ทีวีดาวเทียมแข่งเดือดชิงขยายตลาดรับดิจิตอล

อ่านข่าว

Post by siraWednesday, 27 February 2013 12:50

ในขณะที่การปรับเปลี่ยนจากระบบแพร่ภาพอนาล็อกไปสู่ระบบแพร่ภาพแบบดิจิตอลภาคพื้นดินกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นทุกขณะผู้ประกอบการโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีหลายรายได้เริ่มขยับปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้

 
บริษัทไอพีเอ็มทีวีผู้ให้บริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในระบบเคยูแบนด์หรือที่รู้จักกันในชื่อจานส้มเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
 
นายมานพ โตการค้า ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพี เอ็มทีวี จำกัด กล่าวว่า ในปี 2556 นี้ จะมีความเปลี่ยนแปลงมาก เนื่องจากการแข่งขันจากผู้เล่นรายต่างๆและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเช่นการแพร่ภาพระบบดิจิตอลภาคพื้นดินหรือดิจิตอลทีวี
 
โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียม หรือก็คือการขยายฐานสมาชิกจากเดิม 3 ล้านจานในปี 2555 ให้เพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านจานในเวลา 1 ปี
 
“การได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เปรียบเสมือนเป็นใบเบิกทางให้บริษัทสามารถลงทุนในธุรกิจนี้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ทั้งด้านการผลิตรายการและอุปกรณ์ดาวเทียม” นายมานพ กล่าว ไอพีเอ็ม ชูรายการจับภูธร
 
ด้านแผนการตลาดของบริษัทนายมานพ อธิบายว่า บริษัทจะเน้นที่การพัฒนาคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมมากที่สุดพร้อมการทำกิจกรรมทางการตลาดซึ่งบริษัทได้กำหนดงบประมาณไว้ทั้งสิ้นกว่า1,000 ล้านบาทโดยแบ่งเป็นงบการตลาด 250 ล้านบาท
 
ในการพัฒนาคอนเทนต์นั้นจากการทำวิจัยของบริษัทพบว่าคนส่วนใหญ่ต้องการทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตนข้อมูลนี้จึงเป็นที่มาของการสร้างช่องข่าวท้องถิ่นประจำทุกจังหวัดทั่วประเทศ
 
“ข่าวท้องถิ่นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องการรู้ว่าหมู่บ้าน,ตำบล, อำเภอและจังหวัดของตนเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งจุดนี้จะเป็นกลยุทธ์หลักที่จะดึงผู้ชมในพื้นที่นอกเหนือจากกรุงเทพฯให้มาใช้แพลตฟอร์มของบริษัท และนำไปสู่การรับชมช่องรายการอื่นๆ ของบริษัทต่อไป”
 
นอกจากนี้ในส่วนของจำนวนช่องรายการจะมีการเพิ่มช่องขึ้นทั้งระบบธรรมดาและระบบความคมชัดสูง(HD)โดยได้วางเป้าเอาไว้ที่ ระบบธรรมดา 300 ช่อง ระบบความคมชัดสูง 40 ช่องภายในระหว่างปี 2556-2557 แบ่งเป็น 200 ช่องภายในปี 2556
 
จ่อลงสนามผลิตกล่องดิจิตอล
 
สำหรับการรับมือกับทีวีดิจิตอลนั้นบริษัทได้วางแผนเอาไว้ 2 ส่วน คือ การเข้าประมูลช่องรายการประเภทรายการเด็กและบันเทิงอีกส่วนคือ การเข้าสู่ตลาดผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณดิจิตอล
 
ในส่วนของการผลิตกล่องรับสัญญาณนั้น บริษัทจะผลิตกล่องแบบไฮบริดจ์ ที่สามารถใช้ได้ทั้งสัญญาณดาวเทียมเคยูแบนด์และสัญญาณดิจิตอลภาคพื้นดิน (DVB-T2) เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ชมพร้อมขยายฐานสมาชิกไปพร้อมกันคาดว่าจะวางจำหน่ายในราคาประมาณ2,500 บาท
 
“ด้านการแข่งขันในตลาดโทรทัศน์ดาวเทียมด้วยกันนั้นมองว่าในอนาคตระบบเคยูแบนด์จะไปได้ไกลกว่าด้วยข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยีและความทนทานของอุปกรณ์เห็นได้จากในต่างประเทศทั้งยุโรปและอเมริกาที่ระบบเคยูแบนด์แพร่หลาย กว่ามาก” นายมานพ กล่าวทิ้งท้าย
 
GMM Z ดูแค่ไหนจ่ายแค่นั้น
 
นอกจากไอพีเอ็มแล้วบริษัทแกรมมี่เจ้าของแพลตฟอร์มจีเอ็มเอ็ม แซท เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่ประกาศแผนรับมือการแข่งขันในตลาดทีวีดาวเทียมดิจิตอลในปีนี้ โดยมีทิศทางที่แตกต่างจาก ไอพีเอ็ม นายฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรมประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มงาน Platformบริษัท จี      เอ็มเอ็มแซท จำกัดกล่าวว่าในช่วงปี2555บริษัทมียอดจำหน่ายกล่อง GMM Z ประมาณ 1.5 ล้านกล่องโดยมีช่องรายการแบบเอ็กคลูซีฟที่ต้องรับชมผ่านกล่อง GMM Z ทั้งหมด 4 ช่อง คือ GMM Theater, NAT GEO Wild, GMM Sport Extra และ FAN’OKE โดยแผนการตลาดในปี2556บริษัทจะเน้นไปที่การสร้างแพลตฟอร์มฐานผู้ชม ด้วยการให้บริการ Pay TV แบบไม่ผูกมัด ในรูปแบบของบัตรเติมเงิน
 
