นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์
ตำแหน่งปัจจุบัน
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง กสทช.
ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช.
การศึกษา
• MA. Communications Policy and Regulation (Merit), University of Westminster, London 2002
• ปริญญาโท วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาบัณฑิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2543
• ปริญญาตรี นิเทศศาสตรบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2537
สาขาสื่อสารมวลชน (วิทยุและโทรทัศน์)
• มัธยมปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท (ศิลป์-ฝรั่งเศส)
• มัธยมต้น โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี
ประวัติการทำงานที่สำคัญ
• ฝ่ายผลิตและเขียนบท สารคดีโทรทัศน์ ริมระเบียง ผลิตโดยบริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่น (พ.ศ. 2537-2538)
• ผู้ประสานงานฝ่ายสื่อและเผยแพร่ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) (พ.ศ.2538-2542)
• ผู้ประสานงานคณะทำงานติดตามมาตรา 40 (พ.ศ. 2542-2544)
• คณะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็น ร่าง พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (พ.ศ. 2543)
• รองเลขาธิการ และ เลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) (พ.ศ. 2544-2551)
• อาจารย์ประจำ ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
(พ.ศ. 2549-2551)
• กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ…
• คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน
ภายใต้คณะกรรมาธิการ สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา (พ.ศ. 2552-2554)
• อนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และคณะทำงานกิจการไม่ใช่คลื่นความความถี่ฯ
ภายใต้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) (พ.ศ. 2552–2554)
• ผู้ประสานงาน และ กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต (พ.ศ. 2551-2554)
• รองประธาน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
• คณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และคณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
• กรรมการบริหารหอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน)
• คณะกรรมการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.)
• คณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)
• อาจารย์พิเศษบรรยายเรื่องการปฏิรูปสื่อ สื่อใหม่กับการเมืองและสิทธิมนุษยชน
รางวัลที่ได้รับ
• รางวัลโทรทัศน์ทองคำ สารคดีสำหรับเยาวชนยอดเยี่ยมรายการ ริมระเบียง ผลิตโดยบริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่นในปี พ.ศ. 2538
• รางวัล สตรีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2549
• ได้รับการคัดเลือกเป็น Ashoka Fellow (USA) ในปี พ.ศ. 2547
• รางวัลการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Communication for Social Change Award)
จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยแห่งรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย
ปี พ.ศ. 2549
• ได้รับการคัดเลือกเป็น Eisenhower Fellow (USA) ในปี พ.ศ. 2540
• รางวัลการสื่อสารดีเด่นจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปี พ.ศ. 2550
• รางวัล 10 ผู้หญิงทรงอิทธิพลแห่งปี 2554 จากนิตยสารแพรว
• รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นปี 2555 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• ได้รับคัดเลือกเป็น หนึ่งใน 66 Young Leaders Shaping Thailand’s Future จากหนังสือพิมพื Bangkok Post ปี 2555
วิสัยทัศน์การปฏิรูปสื่อโดย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์
(** ขณะสมัครเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คุณสมบัติตามมาตรา 6 (4) จนได้รับแต่งตั้งเป็น กสทช. ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555)
นโยบาย
