้องเรียนได้เช่นกัน
ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การประชุมเกี่ยวกับทีวีดิจิตอลที่ผ่านมา จำได้ว่าได้มีข้อเสนอให้ชะลอการออกใบอนุญาตบริการสาธารณะ 12 ช่อง เพราะเรื่องดังกล่าวต้องอาศัยระยะเวลาในการอภิปราย แต่กสทช.ไม่เห็นความสำคัญ กลับเดินหน้าลงมติต่อไป จึงเรียกร้องให้กสทช.ต้องมีวัฒนธรรมการทำงานที่ตอบสนองต่อการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง ถ้ายังต้องการความมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเข้าไปเป็นองค์ประกอบในแนวคิด
“การปฏิรูปสื่อมิได้จำกัดเพียงเนื้อหารายการเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการปฏิรูปสัดส่วนการถือครองคลื่นขององค์กรต่าง ๆ ให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ มิฉะนั้นหากปราศจากเงื่อนไขแบบนี้คงเป็นเพียงการขยายอาณาจักรสื่อมากกว่า”
น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้ากสทช.ยังเดินหน้าอัพเกรด 4 ช่องต่อไป สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ กำลังทำในสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะนำหลักเกณฑ์ใดมายืนยันว่าสิ่งที่ดำเนินการนั้นควรทำ ส่วนกรณีการขอเพิ่มช่องของไทยพีบีเอสจาก 2 ช่อง เป็น 3 ช่อง เพื่อจัดทำช่องรายการเด็กและเยาวชนนั้น ตนไม่ได้คัดค้าน แต่กสทช.มีสิ่งยืนยันหรือไม่ว่าสัญญานั้นชอบด้วยกฎหมาย
ผอ.สถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ กล่าวต่อว่า เราใช้เวลาในการจัดตั้งกสทช.มา 10 กว่าปี แต่กสทช.กำลังใช้เวลาในการจัดสรรทีวีดิจิตอลไม่เกิน 3 เดือน นี่คือเหตุผลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งจะมีกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของทั้งประเทศ ที่สำคัญกรณีการลงมติดังกล่าวไม่มีตรงไหนบอกว่า การที่กสทช.จะกำหนดมาตรฐานเหล่านี้ห้ามนำข้อเสนอมาประกอบแนวคิดการตัดสินใจ
“กฎหมายเขียนไว้ชัดว่าอะไรก็ตามที่กระทบต่อความเป็นธรรมในการประกอบกิจการและกระทบกับสังคมโดยวงกว้างต้องรับฟังความคิดเห็น สิ่งเหล่านี้ทำไมกสทช.ไม่ฟังสังคมเลย หรือต้องให้เราทำอย่างไรเพื่อหยุดยั้งคะแนนเสียง 3 ต่อ 2 ที่สำคัญ 1 เสียงที่ชนะนั้นมิได้ชี้บอกความเป็นธรรมของกสทช. เพราะมันไม่ใช่การเลือกตั้งที่บอกว่าแม้แต่ 1 เสียงก็ชนะ”
ท้ายสุด น.ส.สุวรรณา กล่าวอีกว่า กสทช.เสี่ยงในการละเมิดกฎหมาย หากใช้ดุลยพินิจออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลแก่ทีวีที่ยังไม่เป็นบริการสาธารณะ โดยเฉพาะรู้อยู่แก่ใจว่าผังรายการช่อง 5 ยังไม่เป็นบริการสาธารณะ โดยให้มีการโฆษณาเชิงธุรกิจได้ ซึ่งกสทช.ไม่ได้นำเกณฑ์ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาเลย เพราะฉะนั้นแม้จะไม่ยกมือเห็นด้วยในมติ แต่ก็ถูกผูกมัดให้เสี่ยงผิดกฎหมายไปด้วย
อาจารย์สมัชชา นิลปัทม์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เสนอให้กสทช.ผลักดันเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์หรือคนกลุ่มน้อยนำเสนอในทีวีดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ จากเดิมที่มีแผนจะนำเสนอให้ทีวีดิจิตอล ประเภทบริการชุมชนเท่านั้น เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนด้วยกัน ยกตัวอย่างกรณีพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะมีการจัดทำรายการส่งเสริมการใช้ภาษามลายู เผยแพร่ผ่านสื่อทีวีดาวเทียม แต่ก็จำกัดเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นหากได้นำเรื่องระดับชุมชนสู่พื้นที่สาธารณะจะเกิดความเท่าเทียมมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมมีข้อสรุป ดังนี้ 1. กสท.ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการรายเดิม (ช่อง 5 ,ช่อง 11 และไทยพีบีเอส) ปรับตัวให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการสาธารณะ มิใช่ได้รับสิทธิในการออกอากาศในระบบดิจิตอลโดยอัตโนมัติ มิเช่นนั้นจะส่งผลต่อการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
2.กสท. ต้องสร้างเกณฑ์การตรวจสอบ ‘หน้าที่’ และ ‘ความจำเป็น’ ของผู้ประกอบการรายเดิม และหน่วยงานรัฐและองค์กรต่าง ๆ ที่ขอเข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงโครงสร้างความเป็นเจ้าของ 3.กสท.ต้องจัดทำคำนิยาม ‘บริการสาธารณะ’ และเนื้อหารายการ รวมทั้งพันธกิจสำคัญในแต่ละช่องรายการให้ชัดเจน และขอให้ทบทวนการจัดกลุ่มตามวัตถุประสงค์ของทั้ง 12 ช่อง 4.กสท.ต้องคำนึงถึงความเป็นเจ้าของสำหรับภาคประชาชนเพื่อใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในทุกพื้นที่ของการประกอบกิจการ
5.กสท.ต้องกำหนดให้แต่ละช่องเสนอโครงสร้างการบริหารที่สะท้อนความเป็นอิสระจากภาคการเมืองและภาคธุรกิจ และมีแผนการจัดสรร รวมถึงที่มาของงบประมาณที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ 6. กสท.ต้องมีเกณฑ์การคัดเลือกคุณสมบัติผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ช่องบริการสาธารณะ (Beauty Contest) ที่ชัดเจน และผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ เนื่องจากเป็นแนวนโยบายที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ และ 7.กสท.ควรชะลอการพิจารณาการจัดสรรคลื่นความถี่บริการสาธารณะ 12 ช่อง จนกว่าจะสำรวจและรับความเห็นจากทุกภาคส่วนและศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ในการใช้ดุลพินิจของกสท.
อย่างไรก็ตาม กสทช.ได้มีแผนผลักดันทีวีจากระบบอนาล๊อกสู่ดิจิตอล โดยมี.ค.-มิ.ย. 56 จะออกใบอนุญาตโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิตอล และใบอนุญาตบริการสาธารณะ 12 ช่องรายการ (4 ช่องใหญ่ คือ ช่อง 5,11 และไทยพีบีเอส 2 ช่อง) ช่วงส.ค. 56 ออกใบอนุญาตบริการทางธุรกิจ 24 ช่องรายการ โดยการประมูล (ช่อง 3,7และ 9) และช่วงธ.ค. 56 ออกใบอนุญาตบริการชุมชน 12 ช่องรายการ.