บทเรียนจาก “เยอรมนี” การกำกับดูแลกิจการ “บรอดแคสต์”

ถัดจากการประมูลใบอนุญาตการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 Ghz อีกการบ้านเร่งด่วนชิ้นต่อไปของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คือการเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในปีหน้า ซึ่งไม่ใช่แค่การกำหนดรูปแบบการประมูล แต่รวมถึงการออกกฎเกณฑ์ในการการกำกับดูแลกิจการในภาพรวมด้วย

“สุภิญญา กลางณรงค์” กรรมการ กสทช. ฝั่งกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ระบุว่า ในปีหน้า กสทช. ต้องเตรียมการเปิดประมูลใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล นอกจากจะได้บทเรียนจากการประมูลใบอนุญาตการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 Ghz แล้ว การประมูลใบอนุญาตโทรทัศน์ระบบดิจิทัลยังมีความยากกว่าในหลายด้าน โดยต้องพิจารณาคุณค่าเนื้อหา, การทำให้เกิดดุลแข่งขันเสรี, รัฐไม่เสียประโยชน์จากการประมูล และต้องทำให้ผู้ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการเข้าใจการใช้คลื่นสำหรับเผยแพร่สู่สาธารณะ


เมื่อเร็ว ๆ นี้ “กสทช.” ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์ในประเทศเยอรมนีมา ให้ความรู้ทั้งต่อสาธารณะและทีมงานภายใน กสทช.

“ดร.วูล์ฟกัง ชูล์ซ” ผู้อำนวยการ สถาบันฮานส์ เบรโดว มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี พูดถึงภาพรวมโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติในประเทศเยอรมนี ว่าโมเดลของประเทศเรามีความน่าสนใจแต่ก็มีความยุ่งยากเช่นกัน โดยการกำกับแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Telco-Services ดูแลด้านกิจการโทรคมนาคม, Telemedia ดูแลด้านอินเทอร์เน็ต และ Broadcasting ดูแลด้านวิทยุโทรทัศน์ แต่ละรัฐในเยอรมนีจะมี กสทช. ของตนเองทำหน้าที่กำกับดูแลในรัฐนั้น ๆ

ซึ่งการกำกับดูแลแต่ละ เรื่องจะมีการกำหนดเป้าหมาย เช่น การเข้าถึงสื่อหรือการคุ้มครองผู้บริโภค จากนั้นจะมีการแต่งตั้งผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลเฉพาะในมิติของเป้าหมายนั้น ๆ โดยกิจการด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์ มีสองระบบ ได้แก่ ไพรเวตและพับบลิกบรอดแคสติ้งซึ่งจะมีการกำกับดูแลมากหน่อย ครอบคลุมตั้งแต่การโฆษณา, สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ, การคุ้มครองผู้เยาว์ และการคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน

เขาให้ข้อมูลเพิ่ม เติมว่าประเทศเยอรมนียังมีศาลรัฐธรรมนูญในระดับสหพันธรัฐที่มีความแข็งแกร่งมาก คอยทำหน้าที่จับตามองไม่ให้การกำกับดูแลหรือกฎที่กำหนดออกมาเอื้อประโยชน์ ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของสังคมมากเกินไป ส่วนหลักสำคัญของการกำกับดูและกิจการวิทยุโทรทัศน์ในเยอรมนีคือการนึกถึง เสรีภาพในการพูด ซึ่งครอบคลุมไปถึงเสรีภาพของการโฆษณาด้วย เพราะโฆษณาถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้หล่อเลี้ยงกิจการวิทยุโทรทัศน์ หากกำกับดูแลมากเกินไปอาจส่งผลกระทบกับรายได้ส่วนนี้

