นักวิชาการย้ำ’กสทช.’อ่อนแอ

http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=166545:2013-02-01-08-39-33&catid=123:2009-02-08-11-44-33&Itemid=491

คณะทำงานฯปฏิรูปสื่อ ระบุกสทช.ไม่กระตุ้นประชาชนรับสื่อดิจิตอลเพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบและรู้เท่าทันสื่อ เผยปัจจุบันมีสื่อ 2 ขั้วบริโภคนิยมขายเต็มรูปแบบและสื่อแนวคิดการเมืองที่น่ากลัวจะครอบงำสำนึกพลเมือง

ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นปฏิรูปสื่อ กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อว่า การมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและระบบสื่อ โดยเฉพาะสื่อกระจายเสียง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกี่ยวกับสื่อ ทั้งกระบวนการผลิต และการเผยแพร่ การรับ การเสพสื่อ และการใช้สื่อ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมการรับและใช้สื่อ
ขณะนี้ระบบการรับสื่อมีการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิตอล บทบาทของกสทช.ทำอย่างไรจึงจะกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการรับรู้ เรียนรู้ การมีส่วนร่วม รวมทั้งพัฒนาศักยภาพที่สามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ในสื่อให้เป็น และมีบทบาทในด้านการเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบ และการรู้เท่าทันสื่อ
“การกำกับดูแลของกสทช.ยังอ่อนแอ ตอนนี้สังคมไทยมีสื่อจำนวนมาก แต่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ไม่มีโอกาสในการเลือกและรับ ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายมากมาย ขณะที่สื่อก็ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วใหญ่ คือ สื่อบริโภคนิยมขายเต็มรูป และสื่อแนวคิดความเชื่อทางการเมือง ซึ่งผ่านมา 1 ปี กสทช.ไม่ทำอะไร อันนี้น่ากลัว มันคุกรุ่นตลอด  เดี๋ยวนี้กว้างขวางจนบางกลุ่มออกมาพูดว่า เรตติ้งของเขาเข้าถึงดีกว่าสีอื่นๆ ตรงนี้จะเป็นตัวไปสกัดกั้นสำนึกของพลเมือง เพราะยังไม่มีสำนึกของพลเมืองเลย แต่ถูกครอบ ถูกชักนำแล้ว”
อย่างไรก็ตามคณะทำงานฯมีข้อเสนอแนะว่าภาคประชาชน ผู้ประกอบการสื่อต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และประชาชนทุกกลุ่มต้องเข้าถึง และใช้ประโยชน์ในสื่อได้อย่างเท่าเทียม  สื่อต้องสร้างสังคมประชาธิปไตย ต้องมีกลไกปกป้อง คุ้มครองเสรีภาพ และความเป็นอิสระแห่งวิชาชีพของสื่อที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีกลไก ตัวชี้วัดในการประกันคุณภาพของผู้ประกอบการสื่อทั้งในเรื่องคุณภาพเนื้อหา การผลิต และบุคลากร ต้องมีจริยธรรม มีความรับผิดชอบ มีการกำกับดูแลกันเองอย่างมีประสิทธิภาพและสื่อต้องสร้างการเรียนรู้ของ ประชาชน สร้างสำนึกพลเมือง ตระหนักในสิทธิเสรีภาพ และสร้างสังคมประชาธิปไตย
“ด้านเทคโนโลยีจะต้องทำให้เกิดการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ อย่างเท่าเทียมกว้างขวาง โดยเฉพาะเทคโนโลยีในสื่อใหม่ ต้องไม่ควบคุม กำกับในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงและในการแสดงความคิดเห็น, การออกใบอนุญาตของกสทช.ในการกำกับดูแลเนื้อหาที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม, มีกลไกภาคสังคม ติดตาม ตรวจสอบทั้งเรื่องการปฏิรูปสื่อ การทำงานของสื่อโดยต้องมีสื่อทางเลือกให้มากขึ้น
ด้านนายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา คณะทำงานฯ กล่าวว่า ปัจจุบันความเป็นประชาธิปไตยของประเทศกำลังเกิดข้อถกเถียงกันมาก เนื่องจากเราไม่มีการศึกษาของภาคพลเมือง โดยเครื่องมือที่จะนำไปสู่การศึกษาก็คือ สื่อ จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปสื่อเพื่อให้สื่อได้ทำหน้าที่ในการให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบของประชาชนได้อย่างแท้จริง
“หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สื่อสาธารณะเกิดขึ้นจริงในแง่ของกรอบความคิด แต่กระบวนการยังไปไม่ถึง จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปสื่อ กระจายคลื่นความถี่ให้กับกลุ่มต่างๆ ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างเสมอภาค ผมทำงานกับกลุ่มแรงงาน ยังไม่เห็นแม้แต่สื่อเดียวที่จะสะท้อนปัญหาของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งไม่มีสื่อที่ให้พื้นที่สะท้อนประเด็นของคนงาน หรือคนกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการพื้นที่สะท้อนปัญหาของตนเอง ขณะที่กสทช.กำลังจะประมูลเรื่องทีวีดิจิตอล กำลังจะจัดสัดส่วนใหม่ แต่ถ้าไม่คิดคำนึงถึงสัดส่วนของคนที่มีอยู่จริงในสังคม และความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันในการเข้าถึง และสื่อเองไม่ตระหนักก็ไม่มีวันที่จะเกิดความเท่าเทียมได้”
ทั้งนี้คณะทำงานฯปฏิรูปสื่อ จะได้มีการหารือกรอบความคิดอีกครั้งเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนการเขียนร่างมติสมัชชาสุขภาพ และนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการจัดสมัชชาปฏิรูป (คจสป.)ในวันที่15 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อรับทราบและปรับปรุงแก้ไขนำขึ้นเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม -2 มิถุนายน2556 ต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,815 วันที่   3 – 6  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556