ผลักดันการปฏิรูปสื่อสารมวลชนด้านวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ รวมถึงกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวพันกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้แนวคิดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45, 46 และ 47 ให้มีความสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามที่ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ได้ระบุไว้โดยเฉพาะในมาตรา 13[1] ผู้สมัครจะเริ่มต้นด้วยการสำรวจการใช้คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในประเทศไทยทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยการจัดสรรตารางคลื่นความถี่ทั้งหมดในประเทศไทยที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้และแผนแม่บทว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเริ่มต้นในการวางนโยบายที่จะเป็นพื้นฐานในการทำงานของ กสทช.ต่อไป ทั้งนี้ตัวผู้สมัครจะให้น้ำหนักความสำคัญอันดับต้นในเรื่องของแนวทางการจัดทำแผนที่ระบุไว้ในมาตรา 49 ของ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ[2] เนื่องจากผู้สมัครเป็นหนึ่งในเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนสังคมที่ร่วมผลักดันแนวทางการปฏิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่เน้นการกระจายอำนาจการถือครองทรัพยากรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสาธารณะมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 โดยเฉพาะการผลักดันแนวคิดในกฎหมายที่ได้ระบุให้ภาคประชาชนได้มีสิทธิเข้าถึงและใช้คลื่นความถี่ฯ อย่างน้อยร้อยละ 20 จนได้มีการระบุไว้ใน กฎหมาย พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ตั้งแต่ฉบับปี พ.ศ. 2543 และ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2553
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่าทศวรรษ ผู้สมัครได้เฝ้าสังเกตการณ์ พัฒนาการ ความเติบโต ของภาคประชาชนในการสร้างปรากฏการณ์ของวิทยุชุมชน จนนำมาซึ่งความตื่นตัวของชุมชนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจการถือครองทรัพยากรคลื่นความถี่จากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตามผู้สมัครก็ได้สัมผัสถึงปัญหาสะสม ความไร้ระเบียบ ความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ รวมทั้งแง่มุมการต่อสู้ทางการเมืองในระยะที่สังคมไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองที่ลึกซึ้งและหนักหน่วง
ดังนั้นในฐานะที่ผู้สมัครได้มีส่วนร่วมในการสร้างปรากฏการณ์นี้ โดยมีส่วนต่อการสนับสนุนให้เกิดผลทั้งทางด้านบวกและลบไม่มากก็น้อย ดังนั้นถ้าได้มีโอกาสทำงานในฐานะองค์กรกำกับดูแลอิสระ ก็ปรารถนาที่จะได้เข้ามาร่วมสะสางปัญหาสะสมของวิทยุชุมชน เพื่อนำไปสู่ทางออกที่สร้างสรรค์ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย บนพื้นฐานของเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ฯ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการมีส่วนร่วมทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม บนพื้นฐานของการมีกติกาที่โปร่งใส เป็นธรรม มีเหตุผล มีฐานทางวิชาการ ที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับร่วมกันได้ เพื่อคลี่คลายสภาพปัญหาที่สะสมค้างคามานานหลายปีและเริ่มต้นนับหนึ่งในการกำกับดูแลวิทยุชุมชน วิทยุท้องถิ่น และ วิทยุสาธารณะ เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการเข้าถึงของกลุ่มคนที่หลากหลาย การธำรงเสรีภาพขั้นพื้นฐานกับความรับผิดชอบและการส่งเสริมจริยธรรมการกำกับดูแลกันเองของผู้ผลิตและผู้ใช้สื่อ รวมถึงมาตรฐานทางเทคนิค เพื่อคุณภาพของการกระจายเสียง และ สวัสดิภาพในด้านต่างที่อาจเกิดผลกระทบต่อการใช้คลื่นความถี่ฯเช่นผลกระทบต่อการรับฟังจากคลื่นทับซ้อนกัน หรือ การรบกวนคลื่นวิทยุการบิน เป็นต้น
โดยสรุป ผู้สมัครมีนโยบายที่จะปฏิรูปสื่อภายใต้แนวคิดของการสร้างดุลยภาพระหว่าง “สื่อสามเส้า” คือสื่อภาครัฐ (บริการสาธารณะ) สื่อภาคเอกชน (ในระดับใหญ่ กลาง เล็ก) และสื่อภาคประชาชน (ท้องถิ่น ชุมชน และ ประเด็นปัญหา หรือความสนใจร่วม) ทั้งนี้ต้องค่อยๆเริ่มต้นจากการปรับวัฒนธรรมโครงสร้างของสื่อกระจายเสียงและสื่อโทรทัศน์ที่อยู่ในระบบที่เรียกว่า “อำนาจนิยมอุปถัมภ์ ทุนนิยมอภิสิทธิ์” มายาวนาน ดังนั้นในทิศทางการปฏิรูปสื่อดังกล่าวต้องอาศัยความมุ่งมั่นของ กสทช. ที่ต้องสร้างเจตจำนงทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองรวมถึงหน่วยงานรัฐที่มีส่วนได้เสีย รวมไปถึงภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สร้างการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต พื้นฐานของกติกาที่โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ จุดเริ่มต้น หกปีแรกจะเป็นช่วงเวลาสำคัญของการทบทวนปัญหาในอดีต รับฟังข้อจำกัดในปัจจุบันและแสวงหาแนวทางที่ดีสู่อนาคต เพื่อให้การปฏิรูปสื่อได้เริ่มต้นก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างช้าๆแต่ทว่ามั่นคงและสอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