นอกจากนี้ ประเทศเยอรมนียังประสบความสำเร็จอย่างมากในการให้ผู้ประกอบการกำกับดูแลกัน เอง เกี่ยวกับเนื้อหาโฆษณาโดยไม่ต้องพึ่งกฎหมาย เว้นแต่บางเรื่องที่รัฐอาจต้องมากำกับดูแล เช่น การโฆษณายา เป็นต้น ทำให้การกำกับดูแลในเยอรมนีแตกต่างกันไปในแต่ละส่วน บางส่วนให้กำกับดูแลกันเอง บางส่วนใช้กฎหมาย หรือบางส่วนใช้วิธีกำกับดูแลร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน แบบสุดท้ายนี้ค่อนข้างซับซ้อนต้องเลือกตัวแทนในการกำกับดูแลจากฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงบทบาทแต่ละฝ่ายและวิธีการจัดการ

“ดร.วูล์ฟกัง” ให้ข้อมูลเสริมด้วยว่า ปัจจุบันการประกอบกิจการโทรทัศน์ในเยอรมนีเป็นระบบดิจิทัล คิดเป็นสัดส่วน 78% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด อีก 22% ยังเป็นระบบแอนะล็อก ซึ่งยังมีผู้คนรับชมเป็นจำนวนมาก โดยส่วนตัวมองว่า การเปลี่ยนผ่านจากระบบแอนะล็อกเป็นระบบดิจิทัลในเยอรมนีประสบความสำเร็จพอ สมควรแต่ก็ใช้เวลานานมากกว่า 6 ปี และไม่ใช่เรื่องง่าย

“ผศ.ดร.พิร งรอง รามสูต” นักวิชาการด้านสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ในประเทศไทย ว่า การกำกับดูแลมีเรื่องกฎหมาย เรื่องการใช้กลไกตลาด และการใช้เทคโนโลยีในการกำกับดูแล จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเห็นว่า กสทช. เน้นการออกประกาศเป็นหลัก ซึ่งเป็นการกำกับดูแลด้านกฎหมาย ส่วนการกำกับดูแลจากกลไกตลาดพอมีบ้างแต่ไม่ค่อยเห็นมากนัก และไม่เห็นการใช้เทคโนโลยีในการกำกับดูแลในประเทศไทย อาจเป็นเพราะต้องลงทุน และต้องประเมินก่อนว่าได้ผลหรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่า ค่านิยมความคิดมีความสำคัญมากต่อการกำกับดูแลในภาพรวม โดยความเข้มแข็งในกิจการวิทยุและโทรทัศน์จะมาจากการที่ทุกภาคส่วนตอบรับร่วม กัน

“ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว” นักวิชาการด้านสื่อ จากสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า กิจการวิทยุและโทรทัศน์ในไทยเป็นแบบอำนาจนิยมจากฝ่ายรัฐและมีธุรกิจเข้ามาปน ในสื่อทั้งหมด โดยการเรียกร้องแสดงความคิดเห็นสาธารณะเพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา จุดสำคัญต่อจากนี้เป็นการหาทางให้เกิดความสมดุลระหว่างการควบคุมจากภาครัฐ สุดขั้วกับการบริโภคนิยมสุดขั้ว การให้เอกชนดูแลกันเองควรมีกรอบเป็นแนวทางอีกชั้น

ฟาก “รศ.ดร.อุบลรัตน์ สิริยุวศักดิ์” นักวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กสทช. และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมีธรรมาภิบาล มีการเปิดเสรี ให้คนทั่วไปมีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาต และมีการบอกข้อมูลข่าวสารตรงไปตรงมา ตัวอย่างจากเยอรมนีแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์เข้มแข็งได้จาก การที่ทุกฝ่ายมีความรับผิดชอบร่วมกัน

“การควบคุมกันเองของธุรกิจ โฆษณาในไทยทำได้ระดับหนึ่ง สิ่งที่น่ากังวลคือปัญหาโฆษณาแฝงเพราะไม่มีการบังคับหรือกำกับดูแล ต้องหาทางทำให้เกิดความเป็นธรรมเพื่อให้คุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง”

ข้อมูลข่าวจาก PRACHACHAT ONLINE