ฟรีทีวีดิจิทัล”สาธารณะ”(2) สังคมต้องมี”ส่วนร่วม”คัดเลือก
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ปีที่แล้วเป็นปีทองของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทค.)ที่เร่งเปิดประมูลคคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์สำหรับเครือข่ายโทรศัพท์ 3 G ที่กว่าจะผ่านด่านการตรวจสอบของสังคมไปได้เล่นเอาทุลักทุเล แต่สังคมยอมให้ผ่านไปได้ท่ามกลางความกังขาในกระบวนการประมูลแบบไม่แข่งกันเสนอราคา
ปี 2556 จะเป็นปีทองของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสท.) 5 คนที่มีอำนาจในการพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์ของประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 50 ปี ปรากฏการณ์แจกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์แบบไม่ใช้คลื่นความถี่ไปเมื่อปลายเดือนมกราคมกว่า 630 ใบอนุญาตถือเป็นเรื่องเล็กมากๆ เมื่อเทียบกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในการจัดสรรคลื่นความถี่โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลนับจากนี้เป็นต้นไป
กสท.จะเปิดให้ยื่นขอ”ฟรีทีวีดิจิทัล“กิจการบริการสาธารณะ”ด้วยวิธี Beauty Contest ในเดือนพ.ค.นี้จำนวน 12 ช่อง แบ่งเป็น 3 ประเภท
ประเภทที่หนึ่ง เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ สุขภาพ อนามัย กีฬา หรือส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
อ่านวัตถุประสงค์ของทีวีสาธารณะประเภทที่หนึ่ง แล้วลองนึกไปถึงวิธีคิดของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ออกอากาศอยู่แล้ว เช่น มหาดไทยแชนแนล , เกษตรแชนแนล , DTV(ธรรมกาย), ETV , มหาจุฬาแชนแนล ฯลฯว่าช่องทีวีดาวเทียมเหล่านี้จะนั่งนิ่งเฉยๆไม่สนใจยื่นขอดิจิทัลทีวีสาธารณะหรือไม่ ตอบได้ 3 คำ”ยื่น-แน่-นอน”
ประเภทที่สอง ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ
โทรทัศน์สาธารณะประเภทนี้ ตามกฎหมายยังบอกว่า”ให้หารายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการโดยไม่เน้นแสวงหากำไร” ซึ่งเป็นข้อความที่ผ่านการต่อในระหว่างแปรญัตติวันสุดท้ายที่เป็นวันหยุดวันอาทิตย์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกองทัพก่อนจะยอมให้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ.2551 ผ่านออกมาได้อย่างหวุดหวิดและยังกังขาว่าไม่ครบองค์ประชุม
คุณสมบัติแบบนี้น่าจะล็อกไว้ให้สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 โดยเฉพาะที่เริ่มทดลองออกอากาศระบบดิจิทัลไปแล้ว และยังน่าจะมีอีกหลายหน่วยงานด้านความมั่นคงส่งเข้า”ประกวด” เช่น กองทัพอากาศที่บ่นน้อยใจอิจฉากองทัพบกที่มีโทรทัศน์เป็นขุมทรัพย์ถึง 2 ช่อง , สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีทีวีผ่านดาวเทียม Police Channel อยู่แล้ว
ประเภทที่สาม ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน ฯลฯ
คุณสมบัติแบบนี้จะคิดเป็นอื่นไปไม่ได้น่าจะจัดเตรียมล็อกไว้ให้กับช่อง 11 และทีวีรัฐสภา ยากจะมีใครเถียงได้เพราะกฎหมายเขียนชัดๆไว้อย่างนั้น และที่สำคัญกฎหมายยังเปิดช่องให้หารายได้แบบช่อง 11 ไม่ผิดเพี้ยนเลย