“ในปีนี้เราพยายามสร้างรากฐานและบ้านที่มีความมั่นคงให้แก่ GMM Z ด้วยการขยายฐานผู้ชมให้ใหญ่ที่สุดทั้งเพื่อความมั่นคงและรองรับคอนเทนต์ที่บริษัทจะสร้างขึ้นในอนาคต”
 
ในส่วนของรายละเอียดของระบบPay TVดังกล่าวนายระฟ้า ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มงาน Content Management อธิบายว่า ระบบนี้อยู่ภายใต้แนวคิด “ไม่แพง ดูแค่ไหน จ่ายแค่นั้น บันเทิงฮิตกีฬาฮอตระดับโลก”ซึ่งผู้ชมสามารถเลือกชำระค่าชมเฉพาะช่องรายการที่ตนต้องการเท่านั้น
 
“สาเหตุที่เลือกระบบPayTVเป็นเพราะในต่างประเทศผู้ชมระบบ Pay TV มีสัดส่วน 80-90% ในขณะที่ปัจจุบันไทยมีผู้ชมกลุ่มนี้เพียง10%จึงสามารถเติบโตได้อีกประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการช่องรายการที่มีคุณภาพมากขึ้น”
 
แพ็กเกจเติมเงินจะแบ่งตามคอนเทนต์3ประเภทคือรายการบันเทิงรายการกีฬาและทั้ง2รายการรวมกันสำหรับราคากำหนดไว้ที่ช่องบันเทิง4 ช่อง ราคา 200 บาท ช่องกีฬา 4 ช่องราคา300บาทและกีฬารวมกับบันเทิงราคา400ทั้งหมดรับชมได้นาน30 วันนอกจากนี้ ยังมีแพคเกจ 3,600 บาทสำหรับรับชมนาน 365 วัน บัตรเติมเงินจะวางจำหน่ายในช่องทางห้างสรรพสินค้าร้านสะดวกซื้อและตัวแทนจำหน่ายกล่องดาวเทียมทั่วประเทศ
         
ลุยประมูลช่องดิจิตอล
 
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของ มานพ โตการค้าปี 2556 บริษัทเตรียมที่จะวางตลาดกล่องGMM Z ที่รองรับภาพระบบความคมชัดสูง(HD)เพื่อเติมช่องว่างในตลาดผู้ชมระดับพรีเมี่ยม ที่ปัจจุบันมีกล่องที่รองรับระบบ HD น้อยกว่า3% ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเครื่องรับโทรทัศน์
 
สำหรับการประมูลช่องรายการในระบบดิจิตอลทีวีนั้นบริษัทมีแผนที่จะเข้าประมูล 3 ช่อง คือ ช่องบันเทิง ข่าวและเด็ก โดยช่องบันเทิงคาดว่าจะนำคอนเทนต์ของช่อง GMM1 ที่มีอยู่มาใช้ ด้านเป้าหมายในปีนี้คาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายกล่องได้อีก 1.5 ล้านกล่อง รวมเป็นฐานผู้ชม 3 ล้านกล่อง ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นระบบ PayTV20%โดยประเมินว่าบริษัทจะมีรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายกล่องและ Pay TV อย่างละ 50%
 
“ในอนาคตตลาดโทรทัศน์ดาวเทียมจะมุ่งไปสู่การแข่งขันด้านคอนเทนต์และระบบPayTVส่วนแพลตฟอร์มหรือการจำหน่ายกล่องจะมีรายได้ลดลงเนื่องจากการแข่งขันด้านราคา”นายฟ้าใหม่ กล่าวทิ้งท้ายจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการแต่ละรายต่างมีทิศทางการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดสื่อโทรทัศน์ที่แตกต่างกันโดยไอพีเอ็มจะเน้นไปที่การสร้างแพลตฟอร์มในตลาดแมสเป็นหลักด้วยกลยุทธ์ช่องข่าวท้องถิ่นและกล่องรับสัญญาณแบบไฮบริดที่รับชมได้ทั้งระบบดาวเทียมและดิจิตอลทีวี
 
ส่วนจีเอ็มเอ็มแซทอาศัยความได้เปรียบของการเป็นเจ้าของคอนเทนต์บันเทิงหลายรูปแบบ สร้างระบบ Pay TV แบบprepaidเพื่อให้ผู้ชมเลือกจ่ายค่าบริการตามที่ตนรับชมจริง ตามคอนเซปต์”ดูแค่ไหน จ่ายแค่นั้น”
 
อย่างไรก็ตามคอนเทนต์ยังคงเป็นกุญแจสำคัญที่ผู้ชมใช้ตัดสินใจเลือกลงทุนซื้อกล่องรับสัญญาณหนึ่งๆมาวางในบ้านซึ่งผู้ให้บริการต้องรีบชิงพื้นที่ก่อนนี้ให้ได้ก่อนคู่แข่งและการเปิดตัวดิจิตอลทีวีเต็มรูปแบบ
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 ก.พ. – 1 มี.ค. 2556