นโยบายสำคัญที่ผู้สมัครมีความตั้งใจอย่างมากที่จะทำก็คือการแสวงหาดุลยภาพในเรื่องของการกำกับดูแลเนื้อหาผ่านสื่อมวลชนทั้งด้านวิทยุ โทรทัศน์ รวมไปถึงสื่อใหม่เช่นอินเทอร์เน็ต ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศด้านโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นจากการหลอมรวมเทคโนโลยีด้านสื่อที่เกิดจากการปฏิวัติดิจิทัลในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งความความท้าทายในการกำกับดูแลจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ระหว่าง เสรีภาพ กับ ความมั่นคงของรัฐ หรือเสรีภาพ กับความรับผิดชอบ หรือศีลธรรมอันดี โดยเฉพาะภายใต้การปะทะทางความคิดที่ต่อสู้กันอย่างหนักหน่วงท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยในปัจจุบัน ผู้สมัครคิดว่า แนวทางสุดขั้วทางใดทางหนึ่ง อาทิ การใช้กฎหมายควบคุมเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกโดยรัฐ หรือ การปล่อยปละโดยไม่มีมาตรฐานที่เป็นธรรม ย่อมนำไปสู่ปัญหามากกว่าการสร้างสรรค์ บทบาท กสทช. คือการต้องแสวงหาทางออกเพื่อตอบโจทย์นี้ของสังคมไทยและการกำกับดูแลสื่อให้ได้ คือการสร้างดุลยภาพระหว่างเสรีภาพการสื่อสาร ผู้สมัครจะผสานแนวคิดต่างๆบนพื้นฐานของการฟังความคิดเห็นของคนทุกกลุ่ม และ โดยศึกษากติกาว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนสากลและแนวคิดว่าความรับผิดชอบของรัฐ ทั้งนี้จะอิงบทเรียนจากนานาชาติและเงื่อนไขต่างๆของสังคมไทยที่เป็นกรอบในการกำหนดกติกาที่เหมาะสม โดยเริ่มต้นจากการเปิดพื้นที่ระดมความคิด การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางอันจะนำไปสู่การได้มาซึ่งกติกาที่ธำรงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองไปพร้อมกับการกระตุ้นความรับผิดชอบ การเคารพซึ่งกัน ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันในการรับหรือใช้สื่อ และ การส่งเสริมความอดทนอดกลั้นของคนในสังคมไทย
นโยบายสำคัญอีกประการหนึ่งคือการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของพลเมืองในฐานะผู้บริโภคสื่อและกิจการสื่อสารต่างๆ โดยเริ่มต้นจากการสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของเครือข่ายผู้บริโภค การส่งเสริมการตรวจสอบการทำงานของสื่อ และ การสร้างกลไกร้องเรียนของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ควรดูบทเรียนจากการทำงานของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง และ การทำงานของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ที่สนับสนุน โดย กทช. ว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร แล้วนำมาปรับใช้ในการส่งเสริมกลไกคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อให้เกิดการคานดุลระหว่างอิทธิพลของสื่อขนาดใหญ่ให้ฟังเสียงของผู้ชม ผู้ดู และ ผู้บริโภคมากขึ้น
เป้าหมาย
- สามารถสร้างความเชื่อมั่นของสังคมในเรื่องการปฏิรูปสื่อตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้อีกครั้งด้วยความมุ่งมันตั้งใจ วิสัยทัศน์ชัดเจน เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้
- สามารถสร้างแผนแม่บทที่เป็นรากฐานสำคัญในการจัดสรรคลื่นความถี่ฯไปสู่ดุลยภาพใหม่ในการสร้าง “สื่อสามเส้า” คือสื่อสาธารณะ ธุรกิจ ภาคประชาชน รวมทั้งการส่งเสริมสิทธิของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ
- สามารถจัดสรรคลื่นใหม่ เพื่อให้เกิดการประโยชน์สูงสุดทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการปรับเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต โดยเริ่มต้นจากการประมูลคลื่นวิทยุที่อยู่ภายใต้การครอบครองของหน่วยงานภาครัฐโดยการสร้างกติกาที่เหมาะสม
- สามารถเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อแสวงหากติกาเรื่องดุลยภาพระหว่างเสรีภาพกับความรับผิดชอบ ความมั่นคงของรัฐและศีลธรรมอันดี เพื่อกำหนดกติกาที่มีความเป็นธรรม รวมถึงการใช้กติกาอย่างเปิดเผยโปร่งใส รอบคอบรัดกุม ชัดเจน และ ตรวจสอบได้
