กสทช.รับฟังความเห็นร่างจัดหมวดหมู่รายการโทรทัศน์
กสทช. จัดรับฟังความเห็นสาธารณะร่างหลักเกณฑ์กำหนดหมวดหมู่บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เพื่อให้เกิดความสะดวกและเป็นระบบต่อผู้รับชม ขณะที่ทางผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของช่องเสนอ กสทช. จำกัดนิยามหมวดหมู่ให้มีความชัดเจนมากกว่านี้
นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และเลขานุการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. เปิดเผยว่า ร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เป็นการจัดระเบียบช่องรายการต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อผู้รับชม และทำให้เจ้าของช่องรายการยึดเป็นแนวทางในการผลิตให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับที่ได้มีการแจ้งเอาไว้ ทั้งนี้การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรื่องนี้จะเสร็จสิ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนรวบรวมความคิดเห็นเสนอให้ กสทช. พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน
ขณะที่นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) มองว่า ร่างฯ ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการกำหนดนิยามหมวดหมู่ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของช่องเข้าใจตรงกัน ที่สำคัญคือควรคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้รับชมก่อนการกำหนดวางช่องรายการ และควรแจ้งให้ทราบล่วงหน้าหากมีการเปลี่ยนแปลงด้วย
สำหรับร่างหลักเกณฑ์ฉบับนี้ บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่หมายถึงการส่งข่าวสารหรือรายการไปยังเครื่องรับที่ไม่ต้องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งจะมีการจัดหมวดหมู่แบ่งออกเป็น 6 หมวดหมู่
ประกอบด้วย
- บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป
- บริการโทรทัศน์ประเภทข่าวทั่วไปหรือเหตุการณ์ปัจจุบัน
- บริการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส
- บริการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมอาชีพ
- บริการโทรทัศน์ประเภทกีฬา การท่องเที่ยว หรือส่งเสริมสุขภาพ และบริการโทรทัศน์ประเภทปกิณกะบันเทิงและอื่นๆ
ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงการจัดลำดับหมวดหมู่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนไม่น้อยกว่า 30 วัน
by Assanai
5 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 15:56 น.
View 117
Keyword: กสทช. , คลื่นความถี่ , การจัดสรรคลื่นความถี่ , ผู้ผลิตรายการ , ช่องรายการ , ร่างประกาศ กสทช. , การกำหนดหมวดหมู่, การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ , ไม่ใช้คลื่นความถี่ , จัดระเบียบช่องรายการต่ , ร่างหลักเกณฑ์ , บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ,บริการโทรทัศน์ประเภทข่าวทั่วไป , เหตุการณ์ปัจจุบัน , โทรทัศน์สำหรับเด็ก , โทรทัศน์เพื่อการศึกษา , โทรทัศน์ประเภทกีฬา ,ปกิณกะบันเทิงiframe>