กฎหมายระบุไว้เลยว่าห้ามมีรายได้จากโฆษณา เว้นแต่”เป็นการหารายได้โดยโฆษณาหรือเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับงานหรือกิจการของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ สมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ หรือการเสนอภาพลักษณ์ขององค์กร บริษัท และกิจการโดยมิได้มีการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม”
ลองกลับไปอ่านคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นขอที่ได้เขียนไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 11 ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสาธารณะ ต้องเป็น
1)กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรมหาชน หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐที่มิใช่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือมีความจำเป็นต้องดำเนินกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการรประกาศกำหนด
2) สมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ ซึ่งมีความเหมาะสมกับการประกอบกิจการสาธารณะตามลักษณะและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
3)สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการเรียนการสอนหรือการเผยแพร่ความรู้สู่สังคมตามลักษณะและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
การกำหนดคุณสมบัติแบบนี้จะทำให้ประเทศไทยที่กำลังจะมีสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีดิจิทัลประเภทสาธารณะเกิดขึ้นอีก 12 ช่อง แต่”หน้าตา”น่าจะไม่เหมือนสถานีโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอสที่ไม่ให้มีโฆษณาทุกกรณี แต่แกะออกมาจากพิมพ์เดียวกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ที่มีข้อห้ามหารายได้จากโฆษณาไม่ได้ แต่กฎกระทรวงเปิดช่องให้หาโฆษณาได้แบบคอร์ปอเรทที่เห็นกันอยู่ทุกคืนว่าสปอตโฆษณาแทบจะไม่ต่างจากฟรีทีวีภาคธุรกิจ
ผมหนักใจแทนกสท. 5 ท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกสท.ที่เชื่อว่ามีความมุ่งมั่นจะเปลี่ยนโทรทัศน์ประเทศไทย ด้วยกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากระบบ”ผูกขาด”ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ระบบอะนาล็อคที่เจ้าของสถานีเป็นภาครัฐแล้วให้สัมปทานเอกชนมานานกว่า 50 ปีให้เป็นระบบฟรีทีวีดิจิทัล ผ่านหนักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่สาธารณะเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม
เริ่มต้นเฟสแรก 48 ช่องดิจิทัลทีวีแบ่งเป็นภาคสาธารณะไม่น้อยกว่า 20 % คือ 12 ช่อง ภาคชุมชนไม่น้อยกว่า 20 % คือ 12 ช่อง แล้วเหลือเป็นภาคธุรกิจ 24 ช่อง
เรื่องหนักใจของดร.นทีคงไม่ใช่ภาคธุรกิจที่ใช้วิธีประมูลแบบทั่วไปใช้”ราคาประมูล”เป็นเกณฑ์ชี้ขาด เพียงแต่สังคมยังไม่ค่อยตระหนักว่าร่างหลักเกณฑ์ที่แย้มออกมาแล้ว ดูเหมือนกำลังจะนำไปการเอื้อให้”ทุนใหญ่” 5 รายใช้เงินทุ่มประมูลครอบครองช่องไปรายละ 3 ช่องที่จะนำไปสู่การ”ผูกขาด”ยิ่งกว่าเดิม หลังหมดอายุใบอนุญาต 15 ปี ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อที่ต้องการให้ลดการผูกขาด กระจายโอกาสให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม
ในขณะที่ฟรีทีวีดิจิทัลประเภทสาธารณะ 12 ช่องที่จะให้ยื่นคำขอในเดือนพ.ค. กลับยังขาดรายละเอียดหลักเกณฑ์การยื่นคำขอแบบ Beauty Contest ว่าจะต้องกำหนดให้ใส่เสื้อผ้าแต่งตัว,ทาหน้า,ทาปาก,ส่งประวัติย้อนหลัง,ผังรายการ ฯลฯ แบบไหน จึงจะ”สวยพอ”ให้กสท. 5 ท่านเลือกข้อเสนอให้ใบอนุญาตไปทำดิจิทัลทีวีสาธารณะ
เคยถามกสท.หลายท่านก็ยังงึมงำๆในลำคอขาดความชัดเจน แล้วสังคมจะมีความหวังกับ”ฟรีทีวีดิจิทัลสาธารณะ” 12 ช่องนี้ได้อย่างไร
ถ้ากระบวนการคัดเลือก”ฟรีทีวีดิจิทัลสาธารณะ”ไม่โปร่งใส สังคมไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณาใดๆ แล้วประเทศนี้ได้ทีวีสาธารณะแบบช่อง 11 อีกถึง 12 ช่องก็คงเป็นเรื่องน่าผิดหวังมากๆกับกระบวนการปฏิรูปสื่อที่เริ่มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ช่องทีวีดิจิทัลที่ใช้คลื่นสาธารณะจะกลายเป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรี,ข้าราชการ,กลุ่มศาสนา,เอ็นจีโอเชิงพาณิชย์ ฯลฯมากกว่าเป็น”ช่องทางเลือก”ในเชิงคุณภาพ
พ.อ.ดร.นทีและกรรมการกสท.อีก 4 ท่านอย่าแบกภาระไว้คนเดียวหรือคณะเดียวเลยครับ พวกท่านคงจะไม่สามารถต้านทานแรงกดดันจาก”ผู้มีอิทธิพลอำนาจ”ที่มีเป้าหมายชัด ต้องการฮุบช่องดิจิทัลทีวีสาธารณะไปเป็นสมบัติส่วนตัว
อำนาจของกสท.สามารถบรรเทาความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นจาก”ทีวีสาธารณะแบบจำแลง”ได้ ด้วยการเปิด”กลไก”ให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วม กำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมขององค์กรที่จะยื่นขอ ตั้งแต่ต้นทางและตรวจสอบวิธีการประมูลแบบ Beauty Contest เช่น ตัวแทนคณะนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆที่ผลิตบุคลากรป้อนช่องทีวี , ตัวแทนสายวิชาชีพจากองค์กรสมาคมวิชาชีพสื่อ , ภาคประชาสังคม ฯลฯ
ถ้าหากกสท.ไม่เปิดทางให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วม เป็น”เกราะ”ให้กสท.กำหนดเงื่อนไขกฎเกณฑ์ต่างๆที่มุ่งไปที่”เนื้อหา”ที่เป็น”คุณภาพและความสวยงาม”ของช่องสาธารณะจริงๆก่อนไปถึงขั้นตอนการยื่นขอในเดือนพ.ค.นี้
ช่องดิจิทัลทีวีสาธารณะ 12 ช่องจะกลายเป็น”ท่อสูบงบประมาณ”เป็นรูปแบบการทุจริตอย่างชอบธรรมที่สุดว่าจ้างให้พวกพ้องผลิตรายการที่ไม่มีคุณภาพ,สนับสนุนโฆษณา ฯลฯ ทีวีสาธารณะ 12 ช่องที่ไม่ต่างจากช่อง 11 จะเต็มไปด้วยรายการโฆษณาชวนเชื่อผลงานรัฐมนตรี(ที่นิยามตามกฎหมายไม่นับเป็นโฆษณา) แต่จะแตกต่างโดยสิ้นเชิงจาก”สื่อสาธารณะ”ในความหมายดั้งเดิม เพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นธงนำ,จะต้องเป็นอิสระจากอำนาจรัฐและกลไกตลาด,สร้างความเข้มแข็งให้แก่พลเมือง,เครื่องมือในการให้การศึกษาและพัฒนาความรู้ ฯลฯ
หากต่างชาติมาเห็นเรื่อง”ทีวีสาธารณะ”ของประเทศไทยที่จะมีมากถึง 12 ช่องใหม่ จำนวนช่องมากยิ่งกว่าในประเทศอังกฤษ,ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นแบบ”สื่อสาธารณะ”มานับร้อยปี ช่องสาธารณะแบบไทยๆหน้าตาอัปลักษณ์แบบนี้จะ”น่าอับอาย”มากกว่า”น่าชื่นชม”ความก้าวหน้าในการกำกับและดูแลกิจการบรอดแคสติ้งในประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
Tags : กสทช. • ทีวีดิจิทัล
การเมือง : ทัศนะวิจารณ์ ฟรีทีวีดิจิทัล”สาธารณะ”(2) สังคมต้องมี”ส่วนร่วม”คัดเลือก