- สามารถส่งเสริมกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน กลไกการคุ้มครองผู้บริโภค กลไกการตรวจสอบเฝ้าระวังการทำหน้าที่ของสื่อ และ กลไกรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- สามารถส่งเสริมกิจกรรมและจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมสิทธิการสื่อสารของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนชายขอบผู้ยากไร้ อาทิผู้ใช้แรงงาน ชาวไร่ชาวนา คนพิการทุกประเภท กลุ่มชาติพันธ์ และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางความคิด สังคม วัฒนธรรมได้มีโอกาสเข้าถึงและใช้สื่อเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนเอง รวมไปถึงชุมชนและสังคม
- สามารถร่วมทำงานกับ กสทช. ผู้ดูแลกิจการด้านโทรคมนาคมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ และ การใช้โทรคมนาคม อาทิ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในระบบไร้สายของประชาชน หรือการใช้วิทยุสมัครเล่นเพื่อส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมและการบรรเทาสาธารณะภัย
- สามารถสร้างบรรทัดฐานในการทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีธรรมาภิบาล และแก้ปัญหาลดความเสี่ยงในการบริหารงานที่จะนำไปสู่การทุจริต โดยยึดหลักการว่า กสทช. บริหารงบประมาณซึ่งมาจากภาษีของพลเมืองและผู้บริโภค ถือเป็นเงินสาธารณะที่ต้องบริหารอย่างโปร่งใส และ คุ้มค่า
แนวทาง
- เน้นการทำงานอย่างเปิดเผยโปร่งใสให้มากที่สุดโดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนและประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ กสทช.
- เน้นการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน ในการกำหนดกติกาต่างๆที่ยอมรับร่วมกัน บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นในการพูดคุย เจรจา ต่อรอง บนฐานของความเสมอภาค มีเหตุมีผล
- เน้นการใช้แนวทางด้านรัฐศาสตร์และกระบวนการทางสังคมเดินนำแนวทางด้านนิติศาสตร์เพื่อคลี่คลายข้อขัดแย้ง และ สร้างการกำกับดูแลที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ
- รักษาเกียรติภูมิในการเป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล ด้วยการมีข้อปฏิบัติ ความระมัดระวังและกติกาที่เคร่งครัดสำหรับตนเอง เช่น การรักษาระยะห่างกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทางธุรกิจจากกติกากำกับดูแล เป็นต้น
- ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นผู้หญิง และทำงานในภาคประชาสังคมหรือเป็นนักกิจกรรม (ที่เรียกว่าเอ็นจีโอ) มาก่อน ก็จะพยายามสะท้อนมุมมองความคิดที่แตกต่าง รวมทั้งเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มคนที่ต่างวัย ต่างเพศสภาพ หรือต่างที่ยืนทางความคิด ประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การแสวงหาแนวทางที่มีดุลยภาพยอมรับร่วมได้ ทั้งนี้จะยังคงยืนยันจุดยืนที่หนักแน่นชัดเจน แต่บนท่าทีที่อ่อนน้อม รับฟังและประนีประนอมอยู่บนหลักเหตุและผล เพื่อเชื่อมสิ่งที่เป็นอุดมคติกับความเป็นจริงในสังคมในทางปฏิบัติ
หนังสือ
- “อิสรภาพทางความคิดสุภิญญา กลางณรงค์” รวมบทความจากคอลัมน์ร้อยแปดวิถีทัศน์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ พ.ศ.2548
2. “พูดความจริง” สำนักพิมพ์โอเพ่น พ.ศ.2550
[1] “คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันทางโทรคมนาคมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม”
[2] “ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการให้ กสทช. จัดให้มีแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการระยะห้าปี โดยในแผนดังกล่าวต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และอย่างน้อยต้องมีแนวทางการพัฒนาและการส่งเสริมแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการ แนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตให้ประกอบกิจการ โดยในส่วนกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ต้องจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจในการประกอบกิจการบริการชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคลื่นความถี่ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการ…”